POLITICS

‘พวงทอง’ มอง ‘ประยุทธ์’ พ้นอำนาจ ระบบก็ยังอยู่ ต้องยุติวงจร “ลอยนวลพ้นผิด”

‘พวงทอง’ มอง ‘ประยุทธ์’ พ้นอำนาจ ระบบก็ยังอยู่ ต้องยุติวงจร “ลอยนวลพ้นผิด” พาไทยเข้าศาล ICC เพื่อเปิดโปงความจริง-ป้องกันผู้มีอำนาจเหิมใช้ความรุนแรง

วันนี้ (12 ต.ค. 65) รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมเสวนาหัวข้อ “46 ปี 6 ตุลา” จัดโดยองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) ณ ลานจักรพงษ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รศ.ดร.พวงทอง กล่าวเท้าความว่า เหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ถือเป็นการเคลื่อนไหวลุกฮือที่ใหญ่ที่สุดของประชาชนในขณะนั้น จนเป็นช่วงทดลองประชาธิปไตย 3 ปี ก่อนจะสิ้นสุดลงในวันที่ 6 ตุลา 19 ที่เป็นอาการ “ลงแดง” ของชนชั้นกลางที่รู้สึกว่าขบวนการนักศึกษาได้จบลง ก่อนที่คณะทหารจะกลับเข้ามาปกครองประเทศอีกครั้ง

“เราคิดว่า 14 ตุลา กับปัจจุบัน มีส่วนที่เหมือนกันคือ เราอยู่ภายใต้รัฐบาลทหารเหมือนกันคือ มีความไร้ประสิทธิภาพในการบริหาร จนสังคมเกิดความรู้สึกอึดอัด คับข้องใจ ไม่มีอนาคต เท่ากับว่า หากไม่มีการรัฐประหาร หรือระบอบประยุทธ์ การชุมนุมในปี 63 ก็คงไม่เกิด”

รศ.ดร.พวงทอง เน้นย้ำว่า การลอยนวลพ้นผิด (Impunity) ถือเป็นปัญหาสำคัญของการเมืองไทย เพราะเมื่อเกิดการใช้อำนาจสั่งการปราบปรามประชาชนก็ไม่มีการรับผิดชอบผ่านการขึ้นโรงขึ้นศาลได้เลย โดยมีการนิรโทษกรรมในเวลาต่อมาตลอด เพราะหากมีการเปิดเผยข้อมูลออกมา ก็จะเป็นการลดทอนความเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมไทย

“ตัวระบบมันปกป้องกันเอง เมื่อไม่สามารถนำคนผิดมาลงโทษได้ พวกเขาก็ไม่กลัว การลอยนวลพ้นผิดก็เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า เรามักเข้าใจผิดว่ากองทัพไทยมีอาวุธอย่างเดียว แต่ยังมีกลไกทางการเมืองเต็มไปหมดเลย”

รศ.ดร.พวงทอง อภิปรายยกตัวอย่างว่า หากนำ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกจากอำนาจไปแล้ว ตัวระบบก็ยังอยู่ ไม่ว่าจะเป็นคะแนนเขย่งจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือมติของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็ตาม จึงชึ้ให้เห็นว่าตัวระบบมันเอื้อกัน

เมื่อถามถึงกระบวนการคืนความยุติธรรมภายหลังเหตุการณ์อย่าง 6 ตุลา ในสังคมไทย รศ.ดร.พวงทอง มองว่า สำหรับเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 คงไม่สามารถกระบวนการยุติธรรมในชั้นศาลได้แล้ว แต่คนเดือนตุลาเรียกร้องความจริง เพราะความจริงจะบอกบทเรียนสำคัญว่าใครมีความเกี่ยวข้องบ้าง เป็นการเยียวยาบาดแผลของผู้เสียหาย และเป็นการเน้นย้ำว่าเราจะไม่ทำซ้ำอีก

แต่สำหรับกรณีการสลายการชุมนุมในปี 53 รศ.ดร.พวงทอง เห็นว่า ศาลอุทธรณ์และศาลฎีการะบุว่าไม่มีอำนาจพิจารณาคดี ทำให้เราไม่สามารถคาดหวังกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยได้แล้ว แต่ยังมีกลไกศาลอาญายุติธรรมระหว่างประเทศ (International Criminal Court: ICC) ผ่านช่องทางในรัฐมนตรีลงนามรองรับอำนาจธรรมนูญกรุงโรมฯ ให้เข้ามาสอบสวนได้ หรือประกาศฝ่ายเดียวเพื่อยอมรับอำนาจตามมาตรา 12 (3) ในคดีปี 53 ก็ได้

“หลายประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก็รับอำนาจศาล ICC ทั้งอังกฤษ ญี่ปุ่น กัมพูชา เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ และสวีเดน ข้ออ้างที่ว่าเรามีระบอบดังกล่าวจะเข้าอำนาจศาล ICC ไม่ได้ เป็นเพียงข้ออ้างที่จะไม่ทำเท่านั้น ถ้ามีกระบวนการเกิดขึ้น จะเป็นการเปิดโปงกระบวนการและความจริงที่ไม่ชอบธรรม เอาคนผิดมาลงโทษได้ และจะเป็นกำแพงการตัดสินใจใช้ความรุนแรงกับประชาชนนั้นยากยิ่งขึ้น”

Related Posts

Send this to a friend