ประภัตร เชื่อ มีปัจจัยอื่นแทรกซ้อนทำหมูแพง นอกเหนือจากต้นทุนสูง และ ASF
เตรียมตั้งวอร์รูมควบคุม-ป้องกันโรคอย่างเข้มข้น
นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยกรณีข่าวต้นเหตุราคาเนื้อสุกรแพงขึ้นจากการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ว่า จากการตรวจสอบข้อมูล พบว่าตั้งแต่ปี 2564 มีลูกสุกรเข้าคอกเลี้ยงเฉลี่ยราว 350,000 ตัว ปัจจุบันปริมาณลูกสุกรเข้าเลี้ยงก็ยังคงมีตัวเลขใกล้เคียงกัน และยังมีจำนวนสุกรเข้าโรงเชือดในปริมาณคงที่มาโดยตลอด จึงเป็นที่น่าสนใจว่าเหตุใดราคาเนื้อสุกรจึงแพงขึ้น
นายประภัตร ระบุว่า หนึ่งในปัจจัยสำคัญอาจมาจากการกักตุนสินค้าในช่วงเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2564 ซึ่งเป็นฤดูกาลท่องเที่ยว จึงได้ประสานกระทรวงพาณิชย์ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง
ส่วนกรณีการพบการระบาดของโรค ASF นั้น กรมปศุสัตว์จะจัดตั้งวอร์รูมขึ้นทั่วประเทศ เพื่อสแกนพื้นที่เสี่ยงการเกิดโรค ยืนยันว่าพร้อมเข้าช่วยเหลือผู้เลี้ยงสุกรโดยเฉพาะรายเล็กและรายย่อย ด้วยการยกระดับมาตรการควบคุมป้องกันโรคอย่างเข้มข้น ซึ่งการดำเนินการในครั้งนี้ จะมีอาสาปศุสัตว์เข้ามาเป็นส่วนสำคัญที่จะเสริมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่