‘มาริษ’ โชว์วิสัยทัศน์นโยบายด้านการต่างประเทศ
สานต่อ “การทูตเพื่อประชาชน – การทูตเศรษฐกิจเชิงรุก” พร้อมเป็นด่านแรกเปิดประตูการค้า – การลุงทุน และจับมือเพื่อนบ้านแก้ปัญหาชีวิตประชาชน ยกระดับซอฟต์พาวเวอร์ให้จับต้องได้ เปิดวีซ่าระยะยาวดึงดูดเศรษฐกิจ หนุนนัดท่องเที่ยวเยือนไทย
วันนี้ (19 ก.ย. 67) นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวแสดงวิสัยทัศน์ในนโยบายด้านการต่างประเทศ ในโอกาสพบสื่อมวลชน หลังเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในรัฐบาลของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยย้ำว่า นโยบายการต่างประเทศ จะยังคงมีความต่อเนื่อง และชัดเจน แต่มากกว่านั้น จะต้องเป็นสิ่งที่ยิ่งจับต้องได้ โดยเฉพาะในช่วง 3 – 6 เดือนข้างหน้าของรัฐบาล ซึ่งจะเป็นการสานต่อ และเติมเต็มสิ่งที่ทำอยู่เดิมจากรัฐบาลชุดที่แล้ว และให้ความสำคัญกับ “การทูตเพื่อประชาชน” และ “การทูตเศรษฐกิจเชิงรุก” ที่สามารถจับต้องได้ทุกมิติ เข้าถึงประชาชนได้ผ่านโครงการ และนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาล
นายมาริษ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมานานาชาติให้รับการยอมรับประเทศไทย ทั้งด้านการเมือง และเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น กระทรวงการต่างประเทศ จึงพร้อมเป็นด่านหน้า เพื่อเปิดประตูการค้าระหว่างประเทศไทยกับต่างประเทศ รวมถึงยังพยายามผลักดันการลงนามความร่วมมือกับประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ ให้เกิดขึ้น โดยมั่นใจว่า จะสามารถร่วมมือกับภาครัฐ และเอกชนของไทยดำเนินการในเรื่องดังกล่าวได้ จึงยืนยันว่า กระทรวงการต่างประเทศ ทำงานเชิงรุกอย่างจริงจัง เพื่อให้ผลประโยชน์ไปสู่ประชาชน และภาคเอกชน
สำหรับ “การทูตเพื่อประชาชน” และ “การทูตเศรษฐกิจเชิงรุก” นายมาริษ ระบุว่า จะมีการแก้ไขปัญหาข้ามพรมแดนต่างๆ เช่น ปัญหายาเสพติด การบริหารจัดการน้ำ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ฝุ่น PM2.5 และอาชญากรรมข้ามชาติ ที่กระทบต่อความอยู่ดีกินดี และคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งปัญหาดังกล่าว ไม่ใช่ปัญหาของประเทศใดประเทศหนึ่ง จะต้องร่วมมือกันแก้ไข ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศ มีบทบาทสำคัญ และหมดสมัยที่กระทรวงฯ จะทำงานจากส่วนกลางอย่างเดียวแล้ว โดยตนได้ลงพื้นที่เห็นสภาพปัญหา และ รับฟังความคิดเห็นจาก สส.ทำให้ได้รับรู้ความต้องการจากชุมชนผู้ได้รับผลกระทบจริง
ส่วนการบริหารจัดการแม่น้ำโขงนั้น นายมาริษ กล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศ ได้หารือกับประเทศจีน และ ประเทศ สปป.ลาว เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งโขง ได้รับผลกระทบจากน้ำโขงที่เอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนเสียหาย ซึ่งล่าสุดยังได้หารือกับฝ่ายเมียนมาด้วยว่า จะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด เพื่อบรรเทาทุกข์ของประชาชนทั้งสองประเทศ ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์น้ำท่วม และจะประสานงานกัน เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยั่งยืน
นอกจากนี้ จะมีการเพิ่มการตรวจลงตราประเภทใหม่ เป็นการออกวีซ่าระยะยาว (Destination Thailand Visa) หรือ DTV ที่ได้ทำไปแล้ว และจะทำต่อไป เพื่อดึงดูดชาวต่างชาติพำนักในประเทศไทย หรือทำงานในประเทศไทยได้นานขึ้นถึง 180 วัน และต่ออายุได้อีก 180 วัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งระบบ รวมถึงการเร่งเจรจากับ 5 ประเทศอาเซียน ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และมาเลเซีย เพื่อให้มีวีซ่าท่องเที่ยวร่วมกันกับไทย เมื่อนักท่องเที่ยวได้รับวีซ่าจากลาวแล้ว ก็สามารถมาท่องเที่ยวที่ประเทศไทยต่อได้ คล้าย Schengen Visa ของยุโรป เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวในอาเซียน
นายมาริษ ยืนยันอีกว่า กระทรวงการต่างประเทศ จะยกระดับนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ ให้จับต้องได้มากขึ้น และเชื่อมท้องถิ่นไทยสู่สากล โดยใช้กลไกสถานทูตไทยทั้ง 93 แห่ง เพื่อเกิดประตูสู่การเจรจาการค้าต่อไปในอนาคต พร้อมมั่นใจว่า Thai Festival ที่จัดเป็นประจำทุกปีในประเทศต่างๆ จะเป็นช่องทางกระจายสินค้าไทยไปสู่ตลาดโลกได้อย่างดี
นอกจากนี้ นายมาริษ มองว่า การดำเนินการซอฟต์พาวเวอร์ให้เกิดขึ้นได้ จะต้องเกิดความร่วมมือ 2 ทางกับต่างประเทศ เพื่อนำ Local ไปสู่ Global ให้ต่างชาติมาร่วมมือกับชาวบ้านในท้องถิ่นไทย ช่วยให้เกิดการสนับสนุนเงินทุน และเทคโลโลยีกับชาวบ้านได้ โดยยืนยันว่า กระทรวงการต่างประเทศ จะผลักดันอย่างเต็มที่
นายมาริษ ยังได้ย้ำบทบาทนโยบายการต่างประเทศของไทย ตามที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายของรัฐบาลอย่างชัดเจนว่า จะมุ่งทำงานร่วมกับนานาประเทศ เพื่อส่งเสริมสันติภาพ และความมั่งคั่งร่วมกัน และไทยจะต้องมีบทบาทเชิงรุกมากขึ้น ทั้งการส่งเสริมให้เกิดสันติภาพในเมียนมา หรือการร่วมพัฒนาพื้นที่สองฝั่งไทย-มาเลเซีย เพื่อให้คนทั้งสองฝั่ง มีกิน มีใช้ ร่วมสร้างความสงบสุขตามแนวชายแดน
อีกทั้ง การทูตไทยหลังจากนี้ ต้องจับต้องได้ กินได้ และมั่นใจว่า คนไทย จะได้ประโยชน์ ทั้งเม็ดเงินที่จะหลั่งไหลเข้ามาในประเทศมากขึ้น คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ความปลอดภัย และความมั่นคง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของความมั่งคั่ง โดยกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมที่จะสานต่อ และเป็นกระทรวงด่านหน้า ทำงานเชิงรุก เพื่อผลักดันนโยบายของรัฐบาล และทำงานร่วมกับทุกๆ ฝ่ายต่อไป พร้อมยืนยันว่า ไทยไม่ได้ละเลยต่ออาเซียน และพยายามมีบทบาทกับทั่วโลก ในการแก้ไขปัญหาในภูมิภาค
นายมาริษ กล่าวอีกว่า กระทรวงการต่างประเทศ ไม่ได้นิ่งนอนใจ และพร้อมผลักดันการช่วยเหลือตัวประกันชาวไทยในอิสราเอลที่เหลืออยู่ กลับสู่มาตุภูมิ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้ติดตามอย่างใกล้ชิด และประสานกับทางการอิสราเอล และประเทศอื่นๆ ที่มีบทบาทสำคัญอย่างต่อเนื่อง ทั้งกาตาร์ อียิปต์ หรืออิหร่าน
ทั้งนี้ นายมาริษ ย้ำจุดยืนนโยบายการต่างประเทศของไทยอีกที่ “ไม่เลือกข้าง” และ “เข้ากับทุกขั้วอำนาจได้อย่างสมดุล” ซึ่งการไม่เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งระหว่างประเทศ และดำเนินนโยบายที่เป็นมิตรกับทุกประเทศโดยไม่เลือกข้างนั้น จะเป็นประโยชน์สำหรับประเทศไทยในหลายด้าน