POLITICS

แจง ศาลฎีกา ใช้เวลาพิพากษาคดียิ่งลักษณ์เพียง 1 ปี 5 เดือนเศษ รวมไต่สวน 7 เดือน ไม่เกินกรอบเวลา

วันนี้ (29 ธ.ค. 66) นายสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวว่า ตามที่สื่อโทรทัศน์บางแห่งมีการนำเสนอข่าวและให้ความเห็นไปในทำนองที่ทำให้สาธารณชนอาจเข้าใจไปว่าการดำเนินคดีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ใช้เวลาเนิ่นนาน ทำให้มีผลเหมือน “การอำนวยความยุติธรรมที่ล่าช้าเป็นการปฏิเสธความยุติธรรม” ซึ่งได้ใช้คำในภาษาอังกฤษว่า “Justice delayed is justice denied.” อันอาจทำให้สาธารณชนเกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนถึงการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ความจริงแล้วใช้เวลาพิจารณาพิพากษาคดีนี้เพียง 1 ปี 5 เดือนเศษเท่านั้น ไม่ได้ใช้เวลานานตามที่เป็นข่าว

คดีดังกล่าวเป็นคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งโจทก์ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2565 ศาลฯ จึงได้รับไว้เป็นคดีหมายเลขดำที่ อม. 11/2565 และได้มีการดำเนินกระบวนพิจารณาไปตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยนัดพิจารณาครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 นัดตรวจพยานหลักฐานเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 และนัดไต่สวนเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 เดิมคดีนี้นัดฟังคำพิพากษาเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 แต่นายสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ ซึ่งเป็นองค์คณะอยู่ด้วยคนหนึ่งได้ถึงแก่กรรม ทำให้ต้องแต่งตั้งองค์คณะผู้พิพากษาใหม่มาทดแทน และได้มีการนัดฟังคำพิพากษาใหม่ และได้อ่านคำพิพากษาไปเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2566 การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้จึงเป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่ระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยการกำหนดระยะเวลาการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลยุติธรรม พ.ศ. 2566 กำหนดไว้แล้วว่าคดีที่ต้องทำการไต่สวนหรือสืบพยานในศาลฎีกา ศาลจะพิจารณาพิพากษาคดีให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับแต่วันเริ่มไต่สวนหรือสืบพยาน แต่ศาลฯ พิพากษาคดีนี้เพียงภายใน 7 เดือนนับแต่วันเริ่มไต่สวน

ดังนั้น จึงขอชี้แจงให้สื่อมวลชนได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อจะได้นำเสนอข่าวให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาพิพากษาคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ได้เร่งรัดการพิจารณาพิพากษาให้คู่ความทุกฝ่ายได้รับความเป็นธรรมภายในระยะเวลาอันรวดเร็วแล้ว
 

Related Posts

Send this to a friend