ปชน. ยื่นร่าง พ.ร.บ.ที่พักเท่าเทียม เผย เป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง แต่กฎหมายยังล้าหลัง
‘พรรคประชาชน’ ยื่นร่าง พ.ร.บ.ที่พักเท่าเทียม เผย เป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง แต่กฎหมายยังล้าหลัง แนะ ภาครัฐควรมีข้อมูลที่พักต่างๆ ในประเทศ จะได้บริหารจัดการได้
วันนี้ (13 มี.ค. 68) ที่อาคารรัฐสภา นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สส.กทม. พรรคประชาชน พร้อม นายณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล สส.เชียงใหม่ พรรคประชาชน ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว สภาผู้แทนราษฎร แถลงการยื่นร่าง พ.ร.บ.โรงแรมและสถานที่พักค้างคืน (พ.ร.บ.ที่พักเท่าเทียม) โดยเปิดเผยว่า วันนี้เรื่องที่เราแถลงถือเป็นเรื่องที่มีผลสัมฤทธิ์ของการทำงานของเรา โดยก้าวไกลท่องเที่ยว ได้ยื่นเสนอกฎหมายฉบับแรกที่ซึ่งเราจะยื่น พ.ร.บ.ที่พักเท่าเทียม พ.ร.บ. ฉบับนี้จะเป็นฉบับร่างแก้ไข พ.ร.บ.โรงแรม ที่มีการบังคับใช้มาอย่างยาวนาน และเป็นปัญหาต่อระบบเศรษฐกิจไทย
นายเท่าพิภพ กล่าวต่อว่า ที่พักหรือโรงแรมในประเทศไทย เป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง แต่น่าแปลกใจที่กฎหมายยังล้าหลัง และเป็นอุปสรรคต่อผู้เล่นรายย่อย ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้แตกต่างอะไรจากสุราก้าวหน้าเลย ตนเองคิดว่าเรื่องนี้ยิ่งใหญ่กว่าสุราก้าวหน้าด้วยซ้ำเพราะสุราก้าวหน้าผู้ประกอบการสุราจริงมีไม่ถึง 1,000 ราย แต่ผู้ประกอบการโรงแรมหรือที่พักขนาดเล็กในประเทศไทยมีเกือบแสนราย ดังนั้น หากร่างกฎหมายฉบับนี้ได้ผ่านไปแล้วก็จะส่งผลต่อชีวิตของผู้ประกอบการรายย่อยมากมาย
นายณัฐพล กล่าวว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีผู้ประกอบการที่เป็นตัวเล็ก ตัวน้อย ที่พัก โรงแรมขนาดเล็กต่าง ๆ ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมารูปแบบการท่องเที่ยว รูปแบบการมาพัก และพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวก็เปลี่ยนไป แต่กฎหมาย พ.ร.บ.โรงแรมฉบับปัจจุบันมีมากว่าเกือบ 20 ปีแล้ว แต่ก็ไม่มีการอัพเดท ซึ่งกฎหมายฉบับนี้เขียนออกมาเพื่อโรงแรมขนาดใหญ่ โดยปัญหาที่ผู้ประกอบการรายย่อยประสบปัญหาคือ ไม่สามารถขออนุญาตได้เพราะกฎหมายไม่ได้สอดคล้องกับรูปแบบ และรูปลักษณ์ของสถานที่พักในปัจจุบันที่มีหลากหลายมากขึ้น
ดังนั้น พ.ร.บ. ชุดนี้เราตั้งใจที่จะทำให้ผู้ประกอบการตัวเล็ก สถานที่พักขนาดเล็ก ไม่ว่าจะเป็นประเภทใดก็ตาม สามารถขออนุญาตได้ และมีตัวตนทางกฎหมายได้มากขึ้น จุดเด่นของ พ.ร.บ. ฉบับนี้มีทั้งหมด 6 ข้อ ได้แก่
1.เราจะมองการประกอบธุรกิจนี้ให้เป็นมุมมองของการประกอบธุรกิจ Business มากขึ้น เพราะที่ผ่านมา พ.ร.บ.โรงแรมฉบับเดิมจะยึดโยงกับ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม พ.ร.บ.พื้นที่อนุรักษ์โบราณสถาน และ พ.ร.บ.ผังเมือง ซึ่งหากเอามายึดโยงก็จะทำให้เราไม่สามารถขออนุญาตอะไรได้เลย แต่หลักการของเราคืออยากให้ผู้ประกอบการมีตัวตนทางกฎหมาย
2.เราจะกำหนดเงื่อนไขให้น้อยลง เพราะที่พักขนาดเล็กมันจะอยู่ในคูหาเก่า โดยเงื่อนไขใน พ.ร.บ. เดิมนั้นกำหนดไว้เยอะมาก ซึ่งไม่ได้สอดคล้องกับการทำธุรกิจของผู้ประกอบการในปัจจุบันเราก็จะลดเงื่อนไขนี้ลงบ้าง แต่ยังคงมาตรฐานความปลอดภัยเท่าที่จำเป็นเอาไว้ก็จะสามารถขออนุญาตได้ง่ายมากขึ้น
3.หลักการการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น โดยเราจะกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น เป็นผู้ออกกำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ และเป็นผู้ให้อนุญาตหรือไม่ให้อนุญาตในกรณีนี้
4.ค่าธรรมเนียมหรือค่าปรับใด ๆ ที่เกิดขึ้นให้รายได้เหล่านั้นตกเป็นของท้องถิ่นทั้งหมด เพราะท้องถิ่นจะได้เก็บรายได้นี้โดยตรง เพื่อไปพัฒนาสาธารณูปโภคต่าง ๆ และพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่ของตัวเอง
5.การปรับปรุงค่าปรับ เพราะที่ผ่านมา พ.ร.บ. โรงแรมฉบับเดิมก็จะกำหนดไว้เลยไม่ว่าคุณจะเป็นโรงแรมขนาดใหญ่หรือขนาดเล็กก็จะกำหนดค่าปรับไว้อย่างชัดเจน
6.หลักการ Auto approve สำหรับใบอนุญาต
ทั้งนี้ 6 หลักการสำคัญของ พ.ร.บ.ที่พักเท่าเทียม ก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายของพรรคประชาชนที่เรามองว่าการท่องเที่ยว ไม่ใช่เพียงเป็นการดึงนักท่องเที่ยวมาทำอีเวนท์ที่ดึงคนต่างชาติเข้ามาจำนวนมาก แต่การบริหารจัดการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวภายในของเราแทบไม่ได้ทำอะไรเลย ซึ่งการให้ที่พักต่าง ๆ เข้าสู่ระบบก็จะทำให้ภาครัฐมีข้อมูลว่าที่พักในประเทศไทยมีเท่าไหร่ ก็จะทำให้เราสามารถบริหารจัดการได้ถูก
“นี่ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่เราเชื่อว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้สำคัญ เพื่อที่จะทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวภายในของเราดีขึ้น และการบริหารจัดการการท่องเที่ยวของเราก็ควรที่จะต้องทำควบคู่กันไปไม่ใช่เพียงแต่หานักท่องเที่ยวได้เพียงอย่างเดียว” นายณัฐพล กล่าว