POLITICS

สหรัฐฯ – ไทย ยกระดับความร่วมมือทางทะเล

สหรัฐอเมริกาและไทยจัดการฝึกความร่วมมือและความพร้อมทางเรือ หรือ “การัต” (Cooperation Afloat Readiness and Training: CARAT) ประจำปี ครั้งที่ 27 ระหว่างวันที่ 6-10 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งแสดงถึงพลังความร่วมมือและความทุ่มเทที่มีร่วมกันในการดำรงไว้ซึ่งสภาพแวดล้อมความมั่นคงทางทะเลที่เสรีและเปิดกว้าง โดยการฝึกในครั้งนี้ประกอบไปด้วยการฝึกผ่านระบบออนไลน์และการฝึกนอกชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ซึ่งจำกัดการปฏิสัมพันธ์โดยตรงระหว่างกองกำลังต่าง ๆ ที่เข้าร่วมการฝึก

“การฝึกการัตประจำประเทศไทยครั้งที่ 27 นี้เป็นสัญลักษณ์แทนความสัมพันธ์ที่ยาวนานระหว่างรัฐบาลไทยและสหรัฐฯ ตลอดจนพันธมิตรและหุ้นส่วนที่มีวิสัยทัศน์คล้ายคลึงกัน” ร.อ. ทอม อ็อกเดน ผู้บัญชาการกองเรือพิฆาต (DESRON) ที่ 7 กองทัพเรือสหรัฐฯ กล่าว “ศักยภาพของเราในการเดินเรือและบังคับอากาศยานร่วมกันในฐานะกองกำลังร่วม โดยลดความเสี่ยงในการระบาดของโรคโควิด-19 เป็นหลักฐานอันประจักษ์ถึงพันธไมตรีของเรา และแสดงถึงความไว้วางใจที่มีให้แก่กัน ตลอดจนความสามารถในการปฏิบัติการของเราทั้งสองชาติ”

สหรัฐฯ และไทยแสดงศักยภาพความร่วมมือโดยฝึกการลงจอดเฮลิคอปเตอร์ การค้นหาและกู้ภัย รวมถึงการทดสอบการสื่อสารในขณะที่เดินเรือร่วมกันโดยใช้ยุทธวิธีการจัดกระบวนเรือที่ซับซ้อน นอกจากนี้ การฝึกแกะรอยด้วยเครื่องบิน P-8 ยังเสริมสร้างศักยภาพของกองทัพเรือทั้งสองชาติในการเฝ้าระวังและติดตามเป้าหมายโดยใช้เรือและอากาศยานลาดตระเวนทางทะเลอีกด้วย ในการฝึกดังกล่าวนี้เป็นครั้งแรกที่มีผู้เชี่ยวชาญภาคพลเรือนจากโครงการ Critical Maritime Routes Indian Ocean ของสหภาพยุโรป (EU-CRIMARIO) ให้การสนับสนุน โดยจัดการอภิปรายแลกเปลี่ยนทางออนไลน์เกี่ยวกับปฏิบัติการตรวจค้นเรือในทะเลหลวง และการสร้างความตระหนักรู้สถานการณ์ทางทะเล

การฝึกนอกชายฝั่งดำเนินการในน่านน้ำอาณาเขตและน่านน้ำสากลใกล้สัตหีบและเกาะสมุย โดยสหรัฐฯ ส่งเรือ USS Green Bay (LPD 20) และเครื่องบิน P-8A Poseidon เข้าร่วม ในขณะที่กองทัพเรือไทยส่งอากาศยานและเรือต่าง ๆ เข้าร่วม อาทิ เรือฟริเกตชุดเรือหลวงนเรศวร (FFG 421) เรือหลวงตากสิน (FFG 422) และเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช (FFG 471)

“การระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ทำให้ปี 2564 เป็นปีที่ท้าทาย เนื่องจากข้อกำหนดด้านสุขภาพเพื่อจำกัดการระบาดของไวรัส” น.อ. อนุรักษ์ พรหมงาม เสนาธิการกองเรือฟริเกตที่ 2 กองทัพเรือไทย กล่าวระหว่างพิธีที่จัดขึ้นทางออนไลน์ “แม้จะมีอุปสรรคต่าง ๆ แต่เราก็ยังสามารถทำตามแผนงานได้อย่างลุล่วง ซึ่งแสดงถึงการทำงานอย่างเต็มที่และความเป็นมืออาชีพของเราในการดำเนินการฝึกครั้งนี้”

การฝึกการัตจัดขึ้นครั้งแรกในปี 2538 และต่อยอดจากความร่วมมืออื่น ๆ ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก โดยในแต่ละครั้งจะประกอบไปด้วยการประชุมสัมมนาระหว่างผู้เชี่ยวชาญ และช่วงการฝึกนอกชายฝั่งที่เสริมสร้างการปฏิบัติการร่วมกัน การฝึกการัตพัฒนาศักยภาพของกองทัพเรือในหลายมิติ รวมไปถึงการค้นหาและกู้ภัย ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และการตอบสนองต่อภัยพิบัติ

Related Posts

Send this to a friend