POLITICS

นายกฯ ผลักดันไทยเป็นฮับโลจิสติกส์ ทางน้ำของภูมิภาค

โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ ผลักดันไทยเป็นฮับโลจิสติกส์ทางน้ำของภูมิภาค สั่งการเร่งศึกษา ความเป็นไปได้ – ความคุ้มค่าในการตั้งบริษัท สายการเดินเรือแห่งชาติ เตรียมเปิดให้บริการเดินเรือ Domestic คาดสามารถเริ่ม ก.ย. 65 

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยความคืบหน้า การตั้งบริษัท สายการเดินเรือแห่งชาติ เชื่อมอ่าวไทย-อันดามัน ซึ่ง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งเร่งศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ตลอดจนความคุ้มค่าในการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ สอดคล้องการเชื่อมโยงตะวันออกสู่ภาคใต้ ระหว่างอ่าวไทยกับอันดามัน (Land Bridge) ตามนโยบายพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ต้องการเพิ่มขีดความสามารถขนส่ง ลดการพึ่งพากองเรือต่างชาติ และส่งเสริมให้ไทยมีระบบโลจิสติกส์ที่สมบูรณ์ ครบวงจรมากยิ่งขึ้น 

โดยคณะทำงานเตรียมการจัดตั้งบริษัท สายการเดินเรือแห่งชาติ จำกัด มีนายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน อยู่ในระหว่างขั้นตอนการเตรียมลงนามจ้างศึกษา ซึ่งคาดว่าการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) จะลงนามในสัญญาจ้างศึกษาในเดือน ม.ค.2565 และจะศึกษาแล้วเสร็จในเดือน พ.ค.2565 ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเดือน ก.ย. 2565 และเริ่มให้บริการเดินเรือ Domestic ทั้งนี้เป็นไปตามแผนการดำเนินงาน (Action Plan) เพื่อเตรียมการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ โดยให้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ล่าสุด คณะทำงานฯ ได้ลงสำรวจศักยภาพและความเป็นไปได้ในการเดินเรือในอ่าวไทย (Domestic Marine Line) และประชุมเชิงปฏิบัติการกับผู้ที่เกี่ยวข้องใน 5 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฏร์ธานี นครศรีธรรมราช และสงขลา เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2564 ที่ผ่านมา และยังได้ลงพื้นที่ดูการขนส่งสินค้าในอ่าวไทยที่ท่าเรือจุกเสม็ด ชลบุรี พร้อมมอบแนวทาง 2 เส้นทาง ได้แก่ 

1. ในประเทศ (เน้นร่วมมือกับเอกชน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานท่าเทียบเรือให้เป็นระบบ Automation และการอนุญาตทางระเบียบกฎหมายต่างๆ) 

2. ระหว่างประเทศ (ขนส่งทางฝั่งตะวันออก และตะวันตก) โดยให้กรมเจ้าท่า และ กทท. ศึกษาถึงการสนับสนุนเอกชนในด้านสิทธิประโยชน์ เพื่อจูงใจผู้ประกอบการเดินเรือชักธงไทยมากขึ้น

“นายกรัฐมนตรีมีนโยบายเพิ่มขีดความสามารถขนส่งทางน้ำของไทย ลดการพึ่งพาเรือต่างชาติ ลดต้นทุนการขนส่ง ลดการขาดดุลค่าระวางและเสริมศักยภาพการแข่งขันให้กับเรือไทย ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมการพัฒนากองเรือไทยและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อู่ซ่อมเรือ อู่ต่อเรือ เป็นต้น และยังพัฒนาบุคลากรด้านพาณิชย์นาวีให้มีคุณภาพมากขึ้น ขยายขีดความสามารถในการให้บริการขนส่งทางทะเลเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากเดิมที่ให้บริการท่าเทียบเรือ เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) ทางโลจิสติกส์ทางน้ำ ตลอดจนสนับสนุนการขนส่งสินค้านำเข้าส่งออกทางทะเลไทยให้มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพมากขึ้น” นายธนกร กล่าว

Related Posts

Send this to a friend