POLITICS

รมว.แรงงาน นำทัพผู้แทนไตรภาคี ร่วมประชุมใหญ่ ILC สมัยที่ 111 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน ผู้แทนฝ่ายรัฐบาล รวมทั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง ได้เดินทางเยือนนครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ระหว่างวันที่ 12 -15 มิถุนายน 2566 เพื่อเข้าร่วมการประชุมประจำปี องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Conference: ILC) สมัยที่ 111

ตามที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกก่อตั้งองค์การฯ ตั้งแต่ พ.ศ.2462 (ค.ศ.1919) โดยในการประชุมครั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีวาระเข้าพบนายกิลเบิร์ต เอฟ โฮงโบ (Mr. Gilbert F. Houngbo) ผู้อำนวยการใหญ่ไอแอลโอ เพื่อหารือข้อราชการด้านแรงงาน ซึ่งไฮท์ไลท์ของการประชุม ILC ในปีนี้ จะเน้นย้ำในเรื่องการผลักดัน ประเด็นความยุติธรรมทางสังคม พร้อมกล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมใหญ่ในวันที่ 13 มิถุนายนนี้ด้วย

นายสุชาติ กล่าวว่า สาระสำคัญของการประชุม ILC สมัยที่ 111 ในครั้งนี้ว่า ต้องการที่จะเน้นย้ำและผลักดันประเด็นความยุติธรรมทางสังคม ซึ่งเป็นหัวใจของ ILO มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งเมื่อร้อยปีก่อน และส่งเสริมจัดตั้งการรวมกลุ่มระดับโลก เพื่อความยุติธรรมทางสังคม หรือ Global Coaltion for Social Justice โดยการประชุมมีระเบียบวาระประจำ 3 วาระ ได้แก่ การรายงานของผู้อำนวยการใหญ่ไอแอลโอ และรายงานของประธานคณะประศาสน์การ แผนงาน งบประมาณ และรายงานการอนุวัติการอนุสัญญาและข้อแนะ และระเบียบวาระจรอีก 6 วาระ ได้แก่ การกำหนดมาตรฐานแรงงาน เรื่องการฝึกงาน การอภิปรายหมุนเวียน เรื่อง วัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ของการคุ้มครองทางสังคม การอภิปรายทั่วไป การเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นธรรม รวมถึงการพิจารณาด้านเทคโนโลยีและนโยบายอุตสาหกรรม เพื่อนำไปสู่เศรษฐกิจและสังคม ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้การประชุม ILC สมัยที่ 111 ยังมีกิจกรรมการกล่าวถ้อยแถลง ของผู้แทนไตรภาคี กิจกรรม World of Work Summit การรับรองมติที่ประชุมคณะกรรมการ และข้อสรุป รวมถึงการลงคะแนนเสียง โดยกิจกรรมทั้งหมดที่เกิดขึ้น ในการประชุมครั้งนี้ ซึ่งจะนำไปสู่การกำหนดมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ ประกอบด้วย การยกเลิกอนุสัญญาจำนวน 1 ฉบับ การเพิกถอนอนุสัญญา จำนวน 4 ฉบับ พิธีสาร 1 ฉบับ ข้อแนะนำ จำนวน 18 ฉบับ ร่างอนุสัญญาและข้อแนะ ว่าด้วยการแก้ไขบางส่วน ของตราสารแรงงานระหว่างประเทศ จำนวน 15 ฉบับ เพื่อให้การตอบรับกับประเด็นสภาพการทำงาน ที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพเข้าไว้ในกรอบงาน ILO ด้านหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงาน และมาตรการต่างๆ ภายใต้มาตรา 33 ของธรรมนูญ ILO เพื่อให้รัฐบาลเบลารุสปฏิบัติ ตามข้อแนะนำของคณะกรรมาธิการไต่สวน

ทั้งนี้นอกจากการประชุมองค์ การแรงงานระหว่างประเทศ (ILC) สมัยที่ 111 ในครั้งนี้แล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและคณะ จะได้หารือข้อราชการด้านแรงงาน กับเอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา รวมทั้งเยี่ยมเยียนพบปะให้กำลังใจคนงานไทยที่ทำงานในสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อความร่วมมือด้านแรงงาน เพื่อให้แรงงานได้รับสิทธิประโยชน์ความคุ้มครอง ตามหลักสิทธิมนุษยชนสอดคล้อง กับมาตรฐานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศต่อไปอีกด้วย

Related Posts

Send this to a friend