POLITICS

ศักดิ์สยาม เตรียมชง สร้างแลนด์บริดจ์ 1.1 ล้านล้าน รับโลจิสติกส์อาเซียน

วันนี้ (14 ก.ย. 65) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเปิดการประชุมคณะทำงานด้านการขนส่งของเอเปค ครั้งที่ 52 (the 52nd APEC Transportation Working Group: TPTWG52) ว่า กระทรวงคมนาคมได้จัดทำข้อมูลการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง และโลจิสติกส์ของประเทศไทย ครอบคลุมทั้งทางบก น้ำ ราง และทางอากาศ ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561-2580) โดยนำเสนอให้กับประเทศสมาชิก ทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ ได้รับทราบ เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ในภูมิภาคอาเซียน

นอกจากนี้ จะมีการหารือเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เพื่อวางนโยบายสีเขียวและการลดคาร์บอน ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะนำไปสู่การขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามแนวคิด BCG Economy และการใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะเพื่อการขนส่งที่ยั่งยืนในภูมิภาค

ที่ประชุมยังได้มีการหารือและรับรองแผนยุทธศาสตร์ด้านการขนส่งของเอเปค ปี 2565 – 2568 (TPTWG Strategic Action Plan 2022 – 2025) ซึ่งจะเป็นกรอบการทำงานและแนวทางในการพัฒนาแผนงานประจำปี และกิจกรรมของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญใน 4 สาขา รวมถึงโครงการต่างๆ ในกรอบเอเปคด้านการขนส่ง เพื่อบรรลุตามวิสัยทัศน์ปุตราจายาภายใต้กรอบเอเปค ปี ค.ศ. 2040 ที่มุ่งสร้างเขตเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิกที่เปิดกว้าง มีพลวัต ยืดหยุ่น และสันติสุข เพื่อความรุ่งเรืองของประชาชนและคนรุ่นหลัง

นายศักดิ์สยาม ยังกล่าวถึงโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมอ่าวไทย – อันดามัน หรือ Southern Landbridge ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ว่า เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งของภูมิภาค ขณะนี้ผลการศึกษาใกล้แล้วเสร็จ คาดว่าจะนำเสนอผลการศึกษาต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ภายในปีนี้ เพื่อที่ปี 2566 จะได้เป็นปีของการโรดโชว์ ดึงผู้ประกอบการสายการเดินเรือต่างประเทศเข้ามาลงทุน

เบื้องต้น มีผู้ประกอบการทั้งจากยุโรปและตะวันออกกลางให้ความสนใจ โดยหลังจากโรดโชว์แล้ว จะดำเนินการเรื่องการลงทุนก่อสร้าง ซึ่งตามแผนการลงทุนโครงการ Southern Landbridge มีเป้าหมายเปิดให้บริการในปี 2573 เพื่อเป็นเส้นทางเดินเรือใหม่ของโลก เป็นจุดเชื่อมต่อการขนส่งและเศรษฐกิจใหม่ทางทะเล เป็น Transshipment การขนส่งสินค้าของภูมิภาค ที่สามารถเชื่อมการขนส่งกับเส้นทางมอเตอร์เวย์ และทางรถไฟ คู่ขนาน

สำหรับเงินลงทุนเบื้องต้น ประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท หากโครงการแล้วเสร็จ คาดว่าจะสร้างความเชื่อมโยงระหว่างเขตเศรษฐกิจใน APEC อย่างไร้รอยต่อ ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ไปพิจารณาศึกษาและความเป็นไปได้ในการดำเนินการ ส่วนรูปแบบการลงทุน จะต้องไปศึกษาว่า จะเป็นรัฐร่วมลงทุนกับเอกชน หรือเอกชนลงทุน 100% ในการบริหารการเดินเรือ ภายใต้อัตราผลประโยชน์ทางเศรษฐศาสตร์ของโครงการ (EIRR) ที่เหมาะสม เพื่อประโยชน์ของส่วนรวมและประเทศชาติ

Related Posts

Send this to a friend