POLITICS

เปิดเวทีสาธารณะเสนอวิสัยทัศน์ผู้สมัครรับเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ฟังเสียงตัวแทนผู้ประกันตน

ก่อนเข้าคูหา 24 ธ.ค.นี้ นักวิชาการย้ำเป็นก้าวสำคัญในการบริหารกองทุนใหญ่ที่สุดในประเทศ ให้ตอบโจทย์สวัสดิการแรงงานทั้งระบบ

วันนี้ (12 ธ.ค. 66) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับมูลนิธิแรงงานไทยและเครือข่ายสื่อมวลชน ร่วมจัดเวที “เลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม ปฏิรูปอะไร? อย่างไร?“ เปิดเวทีเพื่อแสดงวิสัยทัศน์ของผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้แทนผู้ประกันตน บอร์ดประกันสังคม ก่อนการเลือกตั้งในวันที่ 24 ธันวาคมนี้ และฟังข้อเสนอจากตัวแทนผู้ประกันตนในมาตราต่างๆ

ผศ.วีรบูรณ์ วิสาทรกุล คณบดีวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ กล่าวเปิดเวที ในนามของคณะผู้จัดงานขอบคุณทุกฝ่ายที่มาแลกเปลี่ยน หวังว่าจะเป็นเวทีเปิดที่นำไปสู่การพัฒนาระบบประกันสังคม ย้ำถึงความสำคัญของระบบประกันสังคม ที่มี พ.ร.บ.ประกันสังคม เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2533 ฉบับล่าสุดคือปี 2558 แต่โชคร้ายไปอยู่ในช่วงการรัฐประหารโดย คสช. จึงมีคณะกรรมการประกันสังคมจากการแต่งตั้งถึง 8 ปี จนถึงปีนี้ืที่เพิ่งมีการประกาศระเบียบการเลือกตั้งทั้งฝั่งนายจ้างและลูกจ้าง เปลี่ยนระบบเป็น One Man One Vote เป็นการเลือกตั้งที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในประเทศไทย แต่ความคึกคักน้อยมาก ควรมีเวทีแบบนี้ทั่วประเทศ และหวังว่าในวันที่ 24 ธันวาคมนี้ไม่ว่าใครได้เป็นบอร์คประกันสังคมฝั่งผู้ประกันตน หวังให้ทุกท่านยังทำงานกับขบวนการแรงงาน อยากให้ผู้แทนเป็นผู้แทนของผู้ประกันตนอย่างแท้จริง ทำให้กองทุนประกันสังคมเป็นกองทุนของแรงงานอย่างแท้จริง

ด้าน รศ.ดร.นภาพร อติวานิชพงศ์ อาจารย์วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ กล่าวถึงความสำคัญและความเป็นมาของคณะกรรมการประกันสังคม ว่า พรบ.ประกันสังคม ประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2533 กว่าจะเกิดมาไม่ใช่เรื่องง่าย แต่มาจากการต่อสู้ร่วมกันของภาคประชาชน กลุ่มแรงงาน องค์การพัฒนาเอกชน นักศึกษา นักวิชาการ ศ.นิคม จันทรวิฑูรย์ สว.ในขณะนั้น ในช่วงที่กฎหมายเข้าสภาและต้องลุ้นว่าจะผ่านมาหรือไม่ ต้องมีการนั่งอดข้าวประท้วงหน้ารัฐสภาของผู้นำแรงงานและนักศึกษานานหลายวัน จนสภาผู้แทนราษฎรลงมติผ่านร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2533

พ.ร.บ.ประกันสังคม ทำให้เกิดคณะกรรมการในการบริหารงานของประกันสังคมและเงินทุนของประกันสังคม เป็นองค์กรไตรภาคี ประกอบด้วย ผู้แทนฝั่งลูกจ้าง ฝั่งนายจ้าง และฝั่งรัฐ มีเงินในกองทุนกว่า 2 ล้านล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาตัวแทนของลูกจ้างและนายจ้างเลือกตั้งผ่านองค์กร เช่นสหภาพแรงงานหรือสมาคมนายจ้าง หนึ่งองค์กรหนึ่งเสียงไม่ว่าจะมีสมาชิกจำนวนมากน้อยแค่ไหน ทำให้เกิดปัญหาตัวแทนจากฝั่งแรงงาน ไม่สามารถรักษาผลประโยชน์ของผู้ประกันตนได้ ทำให้เกิดข้อเสนอในการปฏิรูประบบประกันสังคมในปี 2550 เกิดการศึกษาและข้อเสนอต่างๆ เช่น การเลือกตั้งตัวแทนฝั่งนายจ้างและลูกจ้างโดยตรงของผู้ประกันตน การปฏิรูปองค์กรเป็นองค์การมหาชน จนกระทั่งทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนระบบการเลือกผู้แทนผู้ประกันตน และนายจ้าง ให้ผู้ประกันตนทุกคนมีสิทธิเลือกตั้งอย่างเท่าเทียม

รศ.ดร.นราภร เน้นย้ำความสำคัญของบอร์ดประกันสังคม ที่จะสร้างประโยชน์ต่อแรงงานทั้งระบบ เวทีวันนี้จึงมีความสำคัญต่อแรงงาน ผู้ประกันตน ที่จะได้ฟังวิสัยทัศน์และนโยบายของผู้สมัครเป็นบอร์ดประกันสังคม จะมีแนวทางพัฒนากองทุนประกันสังคมเพื่อสร้างสวัสดิการที่ตอบโจทย์ทุกคนได้อย่างไร

Related Posts

Send this to a friend