POLITICS

‘สมชัย’ เปิด 3 แนวทางพิจารณา ‘พิธา’ ถือหุ้นไอทีวี

‘สมชัย’ เปิด 3 แนวทางพิจารณา ‘พิธา’ ถือหุ้นไอทีวี โจทย์ใหญ่คือ “ไอทีวียังเป็นสื่อหรือไม่”

หลังจากเมื่อวานนี้ (13 มิ.ย. 66) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ยื่นเอกสารเพิ่มเติมต่อ กกต. กรณีการถือครองหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในประเด็นที่ กกต. ตั้งคณะสืบสวนสอบสวนและไต่สวนฯ ตามมาตรา 151 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมือง และการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต และอดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับกรณีนี้ไว้ว่า ประเด็นมาตรา 151 ชึ้นอยู่กับว่านายพิธา รู้ว่าขาดคุณสมบัติแล้วมาสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ ดังนั้นต้องดูคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) และมาตรา 42 (3) แห่งพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 ประกอบ ซึ่งมีเรื่องการเป็นเจ้าของ และถือหุ้นสื่อ

การมีหลักฐานว่า นายพิธาโอนหุ้น จำนวน 42,000 หุ้นให้กับน้องชายในวันที่ 25 พ.ค.66 ซึ่งเกิดขึ้นหลังวันรับสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ (4 เม.ย.66) การวินิจฉัยจึงค่อนข้างชัดว่านายพิธามีหุ้นอยู่ในมือ ไม่ใช่การสละมรดก จึงเหลือประเด็นเดียวในการต่อสู้คือ “ไอทีวี เป็นสื่อหรือไม่”

นายสมชัย กล่าวถึง 3 แนวทางการพิจารณาคดีหุ้นไอทีวีของนายพิธา ตามมาตรา 151 ประกอบด้วย

1.การยอมรับว่ามีหุ้นและโอนหุ้น หลังวันรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.

2.บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เป็นกิจการสื่อหรือไม่

3.ถ้าเป็นสื่อแล้วผิดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญหรือไม่

ส่วนประเด็นที่ กกต.ไม่รับคำร้องกรณีนายพิธา มีคุณสมบัติลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ จากการถือหุ้นไอทีวี แต่กลับมีการตั้งคณะกรรมการไต่สวนเอาผิดตามมาตรา 151 แทน นายสมชัย มองว่าเป็นจังหวะเวลา เพราะขณะนี้ไม่สามารถส่งเรื่องตรวจสอบคุณสมบัติไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้ เรื่องจากเป็นคำร้องที่ยื่นเกินระยะเวลาที่จะรับคำร้องไว้พิจารณา

ทั้งนี้ กกต.อาจไม่ปลอดภัย หากจะวินิจฉัยเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะยังไม่มีคำวินิจฉัยใดยืนยันว่านายพิธาผิดจริง แต่ถ้าเชื่อมั่นในหลักฐานที่มีก็เสี่ยงร้องดำเนินคดีตามมาตรา 151 ส่วนตัวมองว่า กกต.ไม่กล้าทำอาจจะแค่เตรียมร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และใช้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นตัวเสริม ซึ่งอาจจะเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นหลังประกาศรับรอง ส.ส.

ส่วนประเด็นที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีระบุว่า ผู้ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยึดติดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว จะไม่มีสิทธิเข้าไปโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ถือเป็นความเข้าใจผิด เปรียบเทียบกรณีจองนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุติปฎิบัติหน้าที่แต่ก็มาในวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ไม่ได้ไปริดรอนสิทธิ ดังนั้นการส่งสัญญาณของนายวิษณุ ค่อนข้างประหลาด เกรงว่าหากนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ แล้วเกิดปัญหาจะรับผิดชอบไม่ไหว เป็นตัวสะท้อนฉากทัศน์ จะมีการสั่งให้ยุติปฎิบัติหน้าที่หรือไม่

สำหรับหลักฐานที่นายเรืองไกรยื่นต่อ กกต.จะมีผลต่อการพิจารณาหรือไม่ นายสมชัย กล่าวว่า กกต.จะดูหลักฐานหลายอย่างประกอบกัน โดยหลักฐานชิ้นหนึ่งที่ถูกทำลายไปแล้วคือ คลิปวิดีโอการประชุมผู้ถือหุ้นที่มีข้อความขัดแย้งกับรายงานการประชุม ทั้งนี้คลิปวิดีโอที่มีการเผยแพร่จะต้องมีการยื่นให้กับ กกต.เพื่อประกอบการพิจารณาด้วย ส่วนจะมีหลักฐานอื่น ๆ อีกหรือไม่ เป็นเรื่องของนายพิธาและพรรคก้าวไกลในการพิสูจน์กับ กกต. ต้องสู้ในขั้นของ กกต.ให้ชนะ

การพิสูจน์หลักฐานงบการเงินที่นายเรืองไกรนำมายื่นต่อ กกต.ว่าจะของจริงหรือไม่จริง พิสูจน์ไม่ยาก กกต.ไม่ได้สนใจว่าจะเป็นการกลั่นแกล้งหรือไม่ แต่สนใจกับเอกสารหลักฐานที่มีอยู่ หากเป็นเอกสารปลอม หรือทำขึ้นภายหลัง จะถือเป็นเอกสารปลอมไม่สามารถรับเป็นหลักฐานได้

นายสมชัย ย้ำถึงสถานะของไอทีวี ต้องดูว่าเป็นสื่อมาโดยตลอดหรือไม่ หรือเพิ่งเป็นสื่อหลังมีกำไรจากการประกอบธุรกิจ หากเป็นสื่อมาโดยตลอดก็เท่ากับว่านายพิธาถือหุ้นสื่อ ซึ่งก็ต้องพิจารณาว่าขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ ส่วนตัวยืนยันว่าไม่ขัดถือได้ เพราะไม่ได้มีสัดส่วนมาก และบริษัทดังกล่าวก็ไม่สามารถทำให้เห็นว่าโน้มน้าวจูงใจคนอื่นได้

Related Posts

Send this to a friend