POLITICS

‘ลูกชาย สหายภูชนะ‘ ร้อง ‘กมธ.กฎหมาย’ สอบข้อเท็จจริงบังคับสูญหาย

‘ลูกชาย สหายภูชนะ‘ ร้อง ‘กมธ.กฎหมาย’ สอบข้อเท็จจริงบังคับสูญหาย ’กมลศักดิ์‘ แจงชัด กฎหมายครอบคลุมเหตุการณ์ก่อนหน้าประกาศใช้ เตรียมเรียกหน่วยงานเกี่ยวข้องกำชับเดินหน้าหาตัวผู้กระทำผิด

วันนี้ (13 มี.ค. 67) ที่รัฐสภา นายก่อการ บุปผาวัฏฏ์ บุตรชายของนายชัชชาญ บุปผาวัลย์ (สหายภูชนะ) พร้อมด้วยทนายความจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เข้ายื่นหนังสือต่อ นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ขอให้สอบข้อเท็จจริงและค้นหาพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการบังคับให้สูญหายของนายชัชชาญ ที่ประเทศลาว เมื่อปี 2561

โดยได้ขอให้คณะกรรมาธิการฯ ดำเนินงานในสองประเด็นหลัก คือ

1. ขอให้คณะกรรมาธิการฯ ตรวจสอบข้อเท็จจริง และสืบสวน เกี่ยวกับเหตุการณ์การลักพาตัวของนายชัชชาญ และการสืบสวน สอบสวน เพื่อค้นหามูลเหตุ ของการลักพาตัว และพยานหลักฐาน จากหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องในลักษณะที่เกี่ยวข้องกับการขัดแย้งทางการเมือง การละเลยในการติดตามและความล้มเหลวในการเยียวยาผู้เสียหาย โดยมีการแจ้งให้ญาติ และครอบครัวของนายชัชชาญทราบถึงความจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

2.ขอให้ตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับการข่มขู่และคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐไทยที่เกิดในสมัยของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเกี่ยวข้องกับการลักพาตัวของนายชัชชาญ และการสั่งการเข้าออกชายแดนไทย-ลาว และขอให้มีการดำเนินการ เพื่อความยุติธรรมแก่นายชัชชาญและครอบครัว รวมถึงการดำเนินการทางกฎหมายต่อผู้ที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ดังกล่าว และชดใช้เยียวยาต่อไป

ทั้งนี้ เป็นคดีที่สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2561 นายชัชชาญ ถูกบังคับให้สูญหาย ไปพร้อมกับนายสุรชัย แซ่ด่าน หรือด่านวัฒนานุสรณ์ จนกระทั่งวันที่ 27 ธ.ค. 2561 เวลาเช้า มีคนพบศพนายชัชชาญ ถูกฆ่า และกระทำอย่างโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม ลอยแม่น้ำโขง มาขึ้นฝั่งที่จังหวัดนครพนม จนกระทั่งปัจจุบันการดำเนินการสืบสวนสอบสวนยังไม่คืบหน้า และไม่ทราบตัวผู้กระทำความผิด

และหลังจากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2566 บังคับใช้ นายก่อการได้เดินทางมาร้องทุกข์กับศูนย์ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2566 เป็นครั้งแรก ซึ่งในเบื้องต้นพนักงานอัยการผู้รับเรื่องร้องทุกข์แจ้งว่า หลังจากนี้อาจมีการแสวงหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมมาประกอบกับข้อเท็จจริงที่ให้ไว้ เพื่อพิจารณาว่ากรณีเข้าองค์ประกอบที่จะใช้กลไกคุ้มครองและเยียวยาตาม พ.ร.บ.ทรมาน-อุ้มหาย หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังคงไม่มีความคืบหน้า

นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ประธาน กมธ.กฎหมาย กล่าวว่า ขณะนี้เรามีการบังคับใช้กฎหมายป้องกันการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายแล้ว ซึ่งในกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้คุ้มครองกรณีกรณีการสูญหายหลังจากการบังคับใช้คือวันที่ 10 มีนาคม 2566 เท่านั้นแต่ยังบังคับใช้กับกรณีก่อนหน้าที่กฎหมายประกาศด้วย ดังนั้นเจ้าหน้าที่สามารถสืบหาข้อเท็จจริงหาตัวผู้กระทำความผิดได้จึงคิดว่าแม้เรื่องนี้จะผ่านมาหลายปีแต่เมื่อมีกฎหมายใช้บังคับแล้วกฎหมายต้องเดินและเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติก็ต้องปฏิบัติตามกฏหมายกรรมาธิการคงจะมีการเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือมีความเห็นถึงกระทรวงยุติธรรมหรือกรมสอบสวนคดีพิเศษให้ดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไป

Related Posts

Send this to a friend