‘ก้าวไกล’ ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่อง เสนอจัดตั้ง สสร. ที่มาจาก ปชช.
ชี้ ร่างก้าวไกล-เพื่อไทย ที่เสนอไม่ขัดกับคำวินิจฉัย ศร. หวัง ประธานสภาพิจารณาใหม่
วันนี้ (15 มี.ค. 67) ที่รัฐสภา นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส. บัญชีรายชื่อ ในฐานะโฆษกพรรคก้าวไกล เข้ายื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่อง สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ฉบับก้าวไกล ต่อ นายมุข สุไลมาน เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อนำส่งถึงประธานสภา ต่อไป โดยมีเนื้อหาสาระสำคัญในการจัดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาฯ
นายพริษฐ์ กล่าวว่า แม้นายกรัฐมนตรี เคยประกาศในคำแถลงนโยบายต่อรัฐสภาว่าวาระเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล แต่ผ่านมากว่า 6 เดือน ประชาชนยังไม่ได้เห็นภาพที่ชัดเจนว่าประเทศจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และภายในเมื่อไหร่
ขณะที่คณะกรรมการศึกษาฯ ที่รัฐบาลตั้งขึ้นมา นำโดยรองนายกฯ นายภูมิธรรม เวชยชัย ได้แถลงผลสรุปเมื่อ ธ.ค. 2566 เพื่อเสนอให้รัฐบาลเดินหน้าจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยการทำ ประชามติ 3 ครั้ง ซึ่งจะต้องเริ่มต้นจากการให้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้จัดทำประชามติครั้งที่ 1 แต่ สส. พรรคเพื่อไทย นำโดยนาวชูศักดิ์ ศิรินิล ได้พยายามเดินหน้าจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยการทำ ประชามติ 2 ครั้ง ซึ่งเริ่มต้นจากการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญมาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเมื่อ ม.ค. 2567
นายพริษฐ์ กล่าวถึงจุดยืนของพรรก้าวไกล ว่าแม้พรรคก้าวไกลมีความเข้าใจถึงเหตุผลในเชิงการเมือง ที่ทำให้หลายฝ่ายมองถึงความจำเป็นในการจัดประชามติ 3 ครั้ง แต่เรายืนยันว่าตลอดว่าหากยึดตามรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ การจัดประชามติเพียง 2 ครั้ง เพียงพอแล้วในเชิงกฎหมาย
ดังนั้น ในวันนี้ที่พรรครัฐบาลพร้อมจะเดินหน้าตามสูตร “ประชามติ 2 ครั้ง” พรรคก้าวไกลเราจึงตัดสินใจยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่อง สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ฉบับก้าวไกล ซึ่งเป็นขั้นตอนแรกในกระบวนการดังกล่าว
โดยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่อง สสร. ฉบับก้าวไกล เป็นการเพิ่มหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และแก้ไข มาตรา 256 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้
1.จัดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ประกอบไปด้วยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) 200 คน ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 100 คนแบบแบ่งเขต โดยใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง โดยให้สมัครเป็นรายบุคคล และ ประชาชนสมารถเลือกผู้สมัครได้ 1 คน ผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงสุดได้รับเลือก
และ 100 คน แบบบัญชีรายชื่อ โดยใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง ใช้สมัครเป็นทีม ให้ประชาชนเลือกทีมผู้สมัครได้ 1 ทีม แต่ละทีมได้จำนวน สสร. ตามสัดส่วนคะแนนที่ได้รับ
ทั้งนี้ ระบบเลือกตั้งที่มี สสร. ทั้ง 2 ประเภท จะทำให้สภาร่างรัฐธรรมนูญมีทั้งตัวแทนเชิงพื้นที่ และตัวแทนเชิงประเด็น กลุ่มอาชีพ และกลุ่มสังคม
2.กำหนดให้ สสร. มีอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ ตราบใดที่ไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือการเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 255
3.กำหนดให้ สสร. มีกรอบเวลาไม่เกิน 360 วัน ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อให้ สสร. มีเวลาเพียงพอในการรับฟังความเห็นอย่างรอบด้านและทำงานอย่างรอบคอบ โดยไม่ทำให้กระบวนการมีความยืดเยื้อ จนทำให้ได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างล่าช้า
4.กำหนดอายุขั้นต่ำของผู้สมัคร สสร. ไว้ที่ 18 ปี ซึ่งสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยสากล ว่าอายุขั้นต่ำสำหรับการลงสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ก็ตาม มักยึดตามอายุขั้นต่ำในการมีสิทธิเลือกตั้ง
5.กำหนดให้ สสร. มีคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ประกอบไปด้วย สสร. ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนกรรมาธิการ เพื่อให้ กมธ. มีตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ของประชาชนเป็นเสียงส่วนใหญ่ และเปิดพื้นที่ให้กับคนนอกที่ สสร. คัดเลือกและอนุมติ เพื่อให้ กมธ. มีพื้นที่ให้กับผู้เชี่ยวชาญ-ผู้มีประสบการณ์ ที่อาจไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งโดยตรง
6.กำหนดให้มีการจัดทำประชามติ หลังจากที่ สสร. จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จ เพื่อสอบถามประชาชนว่าเห็นด้วยหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 4/2564
7.กำหนดให้ สสร. มีอำนาจจัดทำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พรป.) และส่งให้รัฐสภาพิจารณาเห็นชอบ หากรัฐสภาไม่เห็นชอบ พรป. ฉบับไหนของ สสร. โดยรัฐสภามีอำนาจดำเนินการต่อเองได้ เพื่อประหยัดเวลาและป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน
8.กำหนดให้ สสร. สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อได้ หากมีการยุบสภาฯ หรือ สภาฯหมดวาระ เพื่อความต่อเนื่องของ สสร. ในการทำงาน และของกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
9.กำหนดให้ สสร. ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง เช่น สส / สว / รัฐมนตรี / ผู้บริหารหรือสมาชิกสภาท้องถิ่น / ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ / ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ภายใน 5 ปีแรก เพื่อป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน
10.ปรับเกณฑ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 โดยกำหนดให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญกระทำได้ หาก ได้รับความเห็นชอบเกิน 1 ใน 2 ของสมาชิกรัฐสภา ซึ่งประกอบไปด้วย สส. ที่มาจากการเลือกตั้ง และ สว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งและ ได้รับความเห็นชอบเกิน 2 ใน 3 ของสภาผู้แทนราษฎร ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน เฉพาะในกรณีที่เป็นการแก้ไขเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ได้รับความเห็นชอบจากประชาชนผ่านประชามติ
นายพริษฐ์ ระบุว่า พรรคก้าวไกลเข้าใจว่าทางประธานรัฐสภาได้ตัดสินใจ ไม่บรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่อง สสร. ที่ถูกเสนอโดย สส. เพื่อไทย เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา โดยให้เหตุผลว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 4/2564 กำนหนดให้ต้องมีการจัดทำประชามติก่อนเสนอร่างดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณารัฐสภาฯ
นายพริษฐ์ ย้ำว่าในมุมมองของพรรคก้าวไกล การกระทำดังกล่าวของประธานรัฐสภา เป็นการตีความคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญและการตัดสินใจที่เราไม่เห็นด้วย โดยเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าประธานรัฐสภาจะทบทวนการตัดสินใจดังกล่าว และบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่อง สสร. ของทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาฯ เนื่องจากการเสนอทั้ง 2 ร่างดังกล่าวเข้าสู่รัฐสภาฯ ไม่ได้มีเป็นขั้นตอนหรือมีเนื้อหาสาระส่วนไหนที่ขัดกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 4/2564 ที่เพียงกำหนดไว้ว่าให้มีประชามติ 1 ครั้งก่อนมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และประชามติ 1 ครั้งหลังมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ภารกิจในการฟื้นฟูประชาธิปไตย ไม่สามารถประสบความสำเร็จได้หากไม่มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย เราหวังว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่อง สสร. ฉบับก้าวไกล ที่ยื่นเข้าสู่รัฐสภาในวันนี้ จะเป็นหมุดหมายสำคัญในการเดินหน้าไปสู่หมุดหมายดังกล่าว
ส่วนการร่างครั้งนี้เป็นการเปิดช่องให้คนของพรรคก้าวไกลหรือคณะก้าวหน้าหรือไม่ นายพริษฐ์ แจงว่า การให้พรรคการเมืองเข้ามีส่วนร่วมในกระบวนการการเลือกตั้ง สมาชิก สสร. ได้มากน้อยเพียงใด ในส่วนของร่างของพรรคก้าวไกลมองว่า เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม พรรคการเมืองต่าง ๆ ก็เป็นพื้นที่ตัวแทนของประชาชน ก็สามารถมีส่วนร่วมได้แต่อาจไม่สามารถส่งผู้สมัครได้โดยตรง แต่สามารถประกาศสนับสนุนผู้ลงสมัคร สสร. เป็นรายกรณีได้ไม่ว่าจะเป็นรายบุคคล หรือรายทีม
ส่วนการแบ่ง สสร. ออกเป็น 2 ประเภทเป็นคทางพรรคมีวามตั้งใจที่จะให้มี สสร. ที่มีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งที่มาจากการแบ่งเขตเพื่อที่จะทำให้มี สสร. ที่มาจากพื้นที่ต่างๆ ที่ครบคลุมทั่วประเทศ และในอีกมุมหนึ่งก็จะมี สสร. ที่เข้ามาผ่านระบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งอาจจะเป็นผู้ที่ไม่มีฐานสนับสนุนในพื้นที่ แต่อาจเป็นผู้ที่ทำงานในเชิงประเด็น ระบบแบบบัญชีรายชื่อจึงเพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลที่อยู่ในกลุ่มนี้เข้ามีส่วนร่วมในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ได้มากขึ้น