POLITICS

กกต.แจงคดีหุ้น ‘พิธา’ ทำตามกฎหมาย เป็นอำนาจศาล รธน.ตัดสิน

‘กกต.’ จัดอภิปราย กกต.มีไว้ทำไม ออกโรงแจงคดีหุ้น ‘พิธา’ ทำตามกฎหมาย เป็นอำนาจศาล รธน.ตัดสิน ชี้ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ไม่ใช่ชนะเลือกตั้งแล้วจะทำอะไรก็ได้

วันนี้ (18 ส.ค. 66) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดอภิปรายหัวข้อ “กกต.มีไว้ทำไม” โดยมี นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. รศ.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เป็นผู้อภิปราย ดำเนินอภิปรายโดย นายบากบั่น บุญเลิศ พิธีกรรายการเนชั่นอินไซต์

นายแสวง กล่าวว่าคำถาม “กกต.มีไว้ทำไม” ไม่น่าจะต้องการคำตอบ แต่น่าจะเกิดจากความรู้สึกผิดหวัง และไม่ชอบบทบาท กกต. ซึ่ง กกต.ไม่ค่อยมีเวทีอธิบาย กกต.มีหน้าที่ทำการเมืองให้ดี ทำการเลือกตั้งให้สุจริตเที่ยงธรรม ให้ความรู้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และพัฒนาการเมือง กกต.จะทำไม่สำเร็จหากไร้ความร่วมมือจากทุกคน โจทย์เราคือทำอย่างไรให้การเมืองดี

การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาพอใจระดับหนึ่ง เพราะมีปัญหาพอสมควร เลือกตั้งเป็นเพียงวิธีการแต่เป้าหมายคือ การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือที่ดีในการพัฒนาการเมือง หลักการสำคัญที่เน้นย้ำคือความโปร่งใส โดยมีวิธีการตรวจสอบดังนี้ 1.เห็นกับตา 2.ระบบตรวจสอบ 3.ประสิทธิภาพและการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน โดยการเลือกตั้งครั้งถัดไปที่ต้องพัฒนาคือ การบริการประชาชนที่หน่วยเลือกตั้ง ส่วนกรณีที่กระทบกับความรู้สึกประชาชน โดยเฉพาะคดีที่มีการวินิจฉัย เช่น การส่งคุณสมบัติต้องห้ามไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ข้อร้องเรียนเรื่องการยุบพรรค ซึ่ง กกต.ยกคำร้องไปแล้ว 111 เรื่อง ยืนยันว่าเราปฏิบัติตามกฎหมาย กกต.จะไม่หน้าที่ทำเกินกฎหมาย เพราะอาจมีความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ เพียงแต่ทำตามกฎหมายแล้วไม่ได้ผลตามต้องการ

การเลือกตั้งปี 2566 เราเห็นพัฒนาการการเลือกตั้งอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยเฉพาะจำนวนผู้มาใช้สิทธิ และพฤติกรรมของผู้มาใช้สิทธิ ที่มีการเลือกตั้งตามอุดมคติ และเลือกตั้งเชิงนโยบายมากขึ้น ทั้งนี้ยังมีเฟกนิวส์เยอะมาก และมีบางส่วนที่ไม่พอใจ ใช้โซเชียลมีเดียมาด่า เรายอมรับสภาพนี้ได้ สำหรับความผิดพลาดของ กกต.ขอย้ำว่าเรารักษาสิทธิของประชาชน ทุกคะแนนเสียงไปถึง เราทำงานกับอาสาสมัครชาวบ้านเป็นล้านอาจมีข้อผิดพลาดบ้าง แต่ทั้งหมดจะเป็นบทเรียนครั้งต่อไปก็ต้องบริหารความเปราะบางนี้ให้ได้

นายแสวง ยังชี้แจงกรณีของคดีหุ้นไอทีวีของนายพิธา โดยระบุว่าไม่ใช่คนชนะเลือกตั้งจะทำอะไรก็ได้แต่ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย แม้การเลือกตั้งคือความชอบธรรมที่จะมาบริหารประเทศก็ตาม สำหรับแนวทางการตัดสินการถือหุ้นสื่อเป็นลักษณะต้องห้ามของ สส. กกต.ไม่มีอำนาจในการตัดสิน แต่ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้ตัดสิน เพื่อวางบรรทัดฐานกรณีเกิดเหตุคล้ายกันในอนาคต ส่วนตรวจสอบข้อร้องเรียน 82 สส. กกต.ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ เป็นไปตามกระบวนการสืบสวนสอบสวน

เมื่อถามถึงกฎการห้ามก้าวล่วงสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีพรรคการเมืองหนึ่งถูกร้องเรียนจากการนำมาใช้เป็นนโยบายหาเสียง โดยระบุจะแกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แนวทางการพิจารณาในชั้นของนายทะเบียน จะพิจารณาว่าพรรคการเมืองดังกล่าวมีอำนาจหรือไม่ และปฏิบัติตามกฎหมายหรือไม่ ส่วนกรณีการยุบพรรคขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

รศ.ยุทธพร กล่าวว่าคำว่า “กกต.มีไว้ทำไม” เราได้ยินมาก่อนเลือกตั้ง มีทั้งความรู้สึกเห็นใจและไม่แปลกใจ เข้าใจ กกต.ในฐานะคนกลางทางการเมือง หลีกไม่ได้กับสถานการณ์ทัวร์ลง เพราะการเลือกตั้งล่าสุดมีฐานมาจากความขัดแย้งทางการเมือง และขยายตัวมากขึ้นส่งผลให้มีการแบ่งขั้วทางการเมือง ทั้งการแบ่งขั้วทางอุดมการณ์ และการแบ่งขั้วทางอารมณ์ความรูสึก กกต.จึงกลายเป็นตำบลกระสุนตก

รศ.ยุทธพร เล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้น กกตเกิดจากรัฐธรรมนูญ 2540 เกิดตั้งคำถามถึงความไม่เป็นกลาง การเข้ามาครอบงำของระบบราชการ เป็นกระบวนการออกแบบสถาบันทางการเมืองทีืเราเรียกว่าองค์กรอิสระ ซึ่งเป็นกระบวนการที่เราตั้งองค์กรต่าง ๆ ขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่เฉพาะ

รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 เน้นออกแบบสถาบัน ทางการเมือง เกิดองค์กรอิสระขึ้นเพื่อให้เกิดระบบรัฐสภาที่มีเหตุผล เพิ่มอำนาจการตรวจสอบนอกเหนือจากฝ่ายบริหาร ตอบคำถามสังคมได้ สะท้อนเจตจำนงประชาชน และไม่ได้อยู่ในเสียงข้างมากลากไป ทั้งนี้การที่ กกต.จะทำหน้าที่ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์จะต้องมีสังคมที่เป็นประชาธิปไตยและมีหลักนิติธรรม ซึ่งเป็นหลักพื้นฐานในการสร้างประชาธิปไตยที่ตั้งมั่น

เราต้องทบทวนวิธีคิดซึ่งต้องนำไปสู่การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม เป็นการเลือกตั้งที่จะต้องยึดเจตจำนงของประชาชน เปิดโอกาสในการแข่งขันในสนามเลือกตั้งอย่างเสรี กฎหมายเลือกตั้งและพรรคการเมืองของไทยตั้งแต่อดีตมุ่งเน้นเพียงแค่การสร้างความเสมอภาคในระหว่างคู่แข่งขัน เช่น การควบคุมค่าใช้จ่าย และการใช้สื่อ เมื่อมีกระบวนการควบคุมกำกับมากเกินไปก็ทำให้พื้นที่การเลือกตั้งขาดความเป็นเสรี บ่อยครั้งถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง กกต.ในฐานะคนกลาง จึงต้องตอบโจทย์การพัฒนาการเมือง

1.เสถียรภาพทางการเมือง การเมืองต้องเปลี่ยนแปลงให้อยู่ใต้ครรลองประชาธิปไตย

2.ความชอบธรรมทางการเมืองการเข้าสู่อำนาจรัฐ โดยได้รับการยอมรับจากประชาชน

3.ประสิทธิภาพและประสิทธิผลทางการเมือง ทำให้ระบบรัฐสภามีเหตุผล

4.ความเป็นสถาบันทางการเมือง

5.ความทันสมัยทางการเมือง โดยใช้เหตุผลหลักนิติธรรมการมีส่วนร่วมและความเท่าเทียมกัน

รศ.ยุทธพร มองว่าระบบเลือกตั้งในปี 2566 เปลี่ยนเป็นระบบเสียงข้างมากผสม หรือบัตร 2 ใบ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญทางการเมือง ทำให้พรรคการเมืองใหญ่มีความได้เปรียบ กลไกที่เปิดให้ สว.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีตามบทเฉพาะกาลมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ ทำให้เกิดภาวะระบบรัฐสภาที่บิดเบี้ยว เพราะกระบวนการโหวตเลือกนายกฯ มีคนที่ถูกแต่งตั้งมาร่วมด้วย

Related Posts

Send this to a friend