POLITICS

ทนายร้อง กมธ.กฎหมาย กรณีญาติผู้เสียชีวิต ‘คดีตากใบ’ ถูกข่มขู่

ทนายความร้อง กมธ.กฎหมาย กรณีญาติผู้เสียชีวิต ‘คดีตากใบ’ ถูกข่มขู่-ตามถึงบ้าน หลังรวมตัวจ่อฟ้องคดีอาญาเจ้าหน้าที่รัฐ กมลศักดิ์‘ แจงตำรวจเลื่อนแล้วเลื่อนอีก ส่งสำนวนให้ กมธ. รับปากเร่งบรรจุวาระด่วนทันที

วันนี้ (13 มี.ค. 67) มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม นำโดย นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ อดีต สส.ยะลา พรรคพลังประชารัฐ ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ขอให้ตรวจสอบกรณีกรณีเจ้าหน้าที่เข้าคุกคามญาติผู้สูญเสียจากกรณีการสลายการชุมนุม หน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส ล้างออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมก่อนคดีจะหมดอายุความ และเป็นกลุ่มที่เตรียมตัวจะดำเนินการฟ้องคดีต่อเจ้าหน้าที่รัฐผู้กระทำความผิดในเหตุการณ์ดังกล่าว โดยมีนายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ ประธาน กมธ.กฎหมาย เป็นผู้รับหนังสือ

นายอาดิลัน กล่าวว่า ตนได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านในจังหวัดนราธิวาส ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ด้านหน้า สภ.ตากใบ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่แจ้งสังกัด เข้ามาหลายพื้นที่ในจังหวัดนราธิวาส เพื่อให้ชาวบ้านไปลงนามในเอกสาร พูดคุยเรื่องเงินเยียวยาคดีเหตุการณ์ตากใบ ทำให้ชาวบ้านรู้สึกหวาดกลัวว่าเจ้าหน้าที่เหล่านั้นมาจากหน่วยไหน และมีเจตนาที่แท้จริงอย่างไร ที่พยายามชักจูงให้ชาวบ้านไปเซ็นเอกสารอะไรบางอย่างที่เจ้าหน้าที่ไม่บอกให้ชัดเจน

สืบเนื่องจากมีการจัดงานรำลึกเมื่อเดือนตุลาคม 2566 แล้วชาวบ้านผู้เสียหายได้ตัดสินใจร่วมกันว่าจะเรียกร้องขอความจริงในเหตุการณ์ว่าใครเป็นผู้ทำให้ 85 คนเป็นผู้เสียชีวิต และใครต้องเป็นคนรับผิดชอบ โดยได้เคยมายื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการชุดนี้มาแล้ว คณะกรรมาธิการฯ เคยได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับคดีตากใบ มาให้ข้อมูลในครั้งแรก ซึ่งปรากฏว่าไม่ทราบว่าสำนวนอยู่ที่ไหน แต่ในท้ายที่สุดจึงได้ข้อมูลว่า มีการให้ความเห็นว่าการตายของทั้ง 85 คนนั้น ไม่ได้เกิดจากการกระทำความผิดทางอาญา และเมื่อประชาชนได้ทราบข่าวก็เกิดความต้องการจะทราบว่า กระบวนการยุติธรรมของสังคมไทยเป็นอย่างไร และอยากให้ผู้เสียหายได้ฟ้องร้องเอง โดยผู้เสียหายได้มีการรวบรวมเอกสารที่ใช้ยื่นฟ้องให้กับกลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมดังกล่าวด้วย แต่กลับถูกข่มขู่ให้ไปพบ แล้วถ้าหากไม่ไปพบอาจมีการออกหมายจับ จึงเป็นที่มาของการมายื่นหนังสือให้กรรมาธิการตรวจสอบเรื่องนี้

นายกมลศักดิ์ กล่าวว่า ได้มีการเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจงกว่า 2 เดือนแล้ว เพื่อสอบถามความคืบหน้าของคดี แม้ผู้เสียหายจะได้รับการเยียวยาไปแล้ว แต่ในทางกฎหมายหน่วยงานที่เข้ามาชี้แจง เมื่อดูในบันทึกข้อตกลง ทุกคนมีความเห็นว่า เป็นบันทึกข้อตกลงที่ไม่ทำให้คดีอาญาระงับ นั่นหมายความว่า เมื่อศาลได้มีการไต่สวนแล้วว่าผู้ตายขาดการหายใจ พนักงานสืบสวนสอบสวนมีหน้าที่ต้องดำเนินคดีต่อ ว่าใครเป็นผู้ทำให้ขาดอากาศหายใจ ซึ่งพนักงานสอบสวนได้มีการขอขยายเวลาส่งสำนวนดำเนินคดี แต่กลับไม่มีการดำเนินการอะไรเลย จึงถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

นายกมลศักดิ์ กล่าวว่า หลังกรรมาธิการมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับสำนวนคดีมา กลับได้ข้อมูลมาว่า คดีตากใบได้มีการทำความเห็นส่งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดในลักษณะเหมือนกับว่าสั่งไม่ฟ้องหาตัวผู้กระทำความผิดไม่ได้ คณะกรรมาธิการจึงได้มีหนังสือต่อไปอีกว่าเราไม่ต้องการกระดาษใบเดียวที่ท่านชี้แจง แต่ต้องการสำนวนคดีที่ท่านอ้างว่าผู้ว่าฯมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องหรือสั่งงดการสืบสวนสอบสวน จากนั้นทางพนักงานสอบสวนโดยผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 มีหนังสือขอขยายระยะเวลาส่งสำนวนมายังคณะกรรมาธิการอีก ถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567

จนมาถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 ก็มีหนังสืออีกฉบับหนึ่งขอขยายเวลาไปวันที่ 15 มีนาคม 2567 แล้วในขณะเดียวกันที่กรรมาธิการรอคำสำนวนคดีญาติผู้เสียหายได้มีการประชุมหารือหลายครอบครัวเพื่อจะดำเนินคดีอาญากับบุคคลที่เกี่ยวข้อง แต่ระหว่างที่ดำเนินการเตรียมคดีกลับเกิดเหตุการณ์ที่อ้างว่ามีเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ไปหาถึงบ้านติดต่อทางโทรศัพท์กับกลุ่มญาติผู้เสียชีวิตคดีตากใบและตรงกับกลุ่มคนที่เตรียมจะฟ้องคดี ดังนั้นในฐานะประธานคณะกรรมาธิการจะรับหนังสือฉบับนี้ และจะบรรจุระเบียบวาระโดยเร็วที่สุด เพื่อเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาสอบถามข้อเท็จจริงว่าเป็นตามนี้หรือไม่อย่างไร

Related Posts

Send this to a friend