POLITICS

‘กัณวีร์’ จี้ คกก.สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กำหนดให้ทุกโครงการกำแพงกันคลื่น ต้องทำ EIA

‘กัณวีร์’ เลขาธิการพรรคเป็นธรรม หนุน Beach For Life จี้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กำหนดให้ทุกโครงการกำแพงกันคลื่น ต้องทำ EIA

จากกรณี กลุ่ม Beach For Life และเครือข่ายประชาชนทวงคืนชายหาด ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ จะมีวาระการประชุมพิจารณาร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเรื่อง กำหนดโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …” ลำดับที่ 25 การก่อสร้างหรือขยายสิ่งก่อสร้างบริเวณหรือในทะเล ลำดับย่อยที่ 25.3 กำแพงติดแนวชายฝั่งทะเล ทุกขนาดเป็น โครงการ กิจการ หรือการดำเนินการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามมาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 ในวันที่ 15 มีนาคม 2566

กลุ่ม Beach For Life และเครือข่ายประชาชนทวงคืนชายหาด จึงขอให้ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติซึ่งมีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้ยึดมั่นในหลักการแห่งรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย ที่กำหนดให้โครงการที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยพิจารณาให้โครงการกำแพงกันคลื่น ทุกขนาดเป็นโครงการที่ต้องทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและข้อเท็จจริงทางวิชาการ เพื่อประโยชน์ในการใช้สิทธิของประชาชนในการมีส่วนร่วมจัดการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อไป

นายกัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรคเป็นธรรม เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ ได้ลงพื้นที่หาดปานาเระ อ.ปานาเระ จ.ปัตตานี เพื่อติดตามปัญหาของกลุ่มประมงพื้นบ้านปานาเระ พบกับ นายสุไลมาน ดาราโอะ ที่พาลงพื้นที่เห็นปัญหาดอนทรายที่ปิดปากร่องน้ำ ที่ทำให้ชีวิตประมงชาวปะนาเระ แทบล่มสลาย

“ชีวิตชาวบ้านบริเวณหาดปะนาเระที่ต้องใช้เรือประมง 246 ลำ ในการประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน ที่คาดว่าจะมีกว่า 740 ครัวเรือน หรืออย่างน้อยกว่า 3,700 ชีวิต ต้องมีชีวิตขึ้นอยู่กับการเลี้ยงชีพด้วยวิถีประมงพื้นบ้าน ดังนั้น การที่ปากร่องน้ำถูกปิด เพราะมีดอนทรายขนาดใหญ่มาปิดไว้ เพราะทรายไม่สามารถเดินทางผ่านตรงปากร่องน้ำได้ เนื่องจากกำแพงกันคลื่น (หรือ jetty) ที่ถูกสร้างขึ้น จึงทำให้เรือทั้ง 246 ลำ เข้า-ออกไม่ได้ จึงทำให้ชีวิตของพี่น้องบริเวณนั้นเหมือนล่มสลายลงไป”

นายกัณวีร์ สะท้อนปัญหาที่ได้รับฟังจากนายสุไลมาน ว่าทุกปีชาวปานาเระ ต้องมาเจอปัญหาร่องน้ำปิด เพราะดอนทรายที่ทับถมจากการแก้ปัญหาที่ผิดวิธี ตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ทางท้องถิ่นทำได้เพียงการขุดลอก และเกินกำลังแล้ว หากรอกรมเจ้าท่า ก็ต้องรองบประมาณทุก 3 ปี ซึ่งความพยายามในหลายๆ ครั้งในการดูดทรายที่ปิดปากร่องน้ำแล้วไปถมที่อื่นโดยกรมเจ้าท่าทำนั้น เป็นสิ่งที่ดี หากแต่ไม่ยั่งยืนเนื่องจากขาดความต่อเนื่องในการดำเนินการ และท้องถิ่นเองก็ทั้งไม่มีอำนาจและงบประมาณในการบริหารจัดการตนเองด้วย

นอกจากนี้จากการรับฟังข้อเสนอของ นายอภิรัตน์ ทัศนี กลุ่ม Beach For Life พบว่าปัญหาของปานาเระ เป็นบทสะท้อนจากการสร้างกำแพงกันคลื่นอย่างชัดเจนที่สุด และการแก้ปัญหาที่ผิดวิธีก็ส่งผลกระทบกับทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต และกำลังกระทบเศรษฐกิจ ซึ่งที่ปานาเระ เมื่อมีดอนทรายมาปิดร่องน้ำแล้ว วิธีเร่งด่วน น่าจะต้องทำตามที่ชาวบ้านเสนอ คือหาหน่วยงานมานำทรายออกไปแก้ปัญหาจุดที่กำลังกัดเซาะใหม่ และนี่เป็นข้อเท็จจริงที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ต้องนำไปพิจารณาว่า การทำกำแพงกันคลื่นทุกแห่ง ต้องศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมหรือ EIA

นายกัณวีร์ เห็นว่า เรื่องนี้ที่สำคัญเพราะ ในการประชุมคณะกรรมการฯ ดังกล่าวในวันนี้ (15 มี.ค. 2566) ควรจะมีการพิจารณาผลของกระบวนการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่เพิ่งผ่านมา เรื่อง ความจำเป็นต้องมีการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เสียก่อนไม่ว่ากรณีใดๆ หากมีความจำเป็นต้องมีการสร้างกำแพงกันคลื่นไม่ว่าขนาดใดก็ตาม

“เสียงส่วนใหญ่ของประชาชน คือ เห็นด้วยกับการที่หากมีความจำเป็นต้องสร้างกำแพงกันคลื่นไม่ว่าขนาดใดและที่ใด จำเป็นต้องมีการทำ EIA เสียก่อน โดยหลักสำคัญคือต้องให้ประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมีส่วนร่วมในกระบวนการ EIA เนื่องจากกำแพงกันคลื่นนั้น เป็นโครงการที่ส่งผลกระทบต่อสภาพชายหาดทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงวิถีชีวิตของประชาชนอย่างร้ายแรง”

นายกัณวีร์ กล่าวย้ำ สนับสนุน กลุ่ม Beach for Life และเครือข่ายประชาชนทวงคืนชายหาดที่ส่งหนังสือเปิดผนึกถึง พลเอก ประวิตร ในฐานะ ประธาน คณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ให้ทุกโครงการกำแพงกันคลื่น ต้องจัดทำ EIA และต้องร่วมติดตามการประชุมอย่างใกล้ชิด

Related Posts

Send this to a friend