POLITICS

สมาชิก พปชร. ร้อง กกต. ชะลอวินิจฉัยปมขับ 21 ส.ส.พ้นพรรคไม่ชอบกฎหมาย

สมาชิกพรรค พปชร. ร้อง กกต. ชะลอการวินิจฉัยปมขับ 21 ส.ส.พ้นพรรคไม่ชอบกฎหมาย หลังพบ ผู้ยื่นเรื่องเกือบครึ่งโดนตัดสิทธิ

วันนี้ (14 ก.พ. 65) นายสนธิญา สวัสดี ที่ปรึกษากรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย นายสมัย รามัญอุดม ซึ่งอ้างตัวเป็นสมาชิกพรรคประชารัฐ และเป็นหนึ่งในผู้ยื่นคำร้องต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ขอให้พิจารณาว่ามติขับ 21 ส.ส. พรรคพลังประชารัฐไม่ชอบด้วยกฎหมาย เข้ายื่นคำร้องต่อ กกต.ขอให้ชะลอการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องดังกล่าว เนื่องจากได้ยื่นคำร้องเพิ่มเติมอีก 11 ประเด็น จึงต้องการให้ กกต.พิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ

นายสนธิญา กล่าวว่า หลังจากนายสมัยพร้อมกับสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ 155 คน ได้ยื่นคำร้องต่อ กกต. ก็มีกระแสข่าวว่า กกต.ตรวจสอบแล้ว พบจำนวนผู้ยื่นคำร้องมีชื่อเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐเพียง 99 คน อีก 56 คน ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค วันนี้นายสุรเดช กองรัตน์ ประธานสาขาพรรคพลังประชารัฐ จ.ปทุมธานี และเป็นผู้รวบรวมรายชื่อทั้งหมด จึงต้องการมาตรวจสอบว่า เหตุใด กกต.จึงบอกว่า 56 คน ไม่มีชื่อเป็นสมาชิกพรรคทั้งที่คนเหล่านี้สมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐมาตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งปี 2562 โดยทั้ง 155 คนเป็นสมาชิกที่เป็นผู้ก่อตั้งพรรค

ด้านนายสุรเดช กล่าวยืนยันว่า การเลือกตั้งเมื่อปี 62 ในพื้นที่ จ.ปทุมธานี พรรคพลังประชารัฐมีการส่งผู้สมัคร โดยสมาชิกทั้ง 56 คน ที่วันนี้ กกต.บอกว่าไม่มีชื่อเป็นสมาชิก ล้วนเป็นหนึ่งในสมาชิกจำนวน 100 คน ที่ทำให้พรรคตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดได้ และทำไพรมารีโหวตส่งผู้สมัคร ซึ่งนายสมัยก็เป็นหนึ่งในผู้สมัคร ส.ส.โดยได้คะแนนมาถึง 2 หมื่นกว่าคะแนน จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะบอกว่า คนเหล่านี้ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค หรือถ้า กกต.จะบอกว่ามีการลาออกของสมาชิก ถ้าลาออกจริง กกต.ประจำจังหวัดก็ต้องแจ้งให้ตนทราบ แต่ล่าสุด ตนได้รับการยืนยันจาก กกต.จังหวัดว่า ตนยังเป็นตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดอยู่

สำหรับการยื่นคำร้องของนายสมัย เป็นการขอให้ กกต.ตรวจสอบมติขับ 21 ส.ส.พรรคพลังประชารัฐนั้นเป็นการยื่นตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 42 ที่กำหนดว่าในกรณีสมาชิกซึ่งเป็น ส.ส.คนหนึ่งคนใด หรือสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่า 100 คน เห็นว่ามติของพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิกอยู่ขัดต่อ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองนี้หรือกฎหมายอื่น ให้มีสิทธิร้องต่อ กกต.เพื่อพิจารณาวินิจฉัย และถ้า กกต.วินิจฉัยว่ามติใดของพรรคการเมืองขัดต่อ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองนี้หรือกฎหมายอื่น ให้กกต.มีอำนาจสั่งเพิกถอนมติดังกล่าวได้

Related Posts

Send this to a friend