POLITICS

’ศิริกัญญา‘ เปิดเบื้องหลัง กมธ. งบปี 67 ชี้ สภามีอำนาจพิจารณาน้อย

หลังหน่วยงานใช้งบพลางไปก่อนแล้ว หวังแก้ช่องโหว่ จากผอ.สำนักงบเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อให้เป็นผู้รับชอบ เผย ปีนี้มีเรื่องแปลก คณะอนุ กมธ. งบฯ ตั้งตามกระทรวง ถามจะเกิดเหตุการณ์ผู้เข้ามาปกป้องงบให้ รมต. หรือไม่ มอง รัฐบาล กำลังหาทางลง ปม ดิจิทัลวอลเล็ต ไม่สามารถไปต่อได้

วันนี้ (15 มี.ค. 67) เวลา 10:00 น. ที่อาคารอนาคตใหม่ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 จัดแถลงข่าว Policy Watch ในหัวข้อ รวบตึงงบฯ 67 จากห้อง กมธ.“

น.ส.ศิริกัญญา ระบุว่า ปีนี้เราค่อนข้างมีทำงานกระชับเร็วขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากงบประมาณออกล่าช้าเกือบ 6 เดือน ซึ่งเท่าที่ตนจำได้ ไม่มีปีไหนที่เร็วที่สุดมาก่อน อีกสาเหตุหนึ่ง เนื่องจากมีการใช้งบประมาณในหน่วยงานราชการไปพลางก่อนแล้ว และมีการออกหลักเกณฑ์ และเงื่อนไข ที่นายกรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบตามคำแนะนำของผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และเมื่อมีการส่งแผนงานมา ผอ.สำนักงบประมาณได้อนุมัติไปแล้วเกือบ 60 เปอร์เซ็นต์

“สิ่งที่เกิดขึ้นในการอนุมัติงบประมาณไปแล้วคือหน่วยงานเริ่มใช้งบประมาณไปก่อน ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณที่ผ่านมา และเมื่อสภาเข้ามาพิจารณาเงินก้อน 3.48 ล้านล้านบาท ก็จะมีเกือบ 2 ล้านล้านบาทถูกอนุมัติและใช้ไปแล้ว ดังนั้นในความเป็นจริงสภามีอำนาจที่จะพิจารณาจริงจังแค่ 41% เท่านั้น ซึ่งวิธีการแบบนี้มีปัญหา และช่องโหว่ แม้จะเป็นการกระทำตามรัฐธรรมนูญ” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า สิ่งที่เราพบการอนุมัติหลักเกณฑ์ว่าใช้อะไรได้ อะไรไม่ได้ มีเพียงแค่คนคนเดียวที่มีอำนาจที่จะอนุมัติ คือผอ.สำนักงบประมาณ ทั้งๆ ที่มาจากการแต่งตั้ง เราเลยคิดว่าช่องโหว่ตรงนี้ ควรจะได้รับการอนุมัติโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือ นายกรัฐมนตรี เพื่อที่จะมีผู้รับผิดชอบในส่วนที่สภาไม่สามารถเข้าไปพิจารณาหรือปรับลดได้

น.ส.ศิริกัญญา เล่าอีกว่า มีการเกิดเหตุการณ์ในห้องอนุ กมธ. ที่ไปตัดงบฯ บางโครงการ แต่ต้องมาคืนภายหลัง เนื่องจากมีการใช้งบประมาณไปเรียบร้อยแล้ว เช่น โครงการจัดการยาเสพติด หลายครั้งที่รัฐบาลจัดตั้งได้อย่างล่าช้า เราอาจจะต้องเจอเหตุการณ์แบบนี้อีก จึงอยากให้เป็นบทเรียนว่าคนที่จะมีอำนาจในการอนุมัติแผนงานใช้งบประมาณไปพลางก่อนควรจะเป็นคณะรัฐมนตรี ซึ่งตามปกติแล้วในทุกปี คณะ กมธ.งบประมาณ จะต้องตั้งอนุ กมธ.มาทำงาน เพื่อพิจารณารายละเอียดที่ลงลึกในงบแต่ละสัดส่วน ที่ผ่านมาจะแบ่งตามรายการ หรือแบ่งตามผู้รับเหมาเข้าห้องงบ แต่ในปีนี้มีเรื่องแปลกใหม่ คือแบ่งกันตามกระทรวง แต่ละอนุ กมธ. ที่จะมีความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของของรัฐมนตรีที่มาสังกัดพรรคการเมืองนั้นอยู่ ยกตัวอย่างเช่น อนุ กมธ.เศรษฐกิจ จะเห็นว่าจะมีกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน เราก็จะทราบว่ารัฐมนตรีนั้น มาจากพรรครวมไทยสร้างชาติ ดังนั้นอนุ กมธ. ก็จะมาจากพรรครวมไทยสร้างชาติเช่นเดียวกัน หรือ อนุ กมธ. ทรัพยากรบุคคล อุดมศึกษา แรงงาน ซึ่งเราก็ทราบว่าจะมาจากพรรคภูมิใจไทย

ทั้งนี้ จากเรื่องดังกล่าว ก็มีเสียงบ่น เสียงห่วงใยมาจากในหลาย กมธ.และอนุ กมธ. ว่าการจัดแบบนี้ จะเกิดเหตุการณ์ที่จะมีการเข้ามาปกป้องงบของรัฐมนตรีหรือไม่ ดังนั้นเราก็ไม่ได้เห็นด้วยกับเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น แต่เป็นบทเรียนว่าในปีหน้าจะไม่มีการจัดอนุ กมธ. ในลักษณะนี้อีก ซึ่งแต่ละกระทรวงแต่ละหน่วยงานก็ถูกตัดงบไป แต่สิ่งที่เราสังเกตุเห็นได้ว่ามันมีความพยายามที่จะเร่งในช่วงอาทิตย์สุดท้ายของการพิจารณาพิจารณาอนุ กมธ. เช่นรายการใหญ่ๆ เช่น เรือฟริเกต หรือการก่อสร้างรันเวย์ที่สองสนามบินอู่ตะเภาของกองทัพเรือ ก็ถูกตัดวันสุดท้าย ก่อนจะมีการอุทธรณ์ และคืนงบไป และยังมีอีกหลายรายการที่ตัดในห้อง กมธ.ใหญ่ ในส่วนแผนบูรณาการถูกตัดงบฯ มากที่สุด ถึง 3,000 ล้านบาท เนื่องจากไม่มีเจ้าที่ ไม่มีเจ้าภาพ แต่สุดท้ายก็มีการอุทธรณ์ เช่น กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ที่ถูกตัดงบประมาณถึง 1,500 ล้านบาท จากงบที่ได้กว่า 2,000 ล้านบาท ก่อนจะมีการอุทธรณ์ และคืนงบไป

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวสรุปว่า ทั้ง 8 อนุ กมธ. ตัดงบฯ ในปีนี้ไปได้ 9,024 ล้านบาท โดยเงินส่วนนี้ก็จะถูกเฉลี่ยไปที่หน่วยงานที่ของบเพิ่ม ซึ่งส่วนใหญ่จะไปลงที่งบกลาง โดยกระทรวงที่ได้งบเพิ่ม คือกระทรวงแรงงาน เนื่องจากเราเห็นว่าควรจะได้เงินสมทบสำนักงานประกันสังคม ซึ่งทุกวันนี้ผู้ประกันตนกำลังถูกรัฐบาลเล่นตุกติกอยู่ เนื่องจากไม่เคยจ่ายดอกเบี้ยครบ ไม่เคยจ่ายเงินสมทบ แต่ขณะเดียวกัน กระทรวงที่ถูกตัดงบที่สุดคือกระทรวงกลาโหม โดยรายการใหญ่ที่สุดที่ถูกตัดคืองบฯ จัดซื้อเรือฟริเกตของกองทัพเรือ รองลงมาคือกระทรวงมหาดไทย ในการตัดงบฝายดินซีเมนต์

น.ส.ศิริกัญญา ย้ำว่า สาเหตุที่อยากโยกงบฯ ไปงบกลาง เนื่องจากการจัดสรรงบผิดพลาดใน 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ต้องชดใช้เงินคงคลังเกือบ 1.2 แสนล้านบาท แทนที่ควรตั้งเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญ เงินชำระหนี้ให้ได้ ที่ผ่านมามีการตั้งงบไว้ขาด ปีนี้ก็ยังตั้งงบไว้ไม่เพียงพออีก ทำให้ต้องแปรเพิ่มให้กว่า 7,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีการส่งเงินไปที่เงินสำรองใช้จ่ายฉุกเฉินยามจำเป็น ซึ่งตรวจสอบได้ยาก เนื่องจากนายกรัฐมนตรีมีอำนาจเต็ม กมธ.ในสัดส่วนของพรรคก้าวไกล จึงมีการเจรจาอนุมัติให้แลกกับเพิ่มเงินในกองทุนประกันสังคม

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า มีการตั้งข้อสงสัยว่าการโยกงบไปอยู่ที่งบกลางนั้น เป็นเพราะจะนำไปทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ตหรือไม่ น.ส.ศิริกัญญา ระบุว่า ไม่น่าจะเป็นไปได้ เนื่องจากงบที่ได้คนละไซส์กับดิจิทัลวอลเล็ต ถือเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะไม่เกิดขึ้นภายในงบ 67 แน่นอน เพราะยังไม่มีแหล่งที่มาของเงินที่ชัดเจน และจนถึงวันนี้ครบ 30 วัน หลังจากที่มีการประชุมคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ และไม่มีการนัดประชุมอีกเลย รวมถึงไม่มีการแจ้งล่วงหน้าแต่อย่างใด จึงเท่ากับว่ากระบวนการล่าช้าออกไปอีก ทั้งนี้เข้าใจว่านายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ว่าอาจเป็นมาจากการที่คณะอนุกรรมการยังทำงานไม่แล้วเสร็จ ซึ่งไม่แน่ใจว่าที่ไม่แล้วเสร็จ เพราะไม่ได้คำตอบที่น่าพอใจจากการไปรับฟังภาคส่วนต่างๆ ใช่หรือไม่

เมื่อถามถึงการยืนยันว่าเป็นการหาทางลงของรัฐบาลใช่หรือไม่ น.ส.ศิริกัญญา ตอบว่า ที่ผ่านมาพรรคก้าวไกลยืนยันมาตลอดว่ารัฐบาลเลือกเส้นทางที่ลุยไฟมากที่สุด วันนี้เห็นได้ชัดว่าไม่มีทางที่จะไปต่อแล้ว และน่าจะกำลังหาทางลงอยู่ตามที่มีหลายคนตั้งข้อสังเกตไว้ เพราะมองว่าแม้จะไม่ได้ทำโครงการนี้ รัฐบาลไม่ต้องกังวลอะไรมาก เพราะจากที่ทำโพลออกมา ประชาชนอาจจะเสียใจแต่ไม่โกรธรัฐบาล

Related Posts

Send this to a friend