‘พิพัฒน์’ ตั้งเป้ายกฐานะของกระทรวงแรงงานเป็นกระทรวงเศรษฐกิจที่สมบูรณ์แบบ
วันนี้ (14 ก.ย. 66) ที่กรมสวัสดิการ และคุ้มครองแรงงาน อาคารกระทรวงแรงงาน นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายกระทรวงแรงงาน ประจำปีงบประมาณ 2567 ภายใต้แนวนโยบาย “ทักษะดี มีงานทำ ประกันสังคมเด่น เน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” โดยที่ประชุม ได้มีข้อสั่งการ ดังนี้
1.กระทรวงจะดำเนินการตามนโยบายที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 11 – 12 ก.ย. 66 โดยขอให้ผู้บริหารทุกหน่วยงานร่วมกันผลักดันนโยบายให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว
2.การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ไม่มีการซื้อขายตำแหน่งโดยเด็ดขาด
3.ห้ามข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ยุ่งเกี่ยวกับการทุจริต ประพฤติมิชอบ ทุกประเภท รวมทั้งการเรียกรับผลประโยชน์จากนายจ้าง และผู้ใช้แรงงาน
4.ให้ผู้บริหารทุกหน่วยงานประสานความร่วมมือระหว่าง 4 กระทรวง โดยตั้งคณะทำงานเพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม ตั้งแต่กระทรวงมหาดไทย / กระทรวงศึกษาธิการ / กระทรวง อว. / ซึ่งเป็นกระทรวงทางสังคม
5.กองทุนประกันสังคมต้องมีการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และมีความยั่งยืน
6.ผู้ประกันตนต้องได้รับการบริการทางด้านสุขภาพ อนามัย การรักษาพยาบาลที่ดีขึ้นกว่าเดิม โดยนำ E – Claim เข้ามาใช้
7.พื้นที่ (จังหวัด) ที่มีแรงงานต่างด้าวต้องมีการจัดทำทะเบียนควบคุม และบริหารจัดการโดยเชื่อมโยงกับสวนกลางอย่างมีประสิทธิภาพ
8.หน่วยงานต้องบริหารแผนงาน / แผนเงิน ให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างเต็มประสิทธิภาพ
นายพิพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จะพยายามยกฐานะของกระทรวงแรงงานเป็นกระทรวงเศรษฐกิจที่สมบูรณ์แบบเพราะที่ผ่านมาเหมือน “หินรองเท้า” เพราะเราเกี่ยวเนื่องกับทุกภาคส่วน
นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้ปลัดกระทรวงฯ ไปดูเรื่องของผู้ใช้แรงงานที่มีการกู้เงินนอกระบบ หากไม่ผิดเงื่อนไขก็จะให้ประกันสังคมเอาทุนบางส่วนมาให้ผู้ใช้แรงงานกู้ เพื่อนำไปจ่ายหนี้นอกระบบ รายละ 50,000 บาท และให้นายจ้างในระบบหักคืนประกันสังคม แต่อย่างไรก็ต้องไปหารือก่อน เป็นเพียงการวางแนวนโยบาย และหากกฎหมายมีช่องทำได้ ก็จะทำทันที
ในขณะนี้ ยังได้สั่งการให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน พัฒนาฝีมือแรงงานไทย เพื่อให้เลยกับดักค่าแรง 400 บาทต่อวัน แต่ทั้งนี้จะยังไม่ประกาศเป็นค่าแรงขั้นต่ำ เพราะขึ้นค่าแรงตามการพัฒนาฝีมือแรงงาน
สำหรับการขยายตลาดแรงงานออกไปสู่ต่างประเทศ คาดว่าจะมี 5-6 หมื่นคน โดยปีหน้าตั้งเป้าหมาย 1 แสนคน ขอความร่วมมือจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงานคนไทย ในกลุ่มที่ต่างประเทศต้องการ เพื่อส่งแรงงานเราไปทำงานต่างประเทศ ลดการเสียดุล เพราะปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวในไทย 4 ล้านคนโดยประมาณ คิดเป็นเงินที่ต้องจ่ายค่าจ้างประมาณ 4 แสนกว่าล้าน มองว่า ประเทศไทยขาดดุลการค้าในส่วนนี้
“ประเทศไทยกำลังขาดแคลนแรงงานในระดับล่าง การพัฒนาทักษะฝีมือนอกจากแรงงานไทยแล้ว กระทรวงแรงงานจะเข้าไปพัฒนาในส่วนของแรงงานเพื่อนบ้านเพื่อดึงดูดแรงงานที่มีคุณภาพ อีกทั้งเรามีแนวคิดให้งานทำแก่ผู้ลี้ภัยให้เขามีรายได้ตามหลักสิทธิมนุษยธรรมด้วย” นายพิพัฒน์ กล่าว