POLITICS

‘สติธร’ ชี้ ‘บ้านใหญ่’ มีบทบาทสำคัญต่อเลือกตั้ง 66

‘สติธร’ ชี้ ‘บ้านใหญ่’ มีบทบาทสำคัญต่อเลือกตั้ง 66 มองกติกาเลือกตั้ง เปลี่ยนแต่ละครั้ง ล้วนหวังได้เปรียบ แต่ประชาธิปไตยไม่พัฒนา

วันนี้ (16 มี.ค. 66) ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า บรรยายหัวข้อ “กติกาใหม่ กับพฤติกรรมการหาเสียงและการลงคะแนนการเลือกตั้ง” ในงานแถลงเปิดตัว “KPI Election Forum : เลือกตั้ง 66 อนาคตประเทศไทย” ที่จัดโดยสถาบันพระปกเกล้า เนื่องในโอกาสครบรอบ 25 ปี

ดร.สติธร ระบุว่า เชื่อว่ากติกาการเลือกตั้งปี 66 ที่เปลี่ยนมาใช้รูปแบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบนั้น ประชาชนอาจมีความสับสนมากขึ้น แต่ในมุมของการนับคะแนนจะง่ายกว่าครั้งที่ผ่านมา

ขณะเดียวกันการเปลี่ยนกติกามองจะกระทบ 2 ส่วนสำคัญ คือพรรคการเมือง-นักการเมือง และประชาชน ซึ่งพรรคการเมือง-นักการเมืองนั้นคงต้องมีการปรับกลยุทธให้เข้ากับสถานการณ์ เช่น การแตกแบงค์พันของพรรคการเมืองในอดีต เพื่อเก็บคะแนนกันเสียงตกน้ำ เพราะทุกคะแนนมีความหมาย บางพรรคหวังเพียงคะแนนรวมไม่หวังถึงชนะ รวมถึงการดีลกับบ้านใหญ่ บ้านรอง บ้านเล็กด้วย ส่วนพรรคการเมืองขนาดเล็กบางพรรคที่เห็นว่าตั้งใจตั้งชื่อพรรคหรือโลโก้ให้คล้ายกับพรรคใหญ่นั้น ถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่หวังทำประชาชนสับสนลงคะแนนให้ หรือเรียกว่าเอาเนียน

วันนี้เราเห็นแล้วว่ากติกาบัตรเลือกตั้งแบบ 2 ใบ พรรคใหญ่ไม่แตกแบงค์พันแล้ว ลุยเดินหน้าแลนด์สไลด์ เก็บให้ได้ทุกคะแนน ส่วนพรรคขนาดกลางโมเดลของเขาคือต้องจับมือกับบ้านใหญ่เท่านั้น เพื่อการต่อรองร่วมรัฐบาลในอนาคต รวมถึงทำพรรคการเมืองแบบรวมกับใครก็ได้ ด้านพรรคการเมืองขนาดเล็ก จำแนกออกเป็น 2 แบบ คือแบบเล็กธรรมดาที่อาจหวังได้บางเขต หรือเอาเพียงจังหวัดเดียว หวังได้เพียงเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยก็ยังดี ส่วนพรรคขนาดจิ๋ว คงอาจต้องทำงานหนักหน่อย

ดร.สติธร เชื่อว่า “บ้านใหญ่” จะกลับมามีบทบาทสำคัญต่อการเลือกตั้งปี 2566 เมื่อย้อนไปช่วงก่อนรัฐประหารปี 2557 ยุคนั้นเปรียบเหมือนรูปแบบพรรคนิยม เลือกเฉพาะพรรคล้วนๆ และแข่งขันกันไม่กี่พรรคการเมือง ซึ่งตอนนั้นอาจมีเรียกเพียงมุ้ง ไม่ได้เรียกว่า “บ้านใหญ่” ส่วนที่เรียกว่า “บ้านใหญ่” ที่มาแรกคือจากจังหวัดชลบุรี อีกทั้งอดีตหากเจาะเป็นแบบรายภาคพบพื้นที่มีความผูกขาด เช่น ภาคอีสานก็เพื่อไทย ภาคเหนือก็ต้องเพื่อไทย ส่วนภาคใต้ต้องประชาธิปัตย์ แต่วันนี้โจทย์หลักที่ทุกพรรคการเมืองต้องตระหนักคือ “วันนี้ประชาชนในพื้นที่หลักของเรา ยังเลือกพรรคเราอยู่หรือไม่” ทุกอย่างต้องรวมกันกระแสพรรค กระแสบุคคล จึงจะมีโอกาสมากขึ้น

ดร.สติธร กล่าวว่า ไม่เชื่อว่าการเปลี่ยนกติกาแต่ละครั้ง จะถือเป็นการพัฒนาประชาธิปไตยให้ดีมากขึ้น “เปลี่ยนทีไร ไม่ถูกใช้เพื่อการพัฒนาเลย เห็นแต่เพียงเปลี่ยนอย่างไรให้ตัวเองได้เปรียบ หรือเปลี่ยนอย่างไรให้อีกฝ่ายไม่ชนะ” แต่ทั้งหมดคงขึ้นอยู่กับประชาชนที่ถืออำนาจอย่างแท้จริงว่าจะเลือกอย่างไร แต่ยอมรับว่ากติกาก็มีผลไม่น้อย

ส่วนบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่สมาชิกวุฒิสภา ยังคงมีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรีได้อยู่นั้น ดร.สติธร มองว่าส่วนนี้มีความสำคัญมากต่อการเมืองไทยในอนาคต เพราะเดิมทีพรรคการเมืองหวังเพียงเสียงเกินครึ่งเท่านั้น ขณะที่พรรคเพื่อไทยก็ตั้งเป้าหมายไว้ถึง 310 เสียง ดีไม่บอกถึง 375 เสียงเพื่อเกินครึ่งตั้งรัฐบาลได้เอง เพราะพรรคคงจะประเมินความเป็นไปได้มาบ้างแล้ว อีกทั้งวันนี้ จะเห็นมีบางพรรคการเมืองวางจุดยืนแบบเข้าได้กับทุกขั้ว เข้ากับพรรคไหนก็ได้ รวมถึงกับสมาชิกวุฒิสภา เพื่อหวังผลทางการเมืองในอนาคต

Related Posts

Send this to a friend