กสม.ร่วมสังเกตการณ์ขบวนเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น จี้รัฐบาลพูดคุยกับชาวบ้าน
กสม. ร่วมสังเกตการณ์ขบวนเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น จี้รัฐบาลออกมาพูดคุยกับชาวบ้าน เผยวันนี้ส่งหนังสือให้ ศอ.บต. ระงับกระบวนการประชาพิจารณ์ไปก่อน
วันนี้ (13 ธ.ค. 64) เวลา 17:15 น. นางปรีดา คงแป้น และนายสุชาติ เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เข้าสังเกตการณ์การเดินขบวนของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นและแนวร่วมสมทบ จากด้านหน้าที่ทำการองค์การสหประชาชาติ ถ.ราชดำเนินนอก ไปยังด้านหน้าทำเนียบรัฐบาล โดยนางปรีดา ระบุว่า “หลังจากชาวบ้านอยู่ที่ยูเอ็นเป็นเวลาสองสามวัน ก็ส่งหนังสืออยากให้กรรมการสิทธิมนุษยชนมาสังเกตการณ์เพราะชาวบ้านจะนะจะเดินทางมาเรียกร้องทวงคำสัญญาด้านหน้าทำเนียบรัฐบาล”
“เบื้องต้นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะตรวจสอบสองเรื่อง หนึ่งคือสังเกตการณ์การชุมนุมตามที่เรียกร้องว่าเรียบร้อยดีมั้ย ซึ่งเท่าที่สังเกตพบว่าเดินทางมาได้ จึงอาจมีการปักหลักด้านหน้าต่อ และสองคือการดำเนินการเกี่ยวกับโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ”
นายสุชาติ อธิบายเพิ่มเติมถึงประเด็นโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะว่า “กระบวนการตรงนี้ผ่าน ศอ.บต. เป็นหลัก วันนี้ กสม. จึงมีมติทำหนังสือขอให้ระงับกระบวนการประชาพิจารณ์ เพราะเราได้รับเรื่องร้องเรียนจากฝ่ายเห็นต่างที่ไม่ค่อยได้รับโอกาสการมีส่วนร่วมและอยากให้กระบวนการหลากหลายครอบคลุม”
“การทำงานตรวจสอบของ กสม. ไม่ได้มีแค่จะนะ แต่มีโครงการผันน้ำยวมที่ จ.แม่ฮ่องสอน และที่โขงชีมูล บทเรียนที่ผ่านมานั้นมีผลกระทบจำนวนมาก ถ้าฝ่ายเห็นต่างมีโอกาสพูดคุยเพื่อกำหนดชะตาชีวิตของพวกเขาได้ ปัญหาก็จะคลี่คลายได้ จึงขอฝากให้รัฐบาลเริ่มลงมาพูดคุยกับชาวบ้านให้เร็วที่สุด”
“ส่วนการจัดทำ SEA ก็มีบทเรียนใกล้จะนะอยู่แล้ว คือโครงการถ่านหินเทพา ที่สามารถจบปัญหาลงได้ด้วยการทำ SEA และทำให้สถานการณ์คลี่คลายไปได้ในทางที่ดี เป็นบทเรียนปรับใช้พูดคุยกันที่จะนะ ไม่เข้าใจว่ารัฐบาลยังรีรออะไรกับการพูดคุยกับชาวบ้านที่กระทบชีวิตหลายรุ่นคน” นายสุชาติ กล่าว
เช่นกันกับ นางปรีดา ซึ่งเห็นด้วยกับกระบวนการ SEA โดยกล่าวว่า “เป็นกระบวนการที่น่าสนใจ ทำให้เห็นหมากได้ทั้งกระดาน และทิศทางการพัฒนาในพื้นที่ จะนะเป็นโจทย์ท้าทายทุกฝ่ายต่อคำนิยามเมืองต้นแบบที่ทุกคนควรได้ร่วมคิดร่วมทำ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน กสม. ติดตามรายละเอียดเรื่องนี้อยู่ เพื่อให้เป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย”
“เราหวังให้หน่วยงานเกี่ยวข้องมีการสื่อสารพูดคุยเพื่อหาทางออกจากข้อเสนอของเครือข่าย และอยากให้เกิดความสงบเรียบร้อย มีกระบวนการคลี่คลายปัญหาด้วยกัน”