POLITICS

ชัชชาติ’ เสียใจ พื้นที่การเรียนรู้เด็กชุมชนโรงหมู ถูกรื้อ ชี้ กทม. ต้องเพิ่มแหล่งเรียนรู้ให้เด็ก

‘ชัชชาติ’ เสียใจ พื้นที่การเรียนรู้เด็กชุมชนโรงหมู ‘โอเอซิสแห่งคลองเตย’ ถูกรื้อ ชี้ กทม. ต้องเพิ่มแหล่งเรียนรู้ให้เด็ก เป็นนโยบายสำคัญ ปลดล็อกกรุงเทพเมืองเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เรียนฟรีต้องมีจริง เพิ่มสวัสดิการเด็กและครู ลดภาระค่าใช้จ่ายให้ผู้ปกครอง หลัง กสศ. พบ กรุงเทพ มีค่าใช้จ่ายเปิดเทอม สูงกว่าทั้งประเทศ 2 เท่า

“โห !!! เกลี้ยงเลย หายไปหมดเลย น่าเสียดาย และน่าเสียใจมากครับ ที่นี่เหมือน โอเอซิส ของคลองเตย เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็ก ๆ ได้มาก”

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัคร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หมายเลข 8 กล่าวทันทีที่เห็น พื้นที่การเรียนรู้ชุมชนโรงหมู เขตคลองเตย ที่นายชัชชาติ เคยใช้เป็นสถานที่เปิดตัวทีมงาน Better Bangkok เมื่อวันที่ 30 พ.ย.2562 ถูกรื้อถอนให้กลายเป็นสถานที่รกร้าง และถูกกั้นรั้วปิดกั้นไม่ให้เข้าพื้นที่ ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้เคยเป็นสถานที่จัดกิจกรรมของเด็ก ๆ ในชุมชนคลองเตย ได้เข้ามาเรียนรู้ เล่นดนตรี และเล่นกีฬา มา 4-5 ปี โดยโครงการคลองเตยดีจัง ร่วมกับชุมชน พัฒนาพื้นที่โรงฆ่าสัตว์เก่า ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ (Learning Space) ให้กับเด็กๆ

“เด็กๆในชุมชนโรงหมู และหลายชุมชนในเขตคลองเตย ไม่มีพื้นที่สำหรับการทำกิจกรรม ที่ผ่านมาเด็กต้องเล่นริมถนน แอ๋มสอนเด็กๆที่นี่มา 9 ปี เห็นปัญหาว่าเราไม่มีสถานที่แบบนั้นจริงๆ เลยหาสถานที่รกร้าง ก็พบที่โรงฆ่าสัตว์เก่าไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว เลยขอทางเจ้าของพื้นที่มาใช้เป็นพื้นที่ให้เด็กได้มาเรียนพิเศษ เล่นดนตรี เล่นกีฬา ทำงานศิลปะ ฝึกอาชีพ โดยมีพ่อแม่ ผู้ปกครองคนในชุมชนมาช่วยกันทำได้ 4-5 ปี ก็เห็นผลมาก และกำลังจดจะเบียนเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่มีวุฒิบัตรให้เด็กๆด้วย”

ครูอ๋อมแอ๋ม ศิวพร พรหมวงศ์ ผู้จัดการโครงการคลองเตยดีจัง บอกกับนายชัชชาติ ว่า เจ้าของพื้นที่คือการท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้ทำการรื้อถอนโรงหมูเก่า ไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ทำให้เด็กและผู้ปกครอง รวมถึงโครงการคลองเตยดีจัง เสียดายที่ไม่มีพื้นที่การเรียนรู้ให้กับเด็ก ๆ แล้ว ซึ่งที่ผ่านมาเด็กได้เข้ามาทำกิจกรรม 100-200 คน มีทั้งเด็กที่อยู่ในชุมชนและนอกชุมชน รวมถึงเด็กที่เคยมีปัญหายาเสพติด ก็ได้เข้ามาใช้ประโยชน์ พอพื้นที่ถูกรื้อ ทางโครงการก็พยายามให้เด็กได้เข้าไปเรียนรู้ในที่ใหม่ แต่ก็ทำได้เพียง 10-20 คนเพราะสถานที่ไกลขึ้น จึงอยากเห็นผู้ว่าฯกทม.คนใหม่ ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้

ครูอ๋อมแอ๋ม ศิวพร พรหมวงศ์ ผู้จัดการโครงการคลองเตยดีจัง

นายชัชชาติ กล่าวว่า พื้นที่การเรียนรู้ชุมชนโรงหมู เปรียบเหมือน โอเอซิสแห่งคลองเตย เพราะให้เด็กได้มาทำกิจกรรม เล่นดนตรี มีอาสาสมัคร มีค่ายมวย มีการจัดงานเทศกาลดนตรี ศิลปะ สตรีทอาร์ท ที่ดีมาก มาตอนนี้เหมือนถูกระเบิดกลับมาเป็นพื้นที่รกร้าง ทำให้รู้สึกเหมือน ความฝันของเด็ก ๆ ถูกทำลายลง

ศ.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาสังคม กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. ระบุว่า ‘โอเอซิส’ ที่นายชัชชาติ กล่าวถึงเป็นคำที่ทำให้เห็นว่าเวลามีพื้นที่เล็ก ๆ สามารถรวมได้ เป็นแหล่งน้ำให้เด็กเติมเต็ม ไปต่อได้ ถ้าไม่มีพื้นที่แบบนี้มันกระจัดกระจาย น้ำที่หล่อเลี้ยงเด็กจะหายไป ซึ่งโอเอซิส ยังเป็นแหล่งรวม ป้องกันความรุนแรงด้านยาเสพติด จึงน่าเสียด่ายหากจะปล่อยโอเอซิสของกรุงเทพแบบนี้ กลายเป็นสถานที่ที่ไม่เห็นประโยชน์เลย

นายชัชชาติ ยังได้ร่วมพูดคุยปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ที่บริเวณลานกีฬาชุมชนแฟลต 22-23 ซึ่งกลายเป็นพื้นที่เดียวที่ให้เด็กในชุมชนบริเวณนั้นมาเล่นกีฬาและซ้อมดนตรี และจากการวิจัย ของ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ.ที่พบว่า กรุงเทพ เมืองพัฒนาที่สุดแต่เหลื่อมล้ำที่สุดในประเทศไทย โดยเฉพาะภาระค่าใช้จ่ายการศึกษารับเปิดเทอม พบ กทม.มีสูงกว่าทั้งประเทศ 2 เท่า มีความเหลื่อมล้ำทั้งโอกาสและคุณภาพการเรียนรู้ ครัวเรือนจนสุด-รวยสุด ใช้จ่ายเพื่อการศึกษาห่างกันถึง 12 เท่า

ศ.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาสังคม กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

“กทม.เป็นพื้นที่พิเศษ เปิดเทอมค่าใช้จ่ายสูงมาก จึงอยากเห็นมุมมองการปรับค่าใช้จ่ายรายหัวของ กทม. จากว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. 10 กว่าปีไม่ปรับ จึงอยากถามเรื่องนี้ว่า การปรับค่าใช้จ่ายรายหัว เรียนฟรีให้จริง จะทำได้หรือไม่” ศ.สมพงษ์ ตั้งคำถามถึงนายชัชชาติ

“การแก้ไขการเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ลูกต้องดีกว่าพ่อแม่ อย่างที่ผมเคยพบ น้องพรทิพย์ เด็กจากชุมชน 70 ไร่ เรียนจบ ป.เอก ทำให้เห็นว่าจากการศึกษา เป็นหัวใจสำคัญที่ลดความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะการศึกษาอายุ 0-6 ปี สำคัญที่สุด กทม.ต้องมีศูนย์ก่อนวัยเรียน”

นายชัชชาติ เปิดเผยถึงนโยบายด้านการศึกษา ที่ต้องส่งเสริมคุณภาพชีวิตของเด็กด้วย ทั้งการเพิ่มอาหารกลางวันให้เด็กปฐมวัยที่ได้เพียงวันละ 20 บาท การเพิ่มสวัสดิการครูพี่เลี้ยง ที่ได้เงินเดือนเพียง 15,000 บาท ต้องดูแลศูนย์ก่อนวัยเรียนให้ดี ให้ทั่วถึงครบถ้วน กทม.ต้องดูตรงนี้ คุณภาพโรงเรียนต้องดี 3 ภาษา มีคอมพิวเตอร์ และจะมีนโยบายเปิดโรงเรียนเสาร์อาทิตย์ เป็นศูนย์การเรียนรู้ ให้เด็กมาทำกิจกรรมเล่นดนตรี ในวันเสาร์และอาทิตย์ได้ เพราะ ร.ร.เป็นพื้นที่ปลอดภัย ต้องเปิดให้เด็ก มาทำกิจกรรม ที่โรงเรียนมีอินเตอร์เน็ตฟรี เด็กใช้ได้ ให้ชุมชนช่วยดูแล ป้องกันความเสียหายที่โรงเรียนเป็นห่วงได้ เช่นโครงการ Saturday School จะเป็นแรงบันดาลใจ เป็นสิ่งที่ดี ให้เด็กได้ทำกิจกรรรมโดยไม่ต้องเดินทางไกล

นายชัชชาติ ย้ำว่า เรียนฟรีต้องมีจริง เด็กต้องได้สวัสดิการ ชุดนักเรียน 3 ชุด ถ้ามาเรียนที่บ้าน ต้องมีแท็บเล็ต มีอินเตอร์เน็ตในชุมชน และคุณภาพต้องทัดเทียม ร.ร.ข้างนอก และต้องปลดล็อกบางอย่างเพื่อให้ศูนย์เด็ก ๆ ได้ทำหน้าที่ให้เด็กได้เรียนรู้อย่างมีคุณภาพ มีการเพิ่มสวัสดิการให้เด็กและผู้ปกครอง เช่นการเดินทางด้วยรถสาธารณะในกรุงเทพ นักเรียน และผู้สูงอายุต้องนั่งฟรี เด็กแรกเกิด ต้องมีหนังสือ 3 เล่ม ติดบ้านเพื่อส่งเสริมการอ่าน

สุดท้าย ศ.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กสศ.ได้ฝากให้นายชัชชาติ ให้กำลังใจครูในสังกัด กทม.กว่า 15,000 คน ที่ตั้งใจทำงาน แม้รายได้จะต่ำ และต้องใช้เวลาในการสอบวิทยฐานะ ที่อาจสอบผ่านน้อยกว่า ร.ร.ในสังกัดกระทรวงศึกษาและอปท. โดยนายชัชชาติ ได้ให้กำลังใจ และพร้อมจะสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิต คุณภาพทางวิชาการให้ครูใน ร.ร.สังกัด กทม. เช่นการใช้เทคโนโลยี Open Data มาช่วยสนับสนุนครูด้วย และจะมีนโยบาย คืนครูให้นักเรียน เพื่อได้นำเวลามาใช้ในการสอนหนังสือได้เต็มที่

นอกจากนี้ ยังได้ฝากประเด็นสำคัญถึงผู้สมัครลงชิงตำแหน่งผู้ว่า กทม. ว่า กทม. เป็นเมืองที่มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในประเทศ ช่องว่างรายได้ ภาระค่าใช้จ่ายคนรวยคนจนต่างกัน 25-30 เท่า ซึ่งทำให้เกิดช่องว่างของการเข้าถึงคุณภาพการศึกษา หรือโอกาสในการเข้าเรียนโรงเรียนดีมีคุณภาพ ทั้งนี้ในประเด็นความเหลื่อมล้ำต่าง ๆ มีการพูดถึงเด็กเยาวชนด้อยโอกาส หรือคนกลุ่มน้อยในสังคม น้อยมาก ถือเป็นความเหลื่อมล้ำเชิงนโยบายเมื่อพูดถึงการพัฒนาพื้นที่ กทม. จึงขอเสนอปมประเด็นสำคัญเพื่อให้ผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่า กทม. นำไปพิจารณาว่าจะมีวิสัยทัศน์หรือมุมมองในการแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร

โดยกรุงเทพจำเป็นต้องปลดล็อคโครงสร้างการทำงานจากกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะของเขตปกครองพิเศษ มีความอิสระและคล่องตัว และต้องมีความชัดเจนในประเด็นต่าง ๆ ทางการศึกษา 1.คือกว่าครึ่งของเด็กในชุมชนแออัด 641 แห่ง มีโอกาสหลุดจากระบบการศึกษากลางคัน ด้วยค่าใช้จ่ายทางการศึกษาที่สูง ซึ่งเป็นสถานการณ์เร่งด่วนที่ต้องแก้ไข

2.ค่าใช้จ่ายรายหัวเดิมที่มีอยู่ ได้แก่ชั้นอนุบาล 1,700 บาท ประถมศึกษา 1,900 มัธยมต้น 3,500 มัธยมปลาย 3,800 บาท มีการใช้ต่อเนื่องมาสิบกว่าปีแล้ว โดยสามารถช่วยผู้ปกครองได้เพียง 1 ใน 5 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด จึงมีความจำเป็นต้องปรับให้สูงขึ้น และต้องสูงพอจะช่วยให้เด็กและครอบครัวไปต่อได้ในระบบการศึกษา

3.โรงเรียน 437 แห่ง เป็นโรงเรียนเพื่อเด็กยากจนใน กทม. เราจะสามารถทำให้มีคุณภาพในลักษณะ ‘อินเตอร์ติดดิน’ เช่นมีการสอน 3 ภาษา มีคอมพิวเตอร์ ห้องสมุด อาหารเช้า หรือเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่มีมาตรฐานทัดเทียมกับโรงเรียนคุณภาพสูงได้อย่างไร

4.การแก้ปัญหาการส่งต่อเด็กระหว่างโรงเรียนของ กทม. กับโรงเรียนในสังกัด สพฐ. เมื่อจบชั้นประถม ต้องย้ายไปศึกษาต่อในชั้นมัธยม ซึ่งมีทั้งเรื่องการเดินทางและค่าใช้จ่ายที่สูง เด็กสอบติดต้องวางเงินก้อนแรก 3,000-5,000 บาท ไม่รวมค่าเทอมและค่าใช้จ่ายอื่นอีกร่วมหมื่นบาท จึงจำเป็นต้องมีสวัสดิการด้านการเดินทางหรือค่าอุปกรณ์การเรียน เพื่อให้เด็กอยู่ในระบบการศึกษาได้

5.กทม. จะใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะที่ทดลองใช้มาแล้ว 3-5 ปี และเห็นผลแล้วว่าเป็นหลักสูตรที่สอดคล้องกับปัจจัยสิ่งแวดล้อมของโรงเรียนในแต่ละพื้นที่ต่อไปได้หรือไม่ โดยไม่อิงกับหลักสูตรแกนกลางของกระทรวงศึกษาธิการ

6.ศูนย์เด็กปฐมวัยใน กทม. ปัจจุบันยังมีคุณภาพเพียง 20% จำเป็นต้องลงทุนมากขึ้นเพื่อให้พัฒนาได้เทียบเท่าเอกชน และเพิ่มงบอาหารต่อหัวจากวันละ 20 บาท เป็น 40 บาท เพื่อการพัฒนาร่างกายและสติปัญญาของเด็กที่เหมาะสม และครูในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้องมีความมั่นคง มีสวัสดิการและความก้าวหน้า

8.ผู้ปกครองเด็ก 75% มีรายได้ทางเดียวไม่พอ เป็นไปได้แค่ไหนที่ พม. จะช่วยพัฒนาอบรมวิชาชีพเสริมให้ผู้ปกครองฟรี รวมถึงมีทุนเริ่มต้น 3,000-6,000 บาท ในการซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ มาประกอบอาชีพ ทั้งนี้ กองทุน กทม. เพื่อคนยากจนขัดสนและเด็กด้อยโอกาสจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะทำให้คนกลุ่มนี้เข้าถึงโอกาส สามารถกู้เงินในภาวะเปิดเทอมด้วยดอกเบี้ยต่ำ หรือมีเงินกู้สำรองในการประกอบอาชีพ

ท้ายที่สุด ผู้ว่าราชการจังหวัดถือว่าเป็นบุคคลในอุดมคติของเด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่ ควรมีแนวทางสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็น หรือการแสดงออกทางการเมือง ซึ่งผู้ว่าราชการ กทม. ควรได้พบปะพูดคุยกับเยาวชนคนรุ่นใหม่อย่างน้อยเดือนละครั้ง ผลักดันให้สภาเด็กเยาวชน กทม. ที่มีอยู่ในทุกวันนี้ มีสิทธิ์มีเสียงในการสร้างเมืองร่วมกับผู้ใหญ่อย่างเต็มที่ โดยประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ ขอฝากไว้ว่าถ้าผู้ว่าราชการ กทม. สามารถเข้าถึง แก้ไข และปรับปรุงได้ จะแก้ไขปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำได้ในเชิงลึกและตรงจุดที่สุด

Related Posts

Send this to a friend