POLITICS

ค้านเลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ กังวลกฎหมายถูกอุ้มยาว เชื่อเบื้องหลังไม่ใช่ไม่พร้อม

วันนี้ (14 ก.พ. 66) เวลา 08:30 น. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม นักกิจกรรม และประชาชน ให้สัมภาษณ์กับ The Reporters ขณะรวมตัวด้านหน้าศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ด้านหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีก่อนจะมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีกระแสข่าวว่าจะมีการพิจารณาวาระในการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เลื่อนการบังคับใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย จากเดิมที่จะมีผลบังคับใช้ภายในวันที่ 23 ก.พ. 66 หลังจากที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาไป 120 วัน

นางสมศรี หาญอนันทสุข รองประธานกรรมการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม อนุกรรมาธิการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ได้ยินข่าวว่าทาง ครม. จะมีการพิจารณาเลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ. ซ้อมทรมาน-อุ้มหาย ออกไป โดยให้เหตุผลว่าไม่พร้อม ซึ่งการอ้างเรื่องความไม่พร้อมนั้นไม่ใช่เหตุผลที่แท้จริง เพราะในพูดคุยกันหลาย ๆ ประเด็นก็จะจบที่เรื่องของการติดกล้อง ทั้งกล้องบันทึกภาพติดตัว (Body Camera) และกล้อง CCTV การจัดการปัญหาเรื่องกล้องไม่ใช่เรื่องยาก และที่ผ่านมาควรที่จะจัดการปัญหาได้แล้ว เพียงแค่ทำการจัดซื้อจัดจ้างและทำการอบรมการใช้อุปกรณ์ของเจ้าหน้าที่รัฐ

ในวันนี้จึงถือโอกาสยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องว่า หากมีความเป็นไปได้ก็ไม่ต้องพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องนี้อีก เพราะ พ.ร.บ. ซ้อมทรมาน-อุ้มหาย ได้ผ่านการพิจารณาทั้งสองสภา และขอให้อย่าเลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ. ฉบับนี้ออกไป

นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย กล่าวว่า วาระที่เกี่ยวข้องกับการเลื่อน พ.ร.บ. ซ้อมทรมาน-อุ้มหาย ไม่ได้เป็นวาระที่เร่งด่วน และกำลังจะมีการประกาศใช้ในอีก 10 วัน การที่ ครม. โดยการนำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จะเสนอให้ออก พ.ร.ก. ไม่มีความชอบธรรมใด ๆ เพราะถ้าหากประกาศเป็น พ.ร.ก. ก็จะมีผลในการยับยั้งการใช้กฎหมายฉบับนี้ทันที จากหลายกรณีที่ผ่านมาที่เกี่ยวข้องกับการทรมาน เช่น กรณีของวันเฉลิม และโจ้ถุงดำในจังหวัดนครสวรรค์ การมี พ.ร.บ. ฉบับนี้จะทำให้ทุกคนปลอดภัยและจะทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบได้อีก อีกทั้งยังหากมีการยุบสภาฯ พ.ร.บ. ฉบับนี้จะถูกฝังไปไม่มีกำหนด

นายสมศักดิ์ ชื่นจิตร บิดาของ นายฤทธิรงค์ ชื่นจิตร โจทก์ฟ้องคดีอาญา กล่าวหาเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนสอบสวนซ้อมทรมาน ระบุว่า ในฐานะของครอบครัวที่เป็นเหยื่อจากการไม่มี พ.ร.บ. ซ้อมทรมาน-อุ้มหาย ที่ลูกชายถูกตำรวจในจังหวัดปราจีนบุรี ซ้อมทรมานโดยเอาถุงดำครอบหัว การมี พ.ร.บ. ฉบับนี้ จึงมีเพื่อป้องกันและปราบปรามเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ การที่เลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ. ฉบับนี้ออกไป เหมือนกับว่าประชาชนไม่ได้รับความยุติธรรมและความถูกต้อง จึงขอฝากผู้ที่มีอำนาจว่าอย่าให้ พ.ร.บ. นี้ ต้องล่าช้า และขอให้ครอบครัวตัวเองเป็นครอบครัวสุดท้ายที่โดนกระทำ

ผู้สื่อข่าวได้สอบถามถึงกรณีที่ ผบ.ตร. ที่มีความชี้แจงออกมาถึงความไม่พร้อม ทั้งในด้านงบประมาณ บุคลากร และการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ แต่ในวันนี้เรื่องมาถึง ครม. แล้วคิดว่าเหตุผลอะไรอยู่เบื้องหลัง นางสาวพรเพ็ญ ตอบว่า บทบาทของคณะรัฐมนตรี โดยการนำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมที่บทบาทต่อเรื่องนี้โดยตรงและเป็นผู้ช่วยเสนอกฎหมายฉบับนี้ แต่เมื่อสองสามวันก่อนได้ยินข่าวลือว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเข้าพบกับนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้ไม่เลื่อนการพิจารณา ตอนนี้ยังมีความหวังว่าหลังจากที่นายกรัฐมนตรีรับฟังข้อเสนอของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จะไม่เห็นด้วยกับการเลื่อนการบังคับใช้

“ความหวังเราคือให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมไม่พูดถึงเรื่องนี้ เพราะไม่มีความจำเป็นในการพิจารณากันในการประชุมของ ครม. วันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ใกล้การยุบสภาเพื่อมีการเลือกตั้งใหม่ การกระทำแบบนี้เป็นความเสียหายของประเทศชาติ เพราะ พ.ร.บ. ฉบับนี้ เป็น พ.ร.บ. ที่เรียกร้องกับประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติที่ลงนามในอนุสัญญาเรื่องการป้องกันการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งประเทศไทยถูกติดตามเรื่องนี้มาเป็นเวลากว่า 10 ปี” ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าว

นางสาวพรเพ็ญ มองว่า ไม่ใช่เรื่องของงบประมาณ และไม่ใช่การไม่มีทักษะในการติดกล้องภาพและเสียง แต่เหตุผลเบื้องหลังของการเลื่อน พ.ร.บ. ฉบับนี้ออกไปคือ ข้อบทที่สำคัญของ พ.ร.บ. ที่ว่า ผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้ นับตั้งแต่ที่ พ.ร.บ. มีผลบังคับใช้จะต้องรับผิดชอบ จะต้องรับผิดทางอาญา ที่ในเหตุการณ์ ทรมาน อุ้มหายที่ผ่านมาผู้บังคับบัญชาไม่เคยต้องรับผิดชอบ

ทางองค์กรได้ประสานงานกับกระทรวงยุติธรรมมาโดยตลอด ในระดับปฏิบัติกระทรวงยุติธรรมเป็นหน่วยงานที่ต้องทำระเบียบหรือข้อกฎหมายย่อยในระดับกระทรวง เพื่อให้การปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้เป็นไปตามกฎหมายอย่างถูกต้อง คำตอบที่ได้จากเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการบอกว่ารอฟังพร้อมกันในวันนี้ จึงได้รวมตัวกันเพื่อรอฟังผล และถ้าหากมีการเลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ. ฉบับนี้ออกไปจริง ก็จะยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญต่อไป

บรรยากาศการยื่นหนังสือ มีนักสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรม และญาติของผู้ได้รับผลกระทบจากการซ้อมทรมานและบังคับสูญหาย เช่น นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย และ นางกัญญา ธีรวุฒิ แม่ของ นายสยาม ธีรวุฒิ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองจากคดี 112 ที่สูญหายไปเมื่อปี 2562

ขณะที่นายสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนรับหนังสือ โดยรับปากว่าจะนำข้อเรียกร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรี และจะชี้แจงความคืบหน้าให้ทราบภายใน 15 วันหลังยื่นหนังสือ

Related Posts

Send this to a friend