POLITICS

‘ทวี’ ขอรัฐสภายึดเสียงข้างมากโหวต ‘พิธา’ เป็นนายกฯ ย้ำ 112 ไม่มีใน MOU

‘ทวี’ ขอรัฐสภายึดเสียงข้างมากโหวต ‘พิธา’ เป็นนายกฯ ยกประมวลจริยธรรม ส.ส.-ส.ว. เป็นหน้าที่สมาชิกต้องรักษาระบบเสียงข้างมาก ย้ำ 112 ไม่มีใน MOU 8 พรรคร่วม

วันนี้ (13 ก.ค. 66) พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ อภิปราย ระบุว่าตนและพรรคประชาชาติ ขอความเห็นชอบให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ตามที่ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.พรรคเพื่อไทย เป็นผู้เสนอ

พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ประเทศไทยปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ถ้าเราอยู่ในสภาเรามีรัฐธรรมนูญและข้อบังคับ ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขคือระบบรัฐสภา ระบบรัฐสภาของไทยเรามี 2 สภา คือ วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร หน้าที่ของรัฐสภาทุกคือนิติบัญญัติ จัดทำกฎหมายเป็นเรื่องหลัก มีหน้าที่ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน

ซึ่งการบริหารราชการแผ่นดินหรือรัฐบาลในรัฐธรรมนูญปี 2560 ผู้มีหน้าที่ควบคุมเป็นหลักคือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 500 คน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 500 คน เรามีเสียงข้างมากพอประมาณ การจัดตั้งนายกรัฐมนตรี การจะถอดถอนคณะรัฐมนตรี ทำงานก็ใช้เสียงของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็คือเสียงมากกว่า 250 เสียง วันนี้เจตจำนงของ 8 พรรคการเมือง โดยเฉพาะหนึ่งในนั้นคือพรรคประชาชาติ เรามีเจตจำนงเสนอ นายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี โดยเรามีทั้งหมด 312 เสียง ซึ่งถือเป็นเสียงส่วนมาก

พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ในระบอบประชาธิปไตยเราถือเสียงส่วนมากคือระบบที่คนถูกปกครองจะยอมรับผู้ปกครองโดยการศรัทธาระบอบประชาธิปไตย คนเป็นผู้ปกครองไม่ใช่คนมีทรัพย์สินมาก ไม่ใช่คนมีอำนาจมาก ไม่ใช่คนที่จะใช้อำนาจไปข่มขืนหรือบังคับประชาชน เราจึงได้ยินคำว่าหนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียงมีศักดิ์ศรีมีความเท่ากัน วันนี้เมื่อประชาชนมีความเข้าใจ เขาหวังว่าปัญหาของชาติที่อยู่ในภาวะทุกข์ระทมของประชาชนคนส่วนใหญ่ควรจะแก้ไขด้วยความเป็นประชาธิปไตย ควรแก้ด้วยการทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย

การเลือกตั้งที่ผ่านมาผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งกว่า 72% เลือกพรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ และทั้ง 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล โดยหวังว่าพรรคดังกล่าวรวมกัน จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วง 8-9 ปีที่ผ่านมาได้ ปัญหาที่ทำให้เกิดการรวยกระจุก จนกระจาย และจนจนตาย ซ้ำยังเกิดภาวะทุนผูกขาดแทนที่จะเป็นทุนนิยมเสรี ผลักภาระความยากไร้ให้ประชาชน

พ.ต.อ.ทวี กล่าวถึง รากเหง้าของความไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งเกิดจาก 4 รัฐ ได้แก่ รัฐประหาร รัฐธรรมนูญ รัฐสภา และ รัฐบาล ซึ่งทาง 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล เชื่อว่าประชาชนคือเจ้าของอำนาจเหล่านี้ ประชาชนต้องการการเปลี่ยนแปลง วันนี้เราต้องมาเลือกนายกรัฐมนตรี ตนเคารพในมุมมองที่แตกต่างของสมาชิกทุกท่านที่พูดไป แต่การเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งสำคัญของบ้านเมือง เราต้องไม่เลือกตามอำเภอใจ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้วาง หลักการเลือกบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งสำคัญรวมถึงนายกรัฐมนตรีเอาไว้ในมาตรฐานคุณธรรม มาตรฐานประมวลจริยธรรมวุฒิสภาและมาตรฐานประมวลจริยธรรมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

โดยเฉพาะในหมวดที่หนึ่งของประมวลจริยธรรมสมาชิกวุฒิสภา-สภาผู้แทนราษฎร ต้องยึดมั่น และธำรงไว้ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มีความจงรักภักดีพิทักษ์รักษาสถาบันของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมถึงต้องคำนึงถึงความรู้ความสามารถของบุคคลดังกล่าวด้วย จึงมองว่า สมาชิกรัฐสภาต้องมีมาตรฐานเดียวกันตามประมวลจริยธรรม

พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ตนเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 ไม่เคยเห็นร่างกฏหมายแก้ไขมาตรา 112 ที่ถูกอ้างถึงเข้ามาในสภา และตนคิดว่าสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกรัฐสภา ล้วนมีผู้มีความรู้ความสามารถ คงไม่ปล่อยให้กฎหมายต่างๆ ผ่านไปได้ง่ายๆ และการรวมตัวกันเพื่อเป็นรัฐบาลของประชาชนนั้นมีข้อตกลง และทั้ง 23 ข้อก็ไม่มีเรื่องนี้

การที่พรรคก้าวไกลตั้งพรรคการเมืองต้องปฏิบัติตาม พรบ.พรรคการเมือง ซึ่งเขียนไว้ในมาตราที่ 14 ว่าข้อบังคับพรรคต้องไม่มีลักษณะเป็นปรปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และต้องไม่เปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ ดังนั้นเขาถูกตรวจสอบโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาแล้ว

ปัญหาในวันนี้เกิดจากคนไม่ยอมรับคน เมื่อคนไม่ยอมรับก็จะใช้มุมมองเชิงความรู้สึก เชิงอำนาจนิยม ต้องยอมรับว่าสิ่งที่พรรคก้าวไกลได้พูดได้เสนอ ปวงชนชาวไทยเขาได้ตัดสินใจเลือก และเราต้องยอมรับว่าการเลือกเขาเป็นการเลือกที่บริสุทธิ์ จนได้มีสมาชิกมากที่สุด ดังนั้นตนขอวิงวอน วันนี้เราจะเลือกผู้ไปเป็นรัฐบาล รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน บทเฉพาะกาลที่ ส.ว. มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีเหลือเวลา อีกเพียงแค่ 10 เดือน ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 ก็จะสิ้นอำนาจ วันนี้สิ้นเสียงของประชาชนที่ต้องการเปลี่ยนแปลง ทั้งเรื่องความเหลื่อมล้ำ ความยากจน การเปลี่ยนแปลงเพื่ออนาคตที่ดีขึ้น

พวกเขาเชื่อว่าพรรคการเมืองโดยเฉพาะ พรรคร่วมอดีตรัฐบาล บริหารงานจนประชาชนยังอยู่ในภาวะลำบาก ไม่มีการกระจายตัวของเศรษฐกิจ ไม่มีที่ดินทำกิน มีความเหลื่อมล้ำสูง โดยเฉพาะพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ที่มีการทุ่มงบประมาณของรัฐจำนวนมาก แต่เป็นพื้นที่ที่มีความยากจนที่สุด เพราะท่านมองความมั่นคงของรัฐ ความอยู่รอดของรัฐบาล อยู่เหนือความมั่นคงของมนุษย์ อยู่เหนือเจ้าของอำนาจอธิปไตย จึงขอสนับสนุนและขอแสดงเหตุผลให้สมาชิกรัฐสภา ยึดหลักประมวลจริยธรรมในการเลือกรัฐบาลที่มาจากเสียงข้างมาก เพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตยให้ยั่งยืน

Related Posts

Send this to a friend