POLITICS

‘ธนาธร’ ถอดบทเรียนดูงานบริหารท้องถิ่น หลังบินดูงาน ‘เดนมาร์ก’

โชว์ความเข้มแข็งเทศบาล-ห้องสมุดเมือง-ศูนย์เด็กเล็กตอบโจทย์-ระบบจัดการขยะ-เกษตรก้าวหน้า ฝันอยากเห็นไทยกระจายอำนาจ ยกระดับท้องถิ่นพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน

เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 66 ที่อาคารอนาคตใหม่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า จัดกิจกรรม Solbar Talk Special นำเสนอสิ่งที่ตนและผู้นำท้องถิ่นของคณะก้าวหน้าได้เดินทางไปยังประเทศเดนมาร์ก เพื่อศึกษาดูงานการพัฒนาท้องถิ่นระดับเทศบาลของประเทศเดนมาร์ก โดยใช้งบส่วนตัวของนายธนาธร โดยได้เดินทางไปยัง 6 เมือง จาก 98 เมือง ในระดับเทศบาล ของประเทศเดนมาร์ก

นายธนาธร บอกว่า ตนได้เดินทางไปดูเรื่องการจัดการเมือง ซึ่งมีความใกล้ชิดกับชีวิตประจำวันของประชาชน ดูแลเรื่องตั้งแต่ตื่นถึงเข้านอน ซึ่งหากเปรียบเทียบกับประเทศไทยคงเป็นการดูงานในระดับเทศบาล ซึ่งประเทศเดนมาร์กแบ่งการปกครองเป็นสามชั้น ชั้นบนสุดคือรัฐบาลส่วนกลาง ชั้นที่สองคือรัฐบาลภูมิภาค และชั้นที่สามคือเทศบาล

ประเทศเดนมาร์กมีประชากรประมาณ 5 ล้านคน ซึ่งการกระจายอำนาจของประเทศเดนมาร์ก ทำให้ระดับเทศบาลและระดับรัฐบาลภูมิภาค มีอิสระและมีอำนาจในการพัฒนาบ้านเมืองอย่างเต็มที่ โดยรายได้ส่วนใหญ่ของเทศบาลมาจากการจัดเก็บภาษีของคนในพื้นที่ แตกต่างจากประเทศไทยที่จัดเก็บภาษีเข้าส่วนกลาง จึงค่อยจัดสรรมายังท้องถิ่น รวมถึงระบบการเมืองที่ผู้นำในทุกระดับมาจากการเลือกตั้ง ไม่มีราชการส่วนภูมิภาค และในหนึ่งเทศบาลมีประชากรประมาณ 50,000 คน แตกต่างจากประเทศไทยที่หน่วยปกครองที่เล็กที่สุด คือ อบต. เทศบาล มีมากถึง 7,800 แห่ง มีประชากรเฉลี่ยแห่งละประมาณ 5,000-8,000 คน

นายธนาธร เล่าว่า ขณะนี้รัฐบาลประเทศเดนมาร์กให้ความสำคัญกับกรณีสงครามรัสเซีย-ยูเครน และเรื่องภาวะโลกร้อน (Climate Change) ซึ่งเรื่องนี้ถูกส่งต่อไปในระดับเมืองด้วย เมืองที่ได้ไปส่วนใหญ่ มีความทะเยอทะยานในการจัดการเมืองไปสู่เมืองที่ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมา เช่น เมืองโคเปนเฮเกน เมืองหลวงของประเทศเดนมาร์ก ที่ต้องการเป็นเมืองต้นแบบของโลกในเรื่องนี้

นายธนาธร ฉายภาพการจัดการเมืองโคเปนเฮเกน ทั้งเรื่องการจัดการถนน คืนทางเท้า และทางจักรยานให้คนเดิน ออกแบบมาตรการให้ผู้คน
ใช้รถขนส่งสาธารณะหรือรถจักรยานมากกว่ารถส่วนตัว ออกแบบสวนสาธารณะที่ยึดโยงกับพืชพรรณท้องถิ่น แล้วทำพื้นที่รับน้ำจากอาคารป้องกันน้ำท่วมขังไว้ใต้สวนสาธารณะป้องกันน้ำท่วม

นายธนาธร ยังเล่าถึงท่าเรือของเทศบาลเมือง Vordingborg ที่เทศบาลมีท่าเรือของตัวเอง มีสายพานลำเลียงสินค้าเกษตรเข้าเรือ โดยเทศบาลปล่อยให้สหกรณ์ของกลุ่มเกษตรกรเป็นผู้เช่า สร้างโกดังหรือ Xilo สินค้าเกษตร สำหรับเกษตรกรที่อยู่ในรัศมี 100 กิโลเมตร เมื่อได้ผลผลิตแล้วจะขายให้กับสหกรณ์ สหกรณ์นำมาเก็บในโกดังและพร้อมขนถ่ายสู่เรือนำไปขายต่างประเทศ เป็นตัวอย่างการรวมกลุ่มสหกรณ์ เพื่อผลักดันสินค้าเกษตร จนกลายเป็นผู้ส่งออกไปต่างประเทศ ค้ากำไรจากสินค้าการเกษตรด้วยตัวเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยังไม่เคยเห็นในประเทศไทย

โดยที่ท่าเรือมีโกดังขนาดใหญ่สำหรับเก็บสินค้าเกษตร ประมาณ 6-7 โรง เท่าที่นายธนาธรสังเกตพบว่าใน 1 ชั่วโมง มีสินค้าเข้ามาหลายตัน ลำเลียงโดยเครื่องจักรทั้งหมด ตั้งแต่การนำเข้าโกดังจนถึงการลำเลียงเข้าเรือ กลับใช้แรงงานคนเพียง 6 คนเท่านั้น เพราะใช้คนควบคุมในห้องควบคุมผ่านเครื่องจักรทั้งหมด ติดตามอุณหภูมิ ความชื้นของสินค้า รวมถึงการลำเลียงสินค้าเข้า-ออกได้

และที่สำคัญเขาได้ใช้โกดังเหล่านี้ กักเก็บสินค้าไว้ไม่จำหน่าย หากราคาสินค้าในช่วงนั้นตกต่ำ โดยมีเครื่องจักร หุ่นยนต์ และเทคโนโลยีต่างๆ ควบคุมคุณภาพของสินค้าเกษตรเหล่านั้น สามารถเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับสหกรณ์ได้ด้วย

นายธนาธร ยังเล่าถึงระบบการจัดการขยะครัวเรือนของประเทศเดนมาร์ก ที่บ้านทุกหลังต้องแยกขยะ และมีถังขยะอยู่อย่างน้อย 3 ถัง แยกขยะได้ 6 ประเภท นำไปสู่การจัดเก็บขยะที่ไม่เทรวม ออกกฏหมายของเมืองให้ทุกบ้านตั้งถังขยะห่างจากจุดจอดรถขยะไม่เกิน 5 เมตร เพื่อความสะดวกในการขนย้าย โดยมีการแจกแผ่นพับประชาสัมพันธ์ให้กับทุกบ้านในเมือง รับทราบวิธีการแยกขยะให้ถูกต้องตามประเภทที่ทางเทศบาลจัดเก็บ ออกแบบรถเก็บขยะให้แยกประเภทขยะตั้งแต่เทขึ้นรถ ทำให้สะดวกในการจัดเก็บ โดยคนเดนมาร์กต้องแยกขยะในบ้าน 10 ประเภท และขยะใดที่นอกเหนือจากประเภทเหล่านั้น จะมีการจัดสถานที่คัดแยกขยะเฉพาะ เช่น เศษกิ่งไม้ใบไม้ เฟอร์นิเจอร์

นอกจากนี้นายธนาธรยังได้กล่าวถึงการจัดทำห้องสมุดของเมืองที่เชื่อมต่อระบบระหว่างเมืองไว้ให้ยืมหนังสือกันและกันได้ทำให้ห้องสมุดมีชีวิตมีกิจกรรมสำหรับเด็ก และกลุ่มต่างๆ

มีการจัดทำศูนย์เด็กเล็กที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้คน รับเด็กตั้งแต่อายุ 9 เดือน ถึง 6 ปี หมายความว่าเมื่อพ่อแม่หมดสิทธิ์ลาคลอดตามกฏหมายแรงงานเดนมาร์กแล้ว สามารถนำลูกมาฝากไว้ที่ศูนย์เด็กเล็กดูแลได้เลย ทำให้รัฐช่วยดูแลเด็กอย่างไร้รอยต่อ พ่อแม่ไม่ต้องลางานเพิ่มมาเลี้ยงลูก และศูนย์เด็กเล็กที่นั่นไม่มีวันหยุด ไม่มีปิดเทอม เป็นพื้นที่ให้เด็กมาเล่นสนุก เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการเป็นหลัก และทุกที่มีคุณภาพ มีมาตรฐานที่หมือนกันทั้งที่เป็นบริการจากรัฐ

นายธนาธร ยังได้ฉายภาพการทำเกษตรก้าวหน้าของประเทศเดนมาร์ก ที่ใช้เทคโนโลยีการเกษตรเข้ามาช่วยเหลือ โดยได้ลงไปดูที่ฟาร์มของชายท่านหนึ่งมีเนื้อที่กว่า 1,000 ไร่แต่ใช้คนดูแลเพียง 6 คน เพราะมีเครื่องจักรการเกษตรที่พัฒนา ภายในประเทศของเขาหรือภายในกลุ่มประเทศยุโรปมาใช้ในการเกษตร ทำให้ทุกคนเข้าถึงเทคโนโลยี รวมไปถึงการทำฟาร์มโคนมที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ทำให้ที่ฟาร์มแห่งหนึ่งที่มีโคนม 180 ตัว แต่ใช้คนดูแลเพียง 2 คน ทำหน้าที่ปรุงหญ้าให้วัวเท่านั้น แต่ระบบการรีดนม ตรวจสอบคุณภาพนมวัว ล้วนดำเนินการโดยเครื่องจักรทั้งสิ้น

นายธนาธร เชื่อว่า การไปดูงานครั้งนี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้และเรียนรู้กับการพัฒนาเมืองในประเทศไทยได้ในหลากหลายมิติ ทั้งเรื่องการศึกษา การสร้างห้องสมุด การพัฒนาเด็กโดยศูนย์เด็กเล็กที่มีคุณภาพ และเชื่อว่าการกระจายอำนาจ จะสามารถสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างทั่วถึง ให้กับประชาชนทุกกลุ่มมากกว่าการรวมอำนาจหรืองบประมาณไว้ที่ส่วนกลางในการตัดสินใจ

Related Posts

Send this to a friend