POLITICS

‘เพื่อไทย’ โวย กกต. แบ่งเขตบิดเบี้ยว หวั่นเลือกตั้งบกพร่อง-บัตรเสียบาน

‘เพื่อไทย’ โวย กกต. กำลังรัฐประหารด้วยการแบ่งเขตบิดเบี้ยว หวั่นเลือกตั้งบกพร่อง-บัตรเสียบาน จี้ฟังเสียงประชาชน

วันนี้ (13 ก.พ. 66) พรรคเพื่อไทย นำโดย นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ประธานภาคกรุงเทพมหานคร (กทม.) นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) กทม. โฆษกพรรคเพื่อไทย และ นางสุภาภรณ์ คงวุฒิปัญญา ส.ส. กทม. พรรคเพื่อไทย ร่วมกันแถลงข่าว เรื่อง การเสนอรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทยในเขตพื้นที่ กทม. ที่มีความบกพร่อง เสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

นางสาวธีรรัตน์ กล่าวว่า การแบ่งเขตเลือกตั้งในพื้นที่ กทม. นั้น เดิมทีมี 5 รูปแบบ ซึ่งมากกว่าจังหวัดอื่นๆ อยู่แล้ว แต่ล่าสุด กกต. แบ่งออกมาเพิ่มอีกรวมเป็น 8 รูปแบบ ทำให้ประชาชนเกิดความสับสนในการเลือกตั้ง ส.ส.เขต

“พี่น้องประชาชนถามมามากว่าเลือกตั้งครั้งหน้าจะต้องเลือกใครกันแน่ เป็นการแบ่งเขตเลือกตั้งที่บิดเบี้ยว ไม่เป็นไปตามธรรมชาติของแต่ละพื้นที่” โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าว

นางสาวธีรรัตน์ ชี้ว่า การแบ่งแขตรูปแบบที่ 6-8 นี้ไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2566 ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคอื่นๆ ก็ไม่เห็นด้วย เพราะจะเป็นการสร้างปัญหาให้กับประชาชน เกิดความไม่สะดวกเพราะต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ตรงกับที่อยู่อาศัย รวมถึงสร้างความลำบากต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐเอง ทำให้ไม่คุ้นเคยกับพื้นที่ซึ่งเคยทำงานมา

ทั้งนี้ การแบ่งเขตดังกล่าวยังส่งผลให้ผู้สมัครพบปัญหาว่า ในเขตเดียวมีผู้สมัครถึง 3-4 คน ต่างพรรคต่างเบอร์กัน จะเป็นเหตุให้การเลือกตั้งครั้งต่อไปผิดพลาดบกพร่อง เกิดบัตรเสียจำนวนมาก และไม่เป็นผลดีต่อระบอบประชาธิปไตย กกต. ควรยึดตามหลักกฎหมายและความเป็นจริง

“การที่ กกต. ทำแบบนี้ จะทำให้การเลือกตั้งครั้งต่อไปมีข้อบกพร่องมากที่สุดหรือเปล่า” โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าว

ด้าน นายวิชาญ อธิบายถึงปัญหาของการแบ่งเขตรูปแบบ 6-8 โดย กทม. มีทั้งหมด 30 เขต จำนวนประชากรประมาณ 5 ล้านคน จากการรวบรวมความเห็นของประชาชน และพิจารณาตามหลักของ พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2566 รวมถึงระเบียบของ กกต. เป็นเกณฑ์ เห็นว่าการแบ่งเขตแบบ 1-3 มีความชัดเจน พื้นที่มีความคาบเกี่ยวกัน การจัดรูปแบบดังกล่าวมีความสอดคล้องกว่า ไม่สร้างความสับสน มี 25 เขต จาก 30 เขต ที่ไม่ต้องแบ่งเขตเพิ่มเติมใหม่

อย่างไรก็ตาม การแบ่งเขตแบบที่ 6-8 นายวิชาญ กล่าวว่า มีโอกาสสร้างความสับสนให้ประชาชนมากกว่า หากมีการแบ่งพื้นที่ตามแขวง คงเรียก ส.ส. เขต ไม่ได้ ต้องเรียกว่า ส.ส. แขวง และจะสร้างผลเสียคือบัตรเสียจะมากขึ้น จากการฟังเสียงประชาชน พรรคเพื่อไทยจึงเสนอว่ารูปแบบการแบ่งเขตแบบที่ 1-2 มีความเหมาะสมมากที่สุด เพราะเขตหลักๆ ยังอยู่ ไม่ถูกแบ่งแยก จึงมีความสะดวกต่อประชาชนมากกว่า

เมื่อผู้สื่อข่าว The Reporters ถามถึงความเห็นต่อคำชี้แจง กกต. ที่ต้องแบ่งเขตเลือกตั้งโดยอ้างอิงจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งมีส่วนต่างที่ไม่ควรเกินร้อยละสิบนั้น นายวิชาญ ตอบว่า ประชากรเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเกณฑ์เท่านั้น จึงฟังไม่ได้

ขณะที่ นางสุภาภรณ์ ตั้งคำถามว่า กกต. ทำหน้าที่กี่วันภายใน 4 ปีที่ผ่านมา จึงได้แบ่งเขตออกมาแบบนี้ ซึ่งขัดต่อมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญ ที่ต้องยึดถือการแบ่งเขตเลือกตั้งแบบเดิมเสียก่อน แต่ในแบบที่ 6 และ 7 มีการยกการแบ่งเขตแบบเดิมกลับมาน้อยมาก และรูปแบบที่ 8 ไม่มีการแบ่งเขตแบบเดิมอยู่เลย การแบ่งแบบคร่อมแขวงคร่อมเขตจะส่งผลเสียต่อระบบการทำงานของทางราชการ

นางสุภาภรณ์ ย้ำว่า ส.ส. ไม่ได้ทำหน้าที่เพียงแก้ไขกฎหมายเท่านั้น แต่ยังต้องส่งเสียงถึงปัญหาในพื้นที่ด้วย สำหรับเขตที่เป็น ส.ส. อยู่นี้คือ เขตภาษีเจริญ ในรูปแบบที่ 7 นั้น ถูกแบ่งเป็นถึง 3 เขตการเลือกตั้ง คือเขตเลือกตั้ง 28 30 และ 32 จึงขอตั้งคำถามว่า กกต. ยึดหลักการใดในการแบ่งเขตเช่นนี้ ส่วนตัวเชื่อว่า ประชาชนกำลังถูกรัฐประหารผ่านการแบ่งเขตเลือกตั้ง แล้วระบอบประชาธิปไตยจะเดินหน้าต่อไปได้อย่างไร

“ดูเหมือน กกต. จะทำลายระบบนิติบัญญัติอย่างโจ่งแจ้งและจงใจ … พี่น้องประชาชนกำลังถูกรัฐประหารด้วยการแบ่งเขตเลือกตั้ง” ส.ส. ภาษีเจริญ พรรคเพื่อไทย กล่าว

Related Posts

Send this to a friend