POLITICS

’พิธา‘ ส่ง 3 คำถามถึงรัฐบาล หาความคุ้มค่าลงทุนแลนด์บริดจ์ 1 ล้านล้านบาท

’พิธา‘ ส่ง 3 คำถามถึงรัฐบาล หาความคุ้มค่าลงทุนแลนด์บริดจ์ 1 ล้านล้านบาท ถามให้สัมปทานเอกชน แล้ววิถีชีวิต สิ่งแวดล้อมที่กระทบจะทำอย่างไร

วันนี้ (15 ก.พ. 67) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายรายงานผลการศึกษาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทย-อันดามัน (โครงการแลนบริดจ์) โดยระบุว่าในรายงานยังมีคำถามที่ไม่มีคำตอบ โดยนายพิธา ได้เปิดเล่มรายงานผลการศึกษาไปที่หน้า ฉ. ที่เขียนว่า “อาจจะสามารถลดระยะเวลาและระยะทางในการขนส่ง ซึ่งจะมีการศึกษาเพิ่มเติม” และหน้า 55-57 ก็มีคำถามจากเอกชนประมาณ 20 ข้อ ที่ยังไม่มีความชัดเจน

ส่วนตัวคิดว่ารัฐบาล และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องควรตอบ 3 คำถามสำคัญของตนเองได้ ประกอบด้วย คำถามที่ 1 เราจะลงทุนเงิน 1 ล้านล้านบาท รูปแบบการลงทุนแบบ PPP ในโครงการแลนด์บริดจ์โครงการเดียว โดยไม่มีทางเลือกอื่นที่มีการลงทุนที่เหมาะสมกว่านี้ใช่หรือไม่

คำถามที่ 2 การจัดการความเสี่ยงจากผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคม ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ทำอย่างไร เราพูดถึงข้อดี แต่ไม่มีใครพูดถึงความเสี่ยง หรือข้อเสีย ซึ่งควรจะรวมอยู่ในรายงานฉบับนี้ด้วย

คำถามที่ 3 วิสัยทัศน์พัฒนาภาคใต้และประเทศไทย เราอาจจะพัฒนาพื้นที่นี้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก หรือเส้นทางเสริมเรือฟีดเดอร์ได้

นายพิธา กล่าวต่อว่าเม็ดเงิน 1 ล้านล้านบาท เราจะทำอะไรเพื่อชุมชนพี่น้องภาคใต้และยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศได้บ้าง โดยเสนอการลงทุนที่จำเป็นต่อพี่น้องภาคใต้ในราคา 4.8 แสนล้านบาท ครึ่งหนึ่งของงบลงทุนโครงการแลนด์บริดจ์ เพื่อเชื่อมต่อภาคใต้กับมาเลเซีย หรือสิงคโปร์ ให้เป็นแหล่งพลังงานสะอาด ภาคใต้เรามีพลังงานหมุนเวียน 100% 2 พันกว่าเมกะวัตต์ หากในอีก 20 ปีข้างหน้า มาเลเซียหรือสิงคโปร์ อยากลงทุนภาคใต้เราก็มีให้

นอกจากนี้ยังสามารถใช้งบประมาณดังกล่าว พัฒนาพื้นที่ชลประทานภาคใต้ 3 ล้านไร่ หรือเพิ่มมูลค่าให้สินค้าเกษตร อย่างยาง ปาล์ม และผลไม้ โดยพื้นที่พัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ ยังครอบคลุมพื้นที่มรดกโลก 6 แห่ง หากเดินหน้าโครงการ อาจสร้างความเสียหายกับพื้นที่ชุ่มน้ำแรมซาร์ ซึ่งเต็มไปด้วยพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธาร หากมีการเวนคืนก็จะโดนพื้นที่สวนผลไม้ สวนทุเรียน มูลค่าสูงหลายหมื่นไร่ เกิดการกัดเซาะชายฝั่ง น้ำมันรั่วและอุบัติภัยทางทะเล รวมทั้งสูญเสียพื้นที่ประมง ซึ่งเป็นต้นทุนที่เราต้องจ่ายให้กับโครงการแลนด์บริดจ์ ที่ประเมินมูลค่าไม่ได้ ทั้งยังมีกลไกพิเศษที่ให้สัมปทานกับเอกชนหรือต่างชาติ มีอะไรรับประกันความเป็นอยู่ และความเป็นธรรมของชีวิตคนและสิ่งแวดล้อมที่ต้องเสียไปหรือไม่

นายพิธา เปิดข้อมูลมูลค่าการท่องเที่ยวภาคใต้ที่สูงถึง 7 แสนล้านบาทต่อปี หากได้รับผลกระทบ 10% ในระยะเวลา 50 ปี อาจจะสูญเสียมูลค่าการท่องเที่ยว 3.5 ล้านล้านบาท แลกกับการที่ประเทศไทยเป็นฮับเรือขนส่งสินค้าเพิ่มเติมจากเส้นทางการเดินเรือหลัก การใช้ส่วนแบ่งการเดินเรือภูมิภาคมี 3 องค์ประกอบคือ เร็วกว่า สะดวกกว่า ถูกกว่า แต่จากรายงานก็ยังอนุมานไม่ได้ว่าจะเร็วกว่าอย่างไร เพราะไม่มีรายละเอียด สะดวกกว่าอย่างไร ในเมื่อต้องมีเรือมารอทั้งสองฝั่ง ย้ายจากระบบรางเป็นรถ และกลับไปเป็นเรืออีก สินค้าเสียหายใครจะรับผิดชอบ คณะกรรมาธิการฯ ชุดนี้ และรัฐบาลต้องตอบ 3 คำถามนี้ได้ ไม่เช่นนั้นตนเองก็ไม่สามารถรับรายงานฉบับนี้ได้

Related Posts

Send this to a friend