POLITICS

“เสียงประชาชน” เปิดแคมเปญชวนโหวต “นายกรัฐมนตรีควรอยู่เกิน 8 ปีหรือไม่”

เครือข่ายนักวิชาการ “เสียงประชาชน” 8 มหาวิทยาลัย ร่วมกับ 8 สื่อสถานีโทรทัศน์ดิจิทัลและสื่อออนไลน์ เปิดแคมเปญชวนโหวต “นายกรัฐมนตรีควรอยู่เกิน 8 ปีหรือไม่” เปิดโหวต วันที่ 20-21 สิงหาคม 2565 ประกาศผล 22 สิงหาคม 2565

วันนี้ (18 ส.ค. 65) เครือข่ายนักวิชาการเสียงประชาชน ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า), มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, มหาวิทยาลัยรังสิต, มหาวิทยาลัยบูรพา, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมกับ สื่อมวลชน 8 สื่อ ได้แก่ โทรทัศน์ดิจิทัล 4 ช่อง (เนชั่น ไทยรัฐทีวี ข่าวเวิร์คพอยท์ และพีพีทีวี) และสื่อออนไลน์ 4 แห่ง (The Standard, the Matter, the Momentum และ The Reporters) เปิดแคมเปญโหวต “เสียงประชาชน” เป็นครั้งที่ 2 ในประเด็น “นายกรัฐมนตรีควรอยู่เกิน 8 ปีหรือไม่” เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ ได้แสดงออกซึ่ง “เสียงประชาชน”

สำหรับคำถามที่จะให้ประชาชนโหวตจะเป็นเรื่องการดำรงตำแหน่ง 8 ปีของนายกรัฐมนตรี โดยจะไม่ถามข้อกฎหมาย เนื่องจากการวินิจฉัยเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ แต่จะถามความเห็นประชาชนว่า นายกรัฐมนตรีควรดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปีหรือไม่ โดยตัวคำถามที่จะให้ประชาชนโหวตคือ:

“การวินิจฉัยว่า​ พล.อ.ประยุทธ์​ จันทร์โอชา​ จะพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ​ 8​ ปี​ ในวันที่​ 24​ สิงหาคม​ 2565​ หรือไม่​ เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ​ แต่ในฐานะประชาชน​ ท่านเห็นว่า​ พล.อ.​ประยุทธ์​ จันทร์โอชา​ ควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเกิน​ 8​ ปีหรือไม่?”

ประชาชนที่สนใจ สามารถร่วมโหวตโดยเลือกจาก 2 คำตอบ คือ “ควร” และ “ไม่ควร” โดยการโหวตจะดำเนินการด้วยการแสกนคิวอาร์โค้ด

ระยะเวลาในการโหวตระหว่างวันที่ 20-21 สิงหาคม 2565 โดยเปิดให้โหวตเวลา 06.00 น. ของวันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม และปิดโหวตเวลา 24.00 น. ของวันอาทิตย์ที่ 21 สิงหาคม 2565 โดยจะประกาศผลในวันถัดมาคือ วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม 2565

โทรศัพท์มือถือหนึ่งเครื่อง หรือหมายเลขไอพีหนึ่งหมายเลข จะโหวตได้เพียงหนึ่งครั้ง

โดยองค์กรร่วมจัดชี้แจงว่า แม้อาจจะมีปัญหาว่า มีคนที่มีโทรศัพท์มือถือมากกว่าหนึ่งเครื่องทำให้จะมีคนที่โหวตได้มากกว่าหนึ่งครั้งก็ตาม แต่ในเรื่องนี้นั้นทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใด ทุกคนและทุกฝ่ายมีโอกาสเสมอกันในการโหวต หรือชวนคนมาโหวต หรือแม้กระทั่งจะใช้โทรศัพท์มือถือมากกว่าหนึ่งเครื่องในการโหวต ทุกฝ่ายก็มีโอกาสอย่างเสมอกันเช่นกัน

ทั้งนี้ โครงการ “เสียงประชาชน” ที่ดำเนินการในครั้งนี้ เครือข่ายนักวิชาการ 8 มหาวิทยาลัย และสื่อทั้ง 8 ที่ร่วมโครงการ มิได้มีความมุ่งหมายที่จะดำเนินการในทางที่จะเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่นายกรัฐมนตรี หรือต่อผู้ใด หากประสงค์ที่จะส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ ได้แสดงออกซึ่ง “เสียงประชาชน” ซึ่งมิได้มีผลทางกฎหมาย แต่คือ “เสียงประชาชน” ที่ทุกฝ่ายควรจะได้รับฟัง เพื่อให้ “เสียงประชาชน” ได้ดังยิ่งขึ้นในวาระอื่นๆ และเรื่องสาธารณะอื่นๆ และนำไปสู่การมี “ประชาธิปไตยโดยตรง” มากยิ่งขึ้นในอนาคตต่อไป

Related Posts

Send this to a friend