แอมเนสตี้แถลงหลังทางการไทยประกาศ ‘ล็อกดาวน์-เคอร์ฟิว’ คุมเข้ม 10 จังหวัด
จากกรณีที่ทางการไทยได้ประกาศใช้มาตรการป้องกันไวรัสอย่างเข้มงวดในพื้นที่กรุงเทพฯ และอีก 9 จังหวัด โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 12 กรกฎาคม เป็นต้นไป แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องทางการให้ใช้มาตรการควบคุมเหล่านี้เพียงเพื่อแก้ปัญหาอัตราการติดเชื้อโรคโควิด-19 ที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ต้องไม่นำมาใช้เพื่อลงโทษโดยพลการ หรือไม่ได้สัดส่วนกับบุคคลที่ออกมาใช้สิทธิของตนเอง
ในวันที่ 9 กรกฎาคม ทางการไทยได้ประกาศมาตรการควบคุมใหม่เพื่อชะลอการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ขณะที่อัตราการติดเชื้อพุ่งสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบรุนแรงด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม มาตรการใหม่เหล่านี้ รวมถึงการประกาศเคอร์ฟิว การจำกัดการเดินทาง การปิดห้างสรรพสินค้า และการจำกัดการทำกิจกรรมสาธารณะที่มีการรวมตัวกันของบุคคลห้าคนหรือมากกว่านั้น ประชาชนซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ยังไม่สามารถออกจากที่พักระหว่างสามทุ่มถึงตีสี่
มิงยู ฮาห์ รองผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคฝ่ายรณรงค์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า ทางการไทยต้องแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยใช้มาตรการที่สอดคล้องกับหลักการด้านสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการควบคุมจำกัดที่มีสัดส่วนเหมาะสม เป็นการดำเนินงานชั่วคราวและมุ่งประโยชน์อย่างชัดเจนเพื่อคุ้มครองสาธารณสุขที่จำเป็น
“ทางการควรเน้นการจัดหาวัคซีนที่เข้าถึงได้สำหรับทุกคนโดยเร็วสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ไม่ว่าพวกเขาเป็นใคร อยู่ที่ไหน และมีความสามารถในการซื้อหรือไม่ โดยให้เริ่มจากการฉีดวัคซีนกลุ่มที่มีความจำเป็นมากที่สุดก่อน”
“แม้การควบคุมหรือจำกัดสิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบอาจกระทำได้ หากเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานที่จำเป็นเพื่อคุ้มครองสาธารณสุขของสังคม แต่บุคคลที่ถูกดำเนินคดีจากการละเมิดมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม อันเป็นผลมาจากการชุมนุมโดยสงบจะต้องไม่ถูกลงโทษจำคุก”
“นอกจากนั้น ประชาชนยังต้องสามารถแสดงความเห็นได้อย่างเสรีผ่านโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับการรับมือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของรัฐบาลโดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกดำเนินคดีอาญา”
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังเรียกร้องอีกครั้งให้ทางการยกเลิกการดำเนินคดีอาญาใด ๆ ต่อบุคคลหลายร้อยคนที่ทำการชุมนุมและเข้าร่วมการชุมนุมโดยสงบ ในช่วงกว่า 12 เดือนที่ผ่านมา
นอกจากนั้น ในขณะที่ประเทศไทยกำลังรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ครั้งใหญ่สุด นับตั้งแต่เกิดการระบาดขึ้นมา แอมเนสตี้เรียกร้องทางการไทยให้จัดทำและดำเนินการตามแผนการจัดสรรวัคซีนระดับชาติที่ครอบคลุมทุกกลุ่ม โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากสุด และให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับกลุ่มที่มักต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติและความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากโรคโควิด-19
ทางการควรประกันว่าบุคคลทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่น่าเชื่อถือ เป็นกลางและมีหลักฐานสนับสนุนเกี่ยวกับวัคซีน และดำเนินการทั้งปวงเพื่อประกันให้มีการกระจายวัคซีนอย่างเป็นผลและรวดเร็ว เพื่อคุ้มครองระบบสาธารณสุขและให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกกับสิทธิและสวัสดิภาพของผู้ทำงานด้านสุขภาพ