POLITICS

รัฐบาลแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว เน้นป้องกัน สร้างความตระหนักรู้

รัฐบาลจับมือ 27 หน่วยงานภาครัฐและประชาสังคม แก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว เน้นป้องกัน สร้างความตระหนักรู้ ไม่ใช่แค่ปัญหาของครอบครัว

วันนี้ (17 ก.ย. 64) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และพัฒนาครอบครัวแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ผ่านระบบ VDC จัดโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกับภาคีเครือข่ายที่มุ่งเน้นการทำงานแบบมีส่วนร่วม ยึดหลักมาตรการ 3P คือ 1) การป้องกัน (Prevention) 2) การคุ้มครอง (Protection) และ 3) การดำเนินคดี (Prosecution)

รวมทั้งขยายการดำเนินงานให้ครอบคลุมการช่วยเหลือและคุ้มครองสิทธิไปยังกลุ่มเป้าหมายอื่น ๆ ให้มากยิ่งขึ้น มีหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เข้าร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงฯ จำนวนทั้งสิ้น 27 หน่วยงาน ประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐ จำนวน 16 หน่วยงาน และองค์กรภาคประขาสังคม จำนวน 11 หน่วยงาน ซึ่งทั้งหมดจะไปร่วมกันกำหนดแผนการดำเนินงานให้ครอบคลุมทุกมิติต่อไป
 
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ที่มีสาเหตุปัจจัยจากปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม สาธารณสุข โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นับวันจะทวีความรุนแรงและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ส่งผลกระทบและเชื่อมโยงไปสู่ปัญหาสังคมอื่น ๆ สะท้อนให้เห็นถึงลักษณะทางสังคมที่ไม่เท่าเทียมกันหรือมีความไม่เสมอภาคระหว่างเพศ ที่มาจากความคิด ความเชื่อของคนในสังคม ค่านิยม หรือวัฒนธรรมประเพณี ทำให้ส่งผลกระทบต่อผู้ถูกกระทำทั้งทางร่างกาย และจิตใจ

ซึ่งทาง พม. มุ่งเป้าการดำเนินงานเชิงรุก ให้ความสำคัญกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัวทุกรูปแบบ จึงนำมาสู่ความร่วมมือกันในวันนี้ เพราะ พม. ไม่สามารถขับเคลื่อนงานเพียงหน่วยงานเดียวได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน หลายสาขาวิชาชีพ เพื่อดำเนินงานคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงที่มีความซับซ้อน ได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
 
ทั้งนี้ การผสานความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรพัฒนาเอกชน ที่มี 27 หน่วยงานในวันนี้ เป็นความร่วมมือระหว่าง พม. กับ หน่วยงาน อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงยุติธรรม กรุงเทพมหานคร ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมาย สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี มูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี มูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม มูลนิธิหญิงชายก้าว ไกล เป็นต้น

ถือเป็นจุดคานงัดที่สาคัญในการระดมสรรพกำลังและความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อบูรณาการการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ทั้งในเชิงเฝ้าระวัง ป้องกัน แก้ไขปัญหา ช่วยเหลือ และคุ้มครอง รวมทั้งดำเนินกระบวนการยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพและตอบสนองสถานการณ์ และความต้องการของผู้ประสบปัญหาได้มากยิ่งขึ้น

“รัฐบาลต้องการสร้างกลไกความร่วมมือกับทุกภาคส่วน พัฒนาระบบการจัดเก็บข้อมูลที่สามารถเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูลความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว พร้อมทั้งสนับสนุนให้บุคลากรท้องถิ่นมีทักษะและสามารถสำรวจสถานการณ์ สอดส่องดูแล และเฝ้าระวังปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ ตลอดจนสร้างความตระหนักรู้แก่ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องว่า ความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว และในครอบครัวอีกต่อไป ทุกหน่วยงานต้องร่วมกันช่วยเหลือ และคุ้มครองสวัสดิภาพ โดยให้ความสำคัญกับผู้เสียหาย และผู้ได้รับผลกระทบเป็นสาคัญ” นางสาวรัชดากล่าว

Related Posts

Send this to a friend