POLITICS

’ธรรมนัส‘ ร่ายยาวปมแก้ปัญหา หมูเถื่อน ยางพารา ประมง

’ธรรมนัส‘ ร่ายยาวปมแก้ปัญหา หมูเถื่อน ยางพารา ประมง ชี้ ต่างชาติต้องการให้ไทยเป็นประเทศนำร่องมาตรการ EUDR ย้ำ ทำงานยุคนี้ “ไม่ใช้ระบบราชการนำ แต่เราในฐานะที่เป็นกำกับนโยบาย ต้องเป็นผู้นำราชการ” เหน็บ เหมือนฟังอภิปรายไม่ไว้วางใจในรัฐบาลชุดก่อน ทั้งๆ ที่ตนเองถูกปลดกลางอากาศ

วันนี้ (4 เม.ย. 67) ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 32 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2) ระบุว่า ก่อนจะชี้แจงรายละเอียดต่างๆ ขอชี้แจงประเด็นของ นายชวน หลีกภัย ซึ่งถือว่าเป็นบุคคลที่ตนให้ความเคารพ และนับถือ และมีโอกาสได้ปรึกษาหารือกับท่านในหลายประเด็น ในเรื่องความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในส่วนใหญ่

ร.อ.ธรรมนัส กล่าวต่อว่า ตนเองไม่ได้มีเจตนาที่จะลุกขึ้นมาโต้ตอบ ถึงสิ่งที่นายชวนได้ตั้งคำถาม และอภิปรายเมื่อสักครู่ ซึ่งในวันที่ 10 เมษายนของทุกปี เป็นวันสำคัญที่เกี่ยวข้องกับพี่น้องชาวตรังคือ วันยางพาราไทย ซึ่งคำถามของนายชวน ที่ตั้งคำถาม อาจจะมีเจตนาถามถึงนายกรัฐมนตรี แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการยางแห่งประเทศไทย โดยกระทรวงเกษตรฯ ปัญหาของยางพาราที่ตนเองได้ชี้แจงไปเมื่อวานนี้ ประกอบการอภิปรายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ว่าจะทำอย่างไรให้ราคายางมีราคาที่เสถียรภาพ

แน่นอนว่านโยบายแต่ละรัฐบาล ก็มีจุดเด่นจุดขายของตัวเอง แต่รัฐบาลชุดนี้ นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำเสมอว่า เราต้องใช้กลยุทธ์ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ ดังนั้น ดีมานด์ ซัพพลาย เป็นเรื่องสำคัญอุปสงค์ และอุปทาน ที่จะสามารถรักษาเสถียรภาพของราคายางตามคำโบราณที่ว่าปลูกเรือน ให้ตามใจคนอยู่ การเกษตรก็เช่นเดียวกันที่จะต้องดูความต้องการของผู้ใช้ ว่าต้องการสินค้าประเภทไหน มาตรฐานอย่างไร และเข้ากับบริบทความต้องการของตลาดโลกหรือไม่

สำหรับนโยบายที่จะทำให้ราคายางของเรามีเสถียรภาพ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเข้าใจถึงว่าบริบทของโลกนั้นเปลี่ยนไป ผู้บริโภคต้องการมาตรฐานอะไร โดยในตอนนี้เวทีตลาดยุโรปและแถวเพื่อนบ้านของเราต่างก็ตื่นตัวในเรื่องของนโยบาย EUDR หรือการทำเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งกระทบกับประเทศเพื่อนบ้านและทำให้ปริมาณยางพาราในประเทศพื้นบ้านลดลง หากศึกษาตลาดยางพาราในประเทศ มีเพียง 12% ขณะที่ตลาดขนาดใหญ่ที่เราส่งออกมีถึง 88% ในจำนวนปริมาณยางในแต่ละปี มีอยู่ 4.8 ล้านตัน โดยตลาดภายในมีการรณรงค์ให้มีการใช้ยางในประเทศให้เยอะที่สุด

ร.อ.ธรรมนัส กล่าวอีกว่า แต่ยางส่วนใหญ่ เป็นยางที่เราส่งระบายออกตลาดนอก ดังนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องใส่ใจตลาดนอก ซึ่งตลาดนอกไม่ต้องการให้รัฐบาลไทยใช้นโยบายบิดเบือนกลไกตลาด รวมถึงในเดือนธันวาคม 2567 ทั่วโลกต้องทำ คือมาตรการการเข้มข้นใน EUDR โดยในสมัยรัฐบาลที่แล้ว ที่ตนดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยกระทรวงเกษตรฯ ก็ทราบว่ามีการคุยเรื่องนี้แต่ยังไม่ได้ทำอะไรเลย เพราะไม่ใช่เรื่องที่ง่าย เนื่องจากสวนยางในประเทศไทยมีจำนวนมหาศาล ซึ่งเมื่อตนกลับมาเป็น รมว.เกษตรฯ จึงมีความจำเป็นที่ต้องกำกับดูแลเพราะต้องการรณรงค์คิกออฟในเรื่อง EUDR และเราสำรวจมาแล้วกว่า 2 ล้านกว่าไร่ และประชาสัมพันธ์กับท่านทูตสหภาพยุโรป และได้คุยเรื่องเหล่านี้

เขาขอให้ประเทศไทย เป็นประเทศนำร่อง ซึ่งผู้ประกอบการยักษ์ใหญ่ต้องการให้ประเทศไทยนำร่องการคิกออฟในมาตรการ EUDR ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานี้ประเทศไทยเราได้เปรียบในการที่จะเป็นประเทศแรก เป็นเจ้าใหญ่ที่จะนำร่องการปลูกหญ้า การทำยางที่ไม่กระทบกับระบบนิเวศ เรายึดแบบ BCG Model คือการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก ซึ่งเขาเชื่อมั่นการทำงานของบอร์ดบริหาร และผู้บริหารการยางแห่งประเทศไทย “ซึ่งการทำงานในยุคนี้ ตนเองไม่ได้ใช้ระบบราชการนำ แต่เราในฐานะที่เป็นกำกับนโยบาย ต้องเป็นผู้นำข้าราชการ”

สิ่งเหล่านี้ ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเมื่อเราทำเรื่องต่างๆ เหล่านี้ทำให้ราคายางกระเตื้องขึ้น เราต้องทำในสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ รวมถึงการปราบปรามสินค้าเถื่อนประเภทยางพารา ที่ได้ลงตรวจกับพรรคฝ่ายค้าน ที่มี กมธ. ทั้งฝ่ายรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้าน ต่างก็มีฉันทามติว่าห้ามนำยางทรานซิส ทำให้วันนั้นจนถึงวันนี้ปริมาณยางที่ทะลักเข้าบ้านเราถึงน้อยลง ทุกประเด็นที่ลุกขึ้นมาพูดล้วนแล้วแต่เป็นประโยชน์กับเกษตรกรชาวสวนยาง ที่ได้รับประโยชน์และอานิสงส์จากการทำงานของภาครัฐ และฝ่ายการตรวจสอบ สส. อย่างเข้มข้น

ร.อ.ธรรมนัส ได้ตอบข้อซักถามของนายณรงค์เดช อุฬารกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในเรื่องปัญหาของราคาสุกรหน้าฟาร์มตกต่ำกว่าต้นทุนการผลิต ซึ่งตนฟังแล้วรู้สึกเหมือนการอภิปรายไม่ไว้วางใจในรัฐบาลชุดที่แล้ว เพราะข้อมูลต่างๆเป็นการทำงานของรัฐบาลชุดที่แล้ว แต่ไม่เป็นไรเพราะถือว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลชุดที่แล้ว ถึงแม้ว่าจะถูกปลดกลางอากาศเมื่อปี 2565 แต่จำไม่ได้ สิ่งไม่ดีไม่อยากจำ

ส่วนปัจจัยที่ทำให้ราคาฟาร์มหมูตกต่ำกว่าต้นทุนการผลิตมีอยู่ 2 อย่าง คือ ปัจจัยภายนอก หรือการลักลอบนำเข้าชิ้นส่วนสุกรเถื่อน โดยการสำแดงเอกสารนำเข้าเท็จ และนำมาจำหน่ายในประเทศ ส่งผลให้ราคาตกต่ำ เป็นชิ้นส่วนที่ประเทศที่เจริญแล้วเขาไม่กิน เช่น ตับ ไต ไส้พุง มัน 3 ชั้น หนึ่งตู้คอนเทนเนอร์เทียบเท่ากับหมู 300 กิโลกรัม และนำไปสู่การแพร่ระบาดโรค ASF ปริมาณสุกรลดลง และมีพ่อค้าหัวใสนำเข้าสิ่งเหล่านี้ ทำให้ราคาสุกร ตกต่ำอย่างน่าใจหาย ทำให้แทรกแซงกลไกการตลาดอย่างไม่เป็นธรรม

รวมถึงปัจจัยการตามความแปรปรวนของโลก เช่นสู้รบระหว่างประเทศรัสเซียกับยูเครนก็ส่งผลกระทบ และการแพร่ระบาดของเชื้อ โควิด-19 ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ทำให้วัตถุดิบประเภทอาหารสัตว์ที่นำเข้าราคาสูง และส่งผลให้ราคาหมูหน้าฟาร์มตกต่ำ

สำหรับปัจจัยภายในที่ถือเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ประกอบไปด้วยปริมาณผลผลิตสุกรในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้น เนื่องจากเรามีมาตรการการควบคุมโรค ASF ที่ควบคุมได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกินความต้องการของตลาดภายใน และการส่งออกนอกประเทศมีจำนวนลดลง ทำให้เกิดหมูล้นตลาดเกินความต้องการ

การแก้ไขปัญหาเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ คือการประกาศทำสงครามกับสินค้าเถื่อน เพื่อเป็นการเพิ่มมาตรการที่เข้มข้นในการห้ามปราบปรามป้องกันไม่ให้พ่อค้าหัวไทรนำสินค้าเหล่านี้เข้ามาในราชอาณาจักร โดยใช้ พ.ร.บ. ฟอกเงิน หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการยึดทรัพย์เป็นต้น เพราะถ้าโทษไม่หนักคนพวกนี้ก็จะไม่เข็ด “ซึ่งเราสามารถพูดได้ร้อยเปอร์เซ็นว่า ในเวลานี้การนำสินค้าเถื่อนประเภทสุกรเข้ามา มันหายไปจากวงจร” แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการทำนโยบายควบคู่คือการรักษาเสถียรภาพราคาสุกรหน้าฟาร์ม ภายใต้มติคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์

ผลสัมฤทธิ์ที่ได้ทำมาตรการต่างๆ ทำให้ราคาสุกร ระหว่างต้นทุนการผลิตกับราคาหน้าฟาร์มเริ่มขยับเข้าหากัน และมีอีกหลายมาตรการที่รัฐจัดทำในเวลานี้จะทำให้ ราคาต้นทุนกับราคาเนื้อสุกรหน้าฟาร์มสมดุล แล้วทำให้พี่น้องเกษตรกรลืมตาอ้าปากได้มากขึ้น มาตรการเราทำร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ แต่สิ่งที่กระทรวงเกษตรฯ ในฐานะฝ่ายผลิตเป็นห่วงกังวลคือเรื่องของผู้บริโภค ซึ่งเราได้พูดคุยกับหลายฝ่ายและจับมือกันเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จึงเป็นเหตุให้ในอนาคตเราจะพยายามลดควบคุมปริมาณแม่พันธุ์ ลูกหมูสมดุลกันหมดราคายาง ให้กับพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร

ส่วนปัญหาราคาสัตว์น้ำ โดยได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกรมประมง ต้องหันหน้าเข้าหากันคุยกันระหว่างผู้ประกอบการหรือผู้นำเข้าทั้งหลายกับภาครัฐโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เกี่ยวกับเรื่องข้อกฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ และส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้ประกอบการและชาวบ้าน และร่วมกันทำกฏหมายเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องชาวประมง ซึ่งตนตระหนักถึงเรื่องนี้เป็นอย่างดี จึงได้ตั้งอนุคณะกรรมการแก้ไขราคาสัตว์น้ำ ที่มีพี่น้องจากประมงพื้นบ้าน และพาณิชย์ และภาคต่างๆมารวมอยู่ในคณะกรรมการชุดนี้เพื่อต้องการแก้ไขปัญหาราคาต่ำ

นอกจากนี้ ในปลายเดือนเมษานี้ ผู้แทนการค้าไทย ที่มีนายกรัฐมนตรี รวมถึงนายภูมิธรรม เวชยชัย และนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งคณะชุดไปเจรจากับ IUU และสหภาพยุโรป กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ปัญหาความเข้าใจผิดที่เกี่ยวข้องกับการทำประมง IUU ที่ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งเราต้องบนความเป็นจริง และรักษาผลประโยชน์ของคนไทยเป็นสำคัญ

Related Posts

Send this to a friend