POLITICS

นายจ้าง รวมตัวค้านปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ

นายจ้าง รวมตัวค้านปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ เหตุผู้ประกอบการไม่พร้อม เศรษฐกิจเปราะบาง หวั่นกระทบ SMEs

วันนี้ (14 พ.ค. 67) เวลา 13.30 น.นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 ครั้งที่ 5/2567 เพื่อพิจารราการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศ โดยก่อนการประชุม ดร.เนาวรัตน์ ทรงสวัสดิ์ชัย ประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) พร้อมด้วยผู้แทนจากสภาองค์การนายจ้างทั้ง 16 สภาองค์การนายจ้าง ยื่นหนังสื่อถึงนายไพโรจน์ เพื่อคัดค้านการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทพร้อมกันทั่วประเทศ

ดร.เนาวรัตน์ กล่าวว่าด้วยสภาพของเศรษฐกิจในประเทศที่ยังอยู่ในช่วงเปราะบาง เงินเฟ้อ ค่าเงินบาทอ่อน ขีดความสามารถในเชิงการแข่งขันด้อยลงไปเรื่อย ๆ และเหตุผลทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ทำให้ไม่พร้อมในการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ โดย SMEs ทั้งยังมีเรื่องต้นทุน ค่าพลังงานที่ปรับตัวขึ้น ซึ่งเป็นหน้าที่ที่รัฐบาลต้องดูแล

เราเห็นด้วยที่จะขึ้นค่าจ้างตามทักษะฝีมือแรงงาน ซึ่งทุกอุตสาหกรรมมีแรงงานทักษะอยู่แล้ว และสนับสนุนให้ SMEs ปรับมาจ้างแรงงานที่มีทักษะฝีมือแรงงานเหมือนอย่างอุตสาหกรรมใหญ่ ๆ แต่อาจต่างกันในเรื่องอัตราการจ้างงานที่จะต้องสอดคล้องกับกำไรและขนาดของธุรกิจนั้น ๆ การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ จึงต้องมองความสามารถของผู้ประกอบการเป็นหลัก

ค่าจ้าง 400 บาท เป็นค่าแรงแรกเข้า แต่ไม่ใช่ค่าแรงของพนักงานที่อยู่นาน ซึ่งจะมีการปรับค่าแรงขึ้นตามศักยภาพ ดังนั้นเมื่อค่าแรงแรกเข้าเพิ่มเป็น 400 บาท คนที่อยู่ก่อนก็ต้องปรับตาม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ ปีนี้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 2 รอบแล้ว และยังจะมาขึ้นอีกครั้งวันที่ 1 ต.ค.นี้ เราคิดว่ายังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม สถานการ์เงินฝืดแบบนี้ ถ้าขึ้นค่าจ้างแต่รายรับของธุรกิจไม่เพิ่มเท่ารายจ่าย เมื่อเขาอยู่ไม่ได้ก็ต้องปิดตัวไป

ส่วนความเห็นของการปรับขึ้นรายพื้นที่กับปรับขึ้นรายกิจการ อยู่ที่บอร์ดค่าจ้างฯ ส่วนตัวคิดว่าควรขึ้นรายจังหวัด เพราะถ้าขึ้นรายอุตสาหกรรม ต้องไปหารือแต่ละอุตสาหกรรมว่าเห็นด้วยหรือไม่ อุตสาหกรรมแต่ละที่ก็มีหลายขนาด การปรับขึ้นรายอุตสาหกรรม ก็จะเหมือนธุรกิจโรงแรมที่ปรับขึ้นเมื่อ 13 เม.ย.67 ที่ร้องโอดโอยในตอนนี้

เมื่อถามว่ารัฐบาลควรประกาศปรับขึ้นค่าจ้างล่วงหน้ากี่เดือน เพื่อให้ผู้ประกอบการได้เตรียมตัว ดร.เนาวรัตน์กล่าวว่า ต้องใช้เวลา แต่จริง ๆ การปรับค่าแรงทุกประเทศ ปรับเพียงปีละ 1 ครั้ง แต่เราขึ้นไปถึง 2 ครั้งในปีเดียว ซึ่งมองว่าเป็นการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 87 แต่คงไม่ถึงขั้นคาดโทษรัฐมนตรีบ่าการกระทรวงแรงงาน เพราะท่านทำตามนโยบายของรัฐบาล แต่บางอย่างควรทำตามกฎหมาย ขั้นตอน และระเบียบที่กระทรวงมีอยู่

ดร.เนาวรัตน์ ยังพูดถึงความเป็นไปได้ในการยื่นร้องต่อศาลปกครอง หากมีการเดินหน้าประกาศค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ แต่เป็นขั้นต่อในอนาคต เพราะตามมาตรา 87 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ กำหนดให้มีการตั้งบอร์ดค่าจ้างฯ ที่เป็นองค์กรอิสระ ให้พิจารณาค่าจ้างตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ซึ่งกระทรวงแรงงาน เป็นคนแต่งตั้งขึ้นมา ก็ควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำข้อมูลต่าง ๆ มาพิจารณาตามหลักเกณฑ์ ไม่งั้นจะตั้งเขาไว้ทำไมก็ล้มเขาไปเลย

ผู้สื่อข่าวรายงานถึง 4 ข้อเสนอที่มีการร้องต่อปลัดกระทรวงแรงงาน ได้แก่ 1.ไม่เห็นด้วยกับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ แต่ควรใช้หลักการตามกฏหมายโดยยึดแนวปฏิบัติจากคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดในแต่ละจังหวัด และคณะกรรมการค่าจ้างกลาง (ไตรภาคี) เป็นผู้พิจารณาให้สอดคล้องกับปัจจัยทางเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่

2.ในการพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ควรจะพิจารณาจากทักษะฝีมือแรงงาน ตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเพียงอัตราค่าจ้างของแรงงานแรกเข้าที่ยังไม่มีฝีมือ ดังนั้นรัฐบาลควรสนับสนุนมาตรการทางภาษี ลดอุปสรรคต่อการพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อเป็นการจูงใจให้ผู้ประกอบการและแรงงานให้ความสำคัญกับการ UP-Skill & Re-Skill เพื่อส่งเสริมแรงงานที่มีทักษะฝีมือให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน

3.การพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเฉพาะพื้นที่จังหวัดและประเภทธุรกิจ ควรให้มีการรับฟังความคิดเห็น และศึกษาถึงความพร้อมของในแต่ละพื้นที่จังหวัดและประเภทธุรกิจ รวมทั้งควรให้มีการหารือร่วมกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง

4.นอกเหนือจากการยกระดับรายได้ของแรงงานแล้ว ภาครัฐควรสนับสนุนเรื่องค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ ให้แก่ภาคแรงงานในขั้นพื้นฐาน เช่น ในการจัดหา จัดซื้อ สินค้าอุปโภคบริโภคในราคาถูกลงอีกด้วย

Related Posts

Send this to a friend