POLITICS

’พิพัฒน์‘ ลงนามความร่วมมือ การผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ

’พิพัฒน์‘ ลงนามความร่วมมือ การผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ สร้างจิตสำนึกความเป็นไทย พร้อมขยายผลความร่วมมือในการ UPSKILL และ RESKILL นักเรียน นักศึกษา ให้มีความพร้อมสำหรับการเติบโตของอุตสาหกรรมของประเทศไทยในอนาคต

เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ร่วมพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลง “ความร่วมมือผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ สร้างจิตสำนึกในความเป็นไทย” ระหว่าง กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์กรมหาชน) โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน ณ ห้องประชุมราชวัลลภ อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ในการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการผลิตทรัพยากรมนุษย์ และ แรงงาน ที่มีคุณภาพ เพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในประเทศไทย รวมถึง การแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานคุณภาพในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างยั่งยืน โดย กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ และ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และ นวัตกรรม ซึ่งเปรียบเสมือนต้นทางในการผลิตเมล็ดพันธ์สำหรับตลาดแรงงานของประเทศไทย และ กระทรวงแรงงาน เปรียบจุดเชื่อมต่อ ระหว่างต้นทาง กับ MARKET PLACE ดังนั้น กระทรวงแรงงานจึงได้วางแผนในการพัฒนาทักษะอาชีพที่มีความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ต่างๆของประเทศไทย โดยการ UPSKILL และ RESKILL สำหรับกลุ่มนักเรียน นักศึกษา และ กลุ่มผู้ด้อยโอกาส ให้มีความทักษะในการประกอบอาชีพ และมีความพร้อมในการทำงานตั้งแต่วัยเรียน พร้อม ส่งเสริมให้ นักเรียน นักศึกษา ในการได้รับโอกาสทำงานในช่วงวัยเรียน เพื่อเป็นการสร้างรายได้ เพิ่มประสบการณ์ในการทำงาน และ มีความพร้อมในการทำงานภายหลังจากสำเร็จการศึกษา

เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับ นักเรียน นักศึกษา ในการพัฒนาทักษะฝีมือในด้านต่างๆ มากยิ่งขึ้น กระทรวงแรงงาน โดย กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้ร่วมหารือกับ “สถาบันอาชีวศึกษา และ สถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษา” ในการขับเคลื่อนนโยบายธนาคารสะสมหน่วยกิต (CREDIT BANK) เพื่อให้ผู้ที่ผ่านหลักสูตรการอบรมหลักสูตร ของ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน นั้น สามารถเทียบหน่วยกิตจากการอบรมได้

และ อีกหนึ่งความท้าทายของตลาดแรงงานไทย คือ แรงงานจำนวนมาก “เรียนจบและทำงานไม่ตรงสาย” ซึ่ง กระทรวงแรงงาน ได้เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว พร้อมวางแผนในการหารือร่วมกับ กระทรวงศึกษาธิการ ในการพัฒนา “ระบบการแนะแนวเส้นทางอาชีพ” ที่นำเสนอข้อมูลเชิงลึกด้านอาชีพต่างๆ อาทิ จำนวนอัตราการจ้างงาน, รายได้ที่จะได้รับ รวมถึง ทักษะที่ภาคอุตสาหกรรมต่างๆต้องการ เพื่อเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจสำหรับ ครูผู้ฝึกสอน และ นักเรียน ซึ่งนำมาสู่การวางแผนและการตัดสินใจในการเลือกเส้นทางศึกษาในระดับอุดมศึกษาเพื่ออาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“พวกเราจะพยายามอย่างเต็มที่ ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนไทยหลุดพ้นจากค่าแรงขั้นต่ำ และ ได้รายได้ตามทักษะฝีมือ พร้อมเดินหน้าเต็มกำลังในการพัฒนาศักยภาพของพี่น้องแรงงานไทยให้มีความพร้อมในทักษะที่ตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ” นายพิพัฒน์ กล่าวท้ายสุด

ด้าน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า สาระสำคัญของการลงนามในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมความร่วมมือระหว่างกันในการผลิตกำลังคนให้เชื่อมโยงสอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ โดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มุ่งเน้นในการสร้างโอกาสและส่งเสริมการมีงานทำให้กับประชาชนในทุกช่วงวัย รวมถึง การพัฒนาศักยภาพของแรงงานไทยให้มีทักษะสูงเพื่อการมีรายได้ที่เพิ่มมากยิ่งขึ้น พร้อมจัดหาแรงงานคุณภาพเพื่อรองรับอุตสาหกรรมการเติบโตของเศรษฐกิจ และ คุ้มครองดูแลแรงงานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งทั้งหมดนี้จะนำมาสู่ความยั่งยืนของเศรษฐกิจทั้งในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ

Related Posts

Send this to a friend