กมธ.พัฒนาเศรษฐกิจ เผย ปล่อยเช่าคอนโดผ่านออนไลน์ เศรษฐกิจเสียหายนับหมื่นล้าน
กมธ.พัฒนาเศรษฐกิจ เผย ปล่อยเช่าคอนโดมิเนียมผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เสียหายนับหมื่นล้าน แนะ รัฐบาลควรเปิดช่องทางเฉพาะกลุ่มคอนโดใหม่ ให้มีการจดทะเบียนอย่างถูกต้อง
วันนี้ (13 มี.ค. 68) ที่อาคารรัฐสภา นายสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาเศรษฐกิจ ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมคณะ กมธ. เรื่องการควบคุมการปล่อยเช่าคอนโดมิเนียมผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์และการถือครองกรรมสิทธิ์โดยชาวต่างชาติ ว่า วันนี้ในที่ประชุมได้มีการติดตามประเด็นสำคัญที่ประชาชนให้ความสนใจ เป็นเรื่องผลกระทบจากการปล่อยเช่าห้องชุดหรือคอนโดผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น Airbnb ซึ่งส่งผลกระทบหลายมิติ วันนี้มีการเชิญผู้แทนจากข้าราชการหลายหน่วยงาน อาทิ กรมที่ดิน , กรมสรรพากร ผู้ประกอบการทุกฝ่าย ตลอดจนผู้ได้รับผลกระทบ และตัวแทนจากสมาคมโรงแรมไทย
นายสิทธิพล กล่าวอีกว่าปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง โดยมีประชาชนทั่วประเทศส่งเรื่องเข้ามาร้องเรียน เพราะกระทบกับผู้พักอาศัยในโครงการ แต่เดิมผู้พักอาศัยตั้งใจซื้อเพื่ออยู่อาศัย แต่ได้รับผลกระทบในเรื่องของความไม่ปลอดภัย พบว่าจากการพูดคุยกับสมาคมโรงแรมไทย มีการประเมินว่าห้องพักขั้นต่ำในคอนโดมิเนียม มีจำนวน 10,000 ห้อง พักคืนละ 3,000 บาท คาดว่าจำนวนเงินที่เสียไปเป็นจำนวน 30 ล้านบาทต่อคืน ถ้าคำนวนเป็นรายปี รายได้ที่หายไปจากระบบเศรษฐกิจไทยจะอยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาทต่อปี เรื่องดังกล่าวทั้งหมดที่เกิดขึ้นมีการกระทำผิดกฎหมายหลายฉบับ ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.ควบคุมอาคารชุด หรือ พ.ร.บ.โรงแรม
นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวว่า มีผู้ที่กระทำผิดอยู่ด้วยกันหลายกลุ่ม พบว่ามีคนไทยนำห้องพักไปปล่อยเช่าเช่นกัน โดยมีวิธีการปล่อยเช่าอยู่ด้วยกันหลายแบบ อาทิ ทำในนามส่วนตัวหรือผ่านทางกลุ่มเอเจ้นท์ต่าง ๆ โดยปัญหาที่พบคือหลังมีการแจ้งปัญหาให้มีการดำเนินคดีนั้นเกิดความล่าช้า และมีระยะเวลาดำเนินการที่ยาวนาน อีกกรณีคือการตรวจว่าบุคคลใดกระทำผิดหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากในการที่เราจะหาข้อมูล เพราะมันเป็นเรื่องของการตกลงผ่านเว็บไซต์ต่าง ๆ ภาครัฐเองต้องประสานงานผ่านรัฐบาลของประเทศที่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มก่อนถึงจะทราบข้อมูล
นายศุภณัฐ กล่าวอีกว่า อีกทั้งมีปัญหาในเรื่องของเจ้าของห้องพักเป็นชาวต่างชาติ กรณีที่มีการซื้อถูกต้องตามกฎหมายนั้นการถืออาคารชุดโดยคนชาวต่างชาติถือได้ 49% แต่หลังจากนั้นมีการเปลี่ยนผู้ถือหุ้นโดยโควตา 51% ที่เป็นคนไทยมีการใช้นิติบุคคลที่เป็นคนไทยก่อนในการซื้อแล้วค่อยไปโอนหุ้น ส่วนกรณีที่มีการโอนหุ้นปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ไม่ได้แชร์ดาต้าร่วมกับกรมที่ดิน ทำให้กรมที่ดินเองไม่ได้รู้เลยว่ามีการเปลี่ยนผู้ถือหุ้นแล้ว ทำให้สัดส่วนการถือครองคอนโดชาวต่างชาติถือของมากกว่า 49% และพอมีการโหวตนิติบุคคลต่าง ๆ ก็กลายเป็นว่า ชาวต่างชาติสามารถโหวต และยึดคืนบุคคลที่จะเป็นคนไทยได้
อย่างไรก็ตาม การแก้ไข พ.ร.บ.อาคารชุด ที่ต้องทำให้ตัวนิติบุคคลเป็นคนไทย ผู้จัดการคอนโดเป็นคนไทยร่วมด้วยเพื่อความปลอดภัยต่อคนไทยมากยิ่งขึ้น
“ใครจะเป็นนายหน้าหรือใครจะไปเป็นเอเจ้นท์ก็ได้ทั้งนั้น วันนี้แค่พูดภาษาจีนได้ก็ไปเอเจ้นท์ให้กลุ่มคนจีนได้แล้ว“ นายศุภณัฐ กล่าว
นายศุภณัฐ กล่าวอีกว่า ฉะนั้นต้องเน้นในเรื่องของ พ.ร.บ.นายหน้า ให้สามารถเกิดขึ้นได้ ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องจากกลุ่มภาคอสังหาริมทรัพย์มานานแล้ว แต่ยังไม่เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย อีกเรื่องคือปัญหาฟรีวีซ่าที่สามารถอยู่ในประเทศไทยได้ 60 วัน ซึ่งสามารถเลือกที่พักอาศัยแบบห้องเช่าได้ และมีการเซ็นสัญญาเช่าอยู่ในระยะยาวโดยมากกว่า 30 วันขึ้นไป
ทั้งนี้ อยากให้มองอีกมุมหนึ่งว่ามันก็มีอุปสงค์ของนักท่องเที่ยวต่าง ๆ ที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทย และอาศัยในคอนโดต่าง ๆ ที่ไม่ใช่โรงแรม รัฐบาลควรเปิดช่องทางเฉพาะคอนโดกลุ่มใหม่ ที่แจ้งตั้งแต่ต้นว่าคอนโดกลุ่มนี้ถูกนำมาปล่อยเช่าโดยตรง ให้มีการจดทะเบียนอย่างถูกต้องครบถ้วนตอนนี้ยังเป็นแค่แนวคิดอยู่ยังไม่มีอะไรที่ชัดเจน