POLITICS

‘วราวุธ’ เผย ‘เสรีพิศุทธ์’ เทียบเชิญจับมือก้าวไกล แต่ยังไม่ตอบรับ ย้ำจุดยืนต้องไม่แตะ ม.112

วันนี้ (17 ก.ค. 66) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการลงมติโหวตนายกรัฐมนตรีรอบสองว่า ก่อนจะลงมติในสภา จะประชุมล่วงหน้าก่อน 1 ชั่วโมง โดยเวลา 08.30 น. ของวันที่ 19 ก.ค. นี้ จะเชิญ ส.ส. ทั้ง 10 คนของพรรค รวมถึง น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค ชทพ. และ นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรค เข้าร่วมประชุม เพื่อหารือแนวทางการลงมติเรื่องดังกล่าว

นายวราวุธ กล่าวว่า ชทพ.ยังสงสัยอยู่ว่า ในเมื่อมีญัตติเสนอชื่อนายพิธาไปรอบแรกแล้ว ยังสามารถเสนอรอบสองได้อีกหรือไม่ เพราะตามข้อบังคับการประชุมของสภา หากญัตติใดมีการเสนอและลงคะแนนจนเสร็จสิ้นแล้ว ไม่น่าเสนอญัตติเดิมได้อีก

เมื่อถามว่าจะงดออกเสียงอีกหรือไม่ นายวราวุธ กล่าวว่า ต้องดูก่อนว่าจะสามารถเสนอญัตติเดิมได้อีกหรือไม่ แล้วจึงจะหารือกันอีกครั้งหนึ่ง แต่อาจจะไม่งดออกเสียงแล้ว เพราะถ้าขัดกับแนวทางการทำงานของสภา ก็ไม่เห็นด้วยที่จะเสนอซ้ำอีกครั้งหนึ่ง

นายวราวุธ ยังเปิดเผยอีกว่า เมื่อช่วงสายวันที่ 16 ก.ค. ที่ผ่านมา พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย โทรศัพท์มาหาตนและมีการส่งเทียบเชิญมาจากพรรคก้าวไกล ให้พิจารณาเข้าร่วมรัฐบาล ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ ไม่สามารถตอบรับได้ทันที ต้องหารือกับ ส.ส.ในพรรคก่อนว่าแนวทางเป็นอย่างไร ยืนยันว่าแนวทางของพรรคคือ ไม่แตะต้องเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 และเชิดชู เคารพเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

เมื่อถูกถามว่า ถ้าพรรคก้าวไกลไม่ยอมถอยเรื่องมาตรา 112 จะไม่สามารถร่วมงานกันได้ใช่หรือไม่ นายวราวุธ กล่าวว่า “จะว่าอย่างนั้นก็ถูกต้อง หลายท่านอาจสงสัยว่าแล้วทำไมตอนแรก ชทพ.ถึงงดออกเสียง ก็ต้องขอเรียนว่าการงดออกเสียงของ ชทพ. ไม่ได้แปลว่าไม่มีความเห็น แต่เราให้เกียรติคนที่เลือกพรรคก้าวไกลเข้ามา และเราให้เกียรติพี่น้องประชาชนที่เลือกทั้งพรรคเล็กและพรรคใหญ่ให้เข้าสภา จึงได้งดออกเสียงไป แต่ถ้าจะมีการดำเนินการอะไรที่ไม่ตรงแนวทางปฏิบัติ กฎ ระเบียบ ข้อบังคับรัฐสภา นั่นก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะลงคะแนน”

ขณะเดียวกัน นายวราวุธ กล่าวถึงกรณีที่ถูกถามว่ากังวลหรือไม่หากรอบนี้โหวตสวน แล้วจะโดนทัวร์ลงเหมือน ส.ว. โดยกล่าวว่า โดนทัวร์ลงมาเยอะแล้ว และเข้าใจดีว่าเป็นความคิดเห็นของคนกลุ่มหนึ่ง ต้องเคารพแนวทางที่แตกต่าง นั่นเป็นวิถีของประชาธิปไตย ไม่ใช่จะต้องเห็นเหมือนกันหมด และไม่ใช่ว่าจะบังคับให้ใครคิดแบบเดียวกันหมด

นายวราวุธ กล่าวถึงกรณีที่พรรคก้าวไกลยื่นเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ว่า มาตรา 272 ระบุว่า ภายใน 5 ปีหลังจากใช้รัฐธรรมนูญจะให้อำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ สะท้อนว่าอีกไม่นาน วรรคนี้จะหมดความหมายลง เนื่องจากเลยกำหนดเวลาในบทเฉพาะกาลแล้ว ดังนั้น การแก้รัฐธรรมนูญในช่วงนี้ เป็นการสร้างเงื่อนไขใหม่ให้เกิดความซับซ้อนและกินเวลาในการโหวตเลือกนายกฯ ฉะนั้น ถ้าจะแก้ไขแค่มาตรา 272 ให้ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับดีกว่า

ทั้งนี้ ชทพ.ยึดมั่นนโยบายให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มาแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยยึดโมเดลของรัฐธรรมนูญปี 40 เพิ่มเติมปรับปรุงเข้าไปให้เหมาะสมกับบริบทในปัจจุบัน แต่ต้องไม่มีการแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 ใด ๆ ทั้งสิ้น

นอกจากนี้ นายวราวุธ ยังกล่าวถึงกรณีที่มีเพจเฟซบุ๊กนำภาพที่ตนนั่งอยู่ในห้องประชุมสภา และมีแผ่นกระดาษเขียนด้วยอักษรตัวใหญ่ว่า “งดออกเสียง” ไปแปลงเป็นคำอื่นไม่สุภาพว่า ให้เพจดังกล่าวแก้ไข ชี้แจง และขอโทษโดยเร็ว เพราะเป็นการดัดแปลงให้เสื่อมเสีย ซึ่งตนมอบฝ่ายกฎหมายดำเนินการแล้ว ดังนั้น ถ้าจะแก้ให้รีบแก้ก่อนที่ตนจะดำเนินการตามกฎหมาย

Related Posts

Send this to a friend