POLITICS

‘iLaw’ แนะตั้งคำถามประชามติให้ง่าย ไม่ซับซ้อน ยืนยันต้องแก้ รธน.ทั้งฉบับ

‘iLaw’ แนะตั้งคำถามประชามติให้ง่าย ไม่ซับซ้อน ยืนยันต้องแก้ รธน.ทั้งฉบับ อย่าดึงหมวด 1-2 มาถามพ่วง เสี่ยงร่างไม่สำเร็จ-ขัดแย้งโดยไม่จำเป็น ‘มายด์’ ชี้คำถามแรก เป็นด่านพิสูจน์รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

วันนี้ (15 พ.ย. 66) กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ หรือ #conforall ประกอบด้วยโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) และเครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ (Constitution Advocacy Alliance: CALL) ผู้ริเริ่มการเข้าชื่อเสนอคำถามประชามติในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ซึ่งจัดโดยคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560

นายรัชพงษ์ แจ่มจิรไชยกุล เจ้าหน้าที่ iLaw ยืนยันในหลักการว่า การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ต้องทำทั้งฉบับ เลือกตั้ง 100% ขณะเดียวกัน อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญต้องเป็นของประชาชน ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม นายรัชพงษ์ ยังเปิดเผยถึงข้อสังเกตที่ได้ให้ไว้ในที่ประชุมว่า การตั้งคำถามที่มีเงื่อนไขมากเกินไป โดยเฉพาะเรื่องหมวด 1-2 จะทำให้เรื่องนี้เป็นประเด็นการเมืองโดยไม่จำเป็น และจะมีคนออกไปโหวตไม่เห็นชอบ จนทำให้การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่นั้นไม่สำเร็จ

นายรัชพงษ์ ย้ำว่า ที่ผ่านมากลุ่มไม่ได้มีข้อเสนออย่างเป็นรูปธรรมในการแก้ไขหมวด 1-2 ในเมื่อยังไม่มีข้อเสนอ ก็อย่าให้เป็นประเด็นโดยไม่จำเป็น เพราะเมื่อใดก็ตามที่ประชาชนเดินเข้าคูหาแล้วพบคำถามว่าหมวด 1-2 คืออะไร จนจะกลายเป็นการทำประชามติเกี่ยวกับหมวด 1-2 หรือไม่ ประเด็นทางการเมืองเกี่ยวกับหมวด 1-2 จึงไม่มีความจำเป็นเลย จึงฝากให้คณะกรรมการฯ คิดถึงข้อนี้ด้วยเมื่อทำประชามติ

“ดังนั้น คำถามจึงควรนำประชาชนเป็นปัจจัยหลัก ปัจจัยเดียวในสมการ ฝากถึงตัวกรรมการไปแล้วว่า อยากให้ท่านคิดถึงประชาชน เพราะวันนี้ ถ้าท่านทำประชามติเมื่อไร ปากกาอยู่ในมือประชาชน การตัดสินใจอยู่ในมือประชาชน ท่านต้องการเสียงกึ่งหนึ่ง ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เพื่อให้การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประสบความสำเร็จ อย่ากำหนดเงื่อนไขให้คนมีข้ออ้างออกไปโหวตโน หวังว่าการทำประชามติครั้งนี้จะเปิดกว้างและมีประชาชนเป็นที่ตั้ง” นายรัชพงษ์ กล่าว

ด้านนางสาวภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล เจ้าหน้าที่เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ กล่าวถึงแคมเปญ #conforall ภายใน 5 วันนั้น ค่อนข้างตอบได้อย่างชัดเจนว่า ประชาชนต้องการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ด้วยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) 100% เพื่อให้บอกได้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ จะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตยอย่างที่คณะกรรมการฯ ชุดนี้อยากได้จริง ดังนั้น หากคำถามประชามติไม่สามารถเขียนได้จริงอย่างที่กลุ่มได้ยื่นไปนั้น ก็ควรเปิดกว้างและเป็นพื้นฐานไปเลย เช่น “ท่านเห็นด้วยหรือไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อร่างใหม่ ?”

สำหรับคำถามพ่วงนั้น นางสาวภัสราวลี มองว่า สร้างความสับสนให้กับประชาชน และสร้างความขัดแย้งในการไปลงประชามติ ทั้งการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และการยอมรับเงื่อนไขในคำถามพ่วง ซึ่งประชาชนต้องตอบคำถาม 2 เรื่องในคำถามเดียว ซึ่งเป็นไปไม่ได้และไม่ควรเป็นเช่นนั้น จึงควรตั้งคำถามที่โอบรับกับทุกความเห็นจริง ไม่ใช่ตีกรอบว่าฝ่ายรัฐหรือผู้มีอำนาจอนุญาตให้ประชาชนมีอำนาจจัดสรรเพียงเท่าใด

“หากมีคำถามพ่วงออกมา อาจไม่เป็นการลดความขัดแย้ง อาจเป็นชนวนเหตุใหม่แห่งความขัดแย้งในระยะยาวก็ได้ เพราะมีการสร้างบรรทัดฐานใหม่โดยคณะกรรมการฯ ชุดนี้ว่า หมวด 1 หมวด 2 เป็นหมวดที่แตะไม่ได้ ทั้งที่โดยปรกติ ก็แตะได้มาโดยตลอด แก้ไขได้มาโดยตลอด คำถามในการเริ่มต้นการจัดทำประชามติจะเป็นด่านแรกในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า เราจะได้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนจริงหรือไม่ คำถามจึงต้องกว้างมากพอในการโอบรับความเห็นทุกฝ่าย ทุกจุดยืนทางการเมือง และควรกลับไปถามประชาชน ให้อำนาจในการกำหนดเนื้อหาอยู่ที่ประชาชน” นางสาวภัสราวลี กล่าว

ด้านนายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการ iLaw เปิดเผยว่า ประชาชนมากกว่า 5,000 คนโหวตผ่านทวิตเตอร์ มากกว่าครึ่งของผู้ที่โหวตนั้น ก็ไม่เห็นด้วยกับการให้เขียนรัฐธรรมนูญโดยยังคงหมวด 1-2 ไว้ ทั้งยังออกความเห็นว่า ไม่รู้จะตอบอย่างไร หรือเข้าใจผิดได้ จึงเป็นรูปธรรมชัดเจนว่า การตั้งคำถามเช่นนี้มีปัญหา การทำประชามติครั้งหน้าหากตั้งคำถามเช่นนี้ ก็เกรงว่าจะมีปัญหาจริง ขณะเดียวกัน ได้ยื่นความเห็นของประชาชนกว่า 522 ความเห็นเกี่ยวกับการใช้คำถามประชามติ ต่อนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่าง ในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 แล้ว ทั้งยังเป็นการตอกย้ำ 2 แสนเสียงที่ยื่นไปก่อนหน้านี้ ซึ่งไม่ทราบว่าเรื่องอยู่ส่วนใดของทำเนียบรัฐบาล

สำหรับกรณีที่นายภูมิธรรม ยืนยันในแนวทางของรัฐบาลที่จะไม่แตะหมวด 1-2 นั้น นายยิ่งชีพ กล่าวว่า ไม่คัดค้าน แล้วแต่แนวทางของรัฐบาล แต่เราเสนอว่าการตั้งคำถามประชามติที่ซับซ้อนจะนำไปสู่ปัญหา ซึ่งยินดีที่มีเสียงตอบรับเห็นด้วยจากกรรมการหลายท่าน เช่น ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย นายจาตุรนต์ ฉายแสง และนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ว่าคำถามประชามติครั้งแรกควรง่ายและไม่ซับซ้อน

“ผมเชื่อว่า ในการทำประชามติคือไม่ต้องถาม ถามแค่ว่า เอารัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ มาเขียนฉบับใหม่หรือไม่ ก็ได้ หรือถ้าจะให้ดีก็เขียนไปเลยว่า จะเขียนทั้งฉบับเลยเอามั้ย แบบนี้ผมเชื่อว่า ผ่าน!” ผู้จัดการ iLaw กล่าว

Related Posts

Send this to a friend