POLITICS

‘ชัยธวัช’ ท้าเปิดเอกสารแพทย์อาการป่วย ‘ทักษิณ’ ตอบทุกข้อสงสัยสังคม

‘ชัยธวัช’ ท้า ‘ราชทัณฑ์-รมต.-ครอบครัว’ เปิดเอกสารทางการแพทย์อาการป่วย ‘ทักษิณ’ ตอบทุกข้อสงสัยสังคม ลั่น “อัยการไม่ใช่คนวินิจฉัยโรค” และการประกันตัวเป็นสิทธิพื้นฐานของทุกคน ไม่ใช่เฉพาะคนป่วยหรือสูงอายุ โดยเฉพาะคดี 112

วันนี้ (20 ก.พ. 67) ที่อาคารรัฐสภา นายชัยธวัช ตุลาธน สส.แบบบัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีอธิบดีอัยการเผยว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับการพักโทษและปล่อยตัวมีอาการป่วยขั้นวิกฤต

นายชัยธวัช ระบุว่า เข้าใจว่าเรื่องอาการป่วยไม่ใช่เหตุผลสำคัญในการได้รับประกันตัว เพราะโดยพื้นฐานพรรคก้าวไกล สนับสนุนให้คนได้รับสิทธิประกันตัวตามสิทธิพื้นฐาน และควรสันนิษฐานไว้ก่อนว่าทุกคนเป็นผู้บริสุทธิ์ หากใครไม่ได้รับประกันตัวต้องเป็นกรณียกเว้นจริงๆ

“เรื่องของคุณทักษิณ ประเด็นก็คือ ทุกคนควรได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันทางกฎหมายมากกว่า การได้รับประกันตัวควรเป็นเรื่องทั่วไปสำหรับทุกคน แม้แต่ผู้ถูกกล่าวหาในคดีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112”

นายชัยธวัช กล่าวต่อไปว่า อัยการคงไม่ใช่ผู้มีอำนาจมาวินิจฉัยอาการป่วย เรื่องนี้ต้องว่ากันตามเอกสารทางการแพทย์ ซึ่งจะไปเกี่ยวข้องกับเหตุผลที่ นายทักษิณ ได้รับการพิจารณาพักโทษเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งมีเงื่อนไขกฎเกณฑ์อยู่ในประกาศและระเบียบของกระทรวงยุติธรรม ว่าด้วยการพักโทษ

“ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า นายทักษิณ มีเหตุผลในทางการแพทย์ ถือว่าเป็นผู้สูงอายุเกิน 70 ปี ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ตามประกาศของกระทรวงว่าด้วยการพักโทษหรือไม่ นี่คือประเด็นสำคัญ ซึ่งผู้ให้คำตอบเรื่องนี้ได้ ไม่ใช่อัยการ แต่เป็นแพทย์ กรมราชทัณฑ์ และรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้อนุมัติในกรณีที่ผู้ต้องขังเด็ดขาดได้รับการพักโทษเป็นกรณีพิเศษ ดังนั้นทางที่ดีที่สุดคนที่เกี่ยวข้องควรมาเปิดเผยข้อมูลให้ชัดเจนว่าคุณทักษิณได้รับสิทธินี้โดยชอบตามกฎหมายหรือไม่” นายชัยธวัช กล่าว

ส่วนหากไม่มีการเปิดเผยข้อมูล นายชัยธวัช ระบุว่า หากรัฐบาล หรือกรมราชทัณฑ์ รัฐมนตรี หรือแม้กระทั่งครอบครัวของนายทักษิณ มั่นใจว่าเรื่องนี้ทำถูกต้องแล้ว ซึ่งนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ก็บอกว่าทำถูกต้องตามกฎหมาย เรื่องการเปิดเผยเอกสารทางการแพทย์ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ราชทัณฑ์เสนอให้รัฐมนตรีอนุมัติในการพักโทษเป็นกรณีพิเศษ เรื่องนี้ก็จบ

นายชัยธวัช ยังกล่าวถึงกรณีเมื่อวานที่ นายภูมิธรรม เวชชยชัย รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ก็อ้างว่ามีอาการอักเสบที่หัวไหล่ ถ้าพูดออกมาได้ผ่านทางเอกสารทางการแพทย์ก็จบแล้ว สังคมจะได้เลิกสงสัย เลิกตั้งตำถาม เพราะกรณีนี้เป็นการตอกย้ำความรู้สึกของประชาชนจำนวนมากที่รู้สึกว่าประเทศไทยมีปัญหาเรื่องกระบวนการยุติธรรมที่ปฏิบัติต่อประชาชนทุกคนไม่เท่าเทียมกัน มีการเลือกปฏิบัติ มีบางคนใช้กระบวนการนิติรัฐแบบอภิสิทธิ์ชน ซึ่งเป็นสาเหตุของความขัดแย้ง

“ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ประชาชนจำนวนมากออกมาต่อสู้เพราะต้องการให้สังคมไทยเป็นประชาธิปไตยแท้จริง ไม่มีกระบวนการสองมาตรฐาน นี่เป็นเป้าหมายร่วมกัน วิธีการใดๆ ที่คิดว่าจะเป็นการคืนความยุติธรรมให้กับ นายทักษิณ ให้ได้รับความชอบธรรม ไม่ควรจะเกิดขึ้นด้วยวิธีการที่ไปตอกย้ำ หรือผลิตซ้ำกระบวนการยุติธรรมที่ 2 มาตรฐานอีก” นายชัยธวัช กล่าว

สำหรับการที่รัฐบาลจะเชิญ นายทักษิณ มาเป็นที่ปรึกษา หรือให้คำแนะนำทางการเมือง เหมาะสมหรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของรัฐบาล พร้อมมองว่า นายทักษิณ มีสิทธิ์ที่จะให้ความคิดเห็นในประเด็นสาธารณะเหมือนประชาชนทั่วไป ส่วนจะตั้งเป็นที่ปรึกษาหรือไม่ก็แล้วแต่วิจารณญาณของนายกรัฐมนตรี

นายชัยธวัช ยังเผยว่า ประเด็นนี้เพียงพอจะนำไปอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง ส่วนการกลับมาของ นายทักษิณ จะส่งผลกระทบต่อการเมืองไทยหรือไม่ ปฏิเสธไม่ได้ว่า นายทักษิณ มีความสำคัญกับพรรคแกนนำรัฐบาลในปัจจุบัน ฝ่ายค้านคิดว่า เฉพาะหน้านอกจากการติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริงว่ามีการใช้ดุลยพินิจ ไปตามกฎหมายหรือไม่ ก็คงต้องผลักดันว่าความยุติธรรมไม่ควรมีใครได้รับแค่คนใดคนหนึ่ง แต่ควรมีการอำนวยความยุติธรรม หรือคืนความยุติธรรมให้กับคนทุกคน ทุกฝ่ายที่ต้องคดีความอันเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมือง

ส่วนที่มีการตั้งคำถามว่าพรรคก้าวไกลยังตรวจสอบเรื่องนี้ไม่เพียงพอ เมื่อเทียบกับเรื่องอื่นๆ ที่พรรคพยายามผลักดัน นายชัยธวัช ตอบกลับทันทีว่า “เดี๋ยวรอดู ผมบอกแล้วว่าเรื่องนี้ยังไงก็ต้องทำ ในฐานะที่เป็นฝ่ายตรวจสอบ พร้อมกับการผลักดันการนิรโทษกรรมคดีการเมือง เพื่อคลี่คลายความขัดแย้ง”

ส่วนจะช้าไปหรือไม่ นายชัยธวัช ย้ำว่า เดี๋ยวรอดู อีกทั้งในที่ประชุมสภาฯ สัปดาห์นี้มีหลายเรื่องมาก แต่ก็มีการพูดถึงกรณี นายทักษิณ ทุกวันอยู่แล้ว

นายชัยธวัช ยังยืนยันว่า กรณีของนายทักษิณ ถือว่ามีความแตกต่างกันอย่างมาก กับกรณีของนักโทษทางการเมืองรายอื่น เช่น นายอานนท์ นำภา, อำพล ตั้งนพกุล หรือ ‘อากง’ เพราะถือเป็นการตอกย้ำความ 2 มาตรฐานของกระบวนการยุติธรรม

ส่วนในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรากฎหมายนิรโทษกรรม จะนำเรื่องของนายทักษิณไปพิจารณาด้วยหรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า ยังไม่แน่ใจ เพราะเรื่องนายทักษิณ หากจุดมุ่งหมายของการนิรโทษกรรมคือการครอบคลุมคดีความ ที่เกี่ยวข้องหรือมีเหตุจูงใจกับการแสดงออกทางการเมือง ดังนั้น ถ้าคดีของนายทักษิณมีเรื่องการเมืองมาเกี่ยวข้อง ก็ควรรับไว้พิจารณา ทั้งนี้ ไม่ได้ตั้งต้นจากตัวบุคคล ส่วนคดีไหนที่ไม่เกี่ยวข้อง เช่น คดีทุจริต ก็ไม่ได้อยู่ในขอบข่ายอยู่แล้ว

Related Posts

Send this to a friend