POLITICS

’รอมฎอน‘ ขอ นายกฯ แสดงเจตจำนง แก้ปัญหาสันติภาพชายแดนใต้

’รอมฎอน‘ ขอ นายกฯ แสดงเจตจำนง แก้ปัญหาสันติภาพชายแดนใต้ ชี้ ควรพลิกแกนแก้ปัญหาสันติภาพ เป็นแนวทางการเมืองหลัก ย้ำ ฝ่ายค้านยินดีทำงานร่วมกับรัฐบาล เพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นในหลักนิติธรรม

วันนี้ (12 ก.ย. 67) ในการประชุมร่วมรัฐสภา ครั้งที่ 2 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) เป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาเรื่องด่วน คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ตามมาตรา 162 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย นายรอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ลุกขึ้นอภิปรายในหัวข้อ “โอกาสของลูกสาว อากาศขิงประชาชน จังหวัดชายแดนภาคใต้ในมือรัฐบาลแพทองธารในอีก 20 ปีต่อมา” โดยเริ่มกล่าวว่า ความขัดแย้งในชายแดนใต้เป็นปัญหาระดับชาติ และเป็นมรดกที่ตกทอดมาสู่รุ่นของเรา

นายรอมฎอน กล่าวต่อว่า เราผ่านมาแล้ว 10 รัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเป็นนายกฯ คนที่ 10 ในรอบ 2 ทศวรรษ ที่จะต้องรับมือ รับภาระในการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ และสร้างสันติภาพ ซึ่งหากย้อนกลับไป 12 ก.ย. 2557 เป็นการแถลงนโยบายรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี มีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดชายแดนใต้ ที่ระบุถึงยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ”เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา“ โดยมีที่มาจากรัฐบาลของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

อีกทั้งในรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ในการแถลงนโยบาย ตนเองรู้สึกโกรธมาก เพราะไม่มีการระบุถึงจังหวัดชายแดนภาคใต้แบบตรง ๆ ในนโยบาย ซึ่งในรัฐบาลปัจจุบันมีการระบุถึงการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งมีประโยคนึงที่วางอยู่ในส่วนหนึ่งของนโยบายการพัฒนาเมืองในระบอบประชาธิปไตย โดยวางอยู่ในประเด็นการจัดทำรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย การฟื้นฟูหลักนิติธรรมที่เข้มแข็ง และการปฏิรูประบบราชการและกองทัพ

นายรอมฎอน กล่าวต่อว่า การวางไว้แบบนี้สะท้อนถึงการมองจังหวัดชายแดนใต้เป็นปัญหาทางการเมืองระหว่างรัฐกับประชาชนที่จำเป็นต้องออกแบบในเชิงสถาบันให้อยู่ร่วมกันอย่างไร เป็นการตั้งหลักที่สำคัญกว่ารัฐบาลในชุคที่ผ่านมา และตนเองเชื่อว่า พรรคประชาชนมองปัญหาจังหวัดชายแดนใต้เป็นปัญหาการเมืองที่ต้องนำไปสู่ทางออกทางการเมือง

แต่ 1 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาลเศรษฐาที่สูญเปล่าไป รวมถึงการหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงเรื่องสันติภาพ และความมั่นคง กระบวนการสันติภาพก็เดินหน้าอย่างเชื่องช้า ไร้แรงผลักดันทางการเมืองจากทำเนียบรัฐบาล และยังขยายเวลาสถานการณ์ฉุกเฉินถึง 5 ครั้ง รวมถึงยังไม่รับรองร่างกฎหมาย กอ.รมน. กลับมาให้สภาได้พิจารณา ทำให้งานไฟแดนใต้ยังถูกครอบงำโดยหน่วยงานราชการ และกองทัพ ไม่มีแรงผลักดันจากรัฐบาลอย่างที่ควรจะเป็น

ทั้งนี้ ในระหว่างการอภิปราย นายจุลพันธุ์ อมรวิวัฒน์ สส. เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ได้ลุกขึ้นประท้วง ว่า รัฐบาลปัจจุบันคือ น.ส.แพรทองธาร แต่กลับยกเรื่องเก่า 1 ปีที่ผ่านมาในรัฐบาลของนายเศรษฐามา ซึ่งมีสิทธิ์ที่จะเห็นด้วยหรือไม่ชอบ แต่กลับมาใช้คำว่า 1 ปีที่สูญเปล่าของอดีตนายกรัฐมนตรี ที่ไม่ได้อยู่ในห้องนี้ จึงไม่สามารถปกป้องตัวเองได้ จึงมองว่าเป็นการเสียดสีอย่างชัดเจน และสามารถอภิปรายคัดค้านหรือสนับสนุนได้แต่ไม่ใช่การกล่าวหา ซึ่งอยู่อีกวาระหนึ่งไม่ใช่วาระนี้ จึงขอให้พูดอยู่ในกรอบอย่าพาดพิงรัฐบาลในอดีตที่ไม่สามารถมาตอบในสภาได้

จากนั้น นายรอมฎอน ชี้แจงว่า ที่จำเป็นต้องพูดเพราะเป็นบทเรียนของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ซึ่งนายกฯ ไม่แสดงเจตจำนงที่ชัดเจนแน่วแน่ในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ สัญญาณแห่งความรุนแรงกำลังจะหวนกลับมา ถ้าเราไม่มุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาและนำในทางการเมืองจริง ๆ ของรัฐบาล ตนก็เห็นภาพเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นนายกฯ จะต้องให้ความใส่ใจในการแก้ปัญหา

อีกทั้ง ปี 2570 เป็นสิ่งที่ทุกคนมุ่งหวัง รวมถึงค่าเป้าหมายของแผนยุทธศาสตร์ชาติที่ถูกกำหนดไว้ก่อนหน้านี้ ว่าความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้จะต้องเป็นศูนย์ ซึ่งตนได้สอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่กลับไม่มีหน่วยงานไหนให้หลักประกันได้เลยว่าจะบรรลุเป้าหมายนี้ จึงเป็นโจทย์ใหญ่ของนายกฯ ที่ต้องทำเรื่องนี้ และเป็นหัวโต๊ะให้กับหน่วยงานที่กำกับดูแล เพราะเป็นกลไกอำนาจรัฐที่จะชี้ชะตาชายแดนใต้ว่าจะไปในทิศทางไหน

“ต้องแสดงเจตจำนงที่ชัดเจน ว่าจะแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ได้เสียที ผ่านมาแล้ว 20 ปี จะต้องพลิกแกนแก้ปัญหาให้กระบวนการสันติภาพเป็นแนวทางการเมืองหลัก ถ้าปล่อยปะละเลยไว้ให้เป็นแนวทางมุมมองต่อความมั่นคง ก็จะเป็นการครอบงำของหน่วยงานภาครัฐ และราชการต่อ“

นายรอมฎอน กล่าวต่อว่า โจทย์ใหญ่คือ เรื่องที่ท่านต้องตัดสินใจคือในวันที่ 19 ตุลาคม 2567 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงว่ารัฐบาลจะขยายอีกเป็นครั้งที่ 77 หรือไม่ และมติ ครม. ของท่านจะเป็นอย่างไร ซึ่งอาจจะต้องทบทวนกฎหมายอื่นๆ ด้วย

นายรอมฎอน กล่าวอีกว่า เราต้องเรียนรู้อดีตจังหวัดชายแดนใต้ที่มีปัญหายืดเยื้อมาอย่างยาวนาน เพราะเราเพิกเฉยต่อสิ่งที่เราเรียนรู้ และบาดเจ็บ ประวัติศาสตร์บาดแผลหลายเรื่องเป็นเรื่องที่กลืนยาก แต่สังคมที่มีวุฒิภาวะเราต้องก้าวผ่านมันไปด้วยกัน เรียนรู้ที่จะเก็บบทเรียน ซึ่งนี่ถือเป็นบทเรียนของนายกรัฐมนตรีที่จะต้องนำประเทศนี้ พร้อมขอให้รัฐบาลแสดงจุดยืนวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดจะต้องไม่เกิดขึ้นอีก

“ ยืนยันให้เราหน่อยได้ไหมครับ ไม่ว่าจะเป็นประชาชนที่นราธิวาส มุกดาหาร กลางกรุงเทพ เมืองกาญ นครพนม หรือเชียงใหม่ จะต้องไม่มีใครกล้าฆ่าประชาชนแบบนี้อีก” นายรอมฏอน กล่าว

ในช่วงท้าย นายรอมฎอน ยังขอให้นายกฯ แสดงจุดยืนโน้มน้าวใจแนะนำให้ สส. ที่เป็นจำเลยในคดีตากใบ ไปขึ้นศาลในนัดต่อไป หรือในวันที่ 15 ตุลาคมนี้ ซึ่งเหนืออายุความอีกเพียงแค่ 10 วัน เพราะประชาชนรอมากกว่า 20 ปี เราจึงจะมาสร้างบรรทัดฐานและความยุติธรรมที่เข้มแข็งด้วยกัน และเราในฐานะฝ่ายค้านยินดีทำงานร่วมกัน สร้างสันติภาพ หลักนิติธรรม ฟื้นฟูความเชื่อมั่นของประเทศนี้พร้อมกับท่าน จึงต้องขอคำยืนยันจากนายกรัฐมนตรี

อย่างไรก็ตาม ในช่วงหนึ่งของการอภิปราย นายรอมฎอน ได้ฉายภาพบนสไลด์ ซึ่งมีรูปของนายทักษิณ ทำให้นายธีระชัย แสนแก้ว สส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย จึงได้ลุกขึ้นประท้วงว่า ผู้อภิปรายกำลังพาดพิงบุคคลภายนอก นายทักษิณที่ไม่มีโอกาสได้เข้ามาชี้แจง พร้อมถามว่า น.ส.แพทองธาร ซึ่งเป็นบุตรสาวของนายทักษิณ จะให้เขาตัดพ่อตัดลูกกันหรือ และยืนยันว่าหากยังนำภาพนี้ขึ้นอยู่ ตนก็จะยืนประท้วงอยู่อย่างนี้ สามวันสามคืนก็ได้

ทำให้นายวันมูหะมัดนอร์ ได้ขอดูภาพอีกครั้ง พร้อมขอให้นำภาพที่มีนายทักษิณออกไปทันที เพราะว่าเป็นบุคคลภายนอก พร้อมบอกให้นายรอมฎอน ไม่อภิปรายถึงผู้นำประเทศคนอื่นๆ ในอดีตอีก

ต่อมา สส.พรรคประชาชนหลายคน เช่น นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ และนายณัฐวุฒิ บัวประทุม ได้ลุกขึ้นแย้งว่า การอภิปรายจำเป็นต้องย้อนอดีตเพื่อให้เห็นผลของการกระทำ

แต่นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า ประธานได้วินิจฉัยแล้ว ก็ถือให้เป็นที่สุด ซึ่งนายวันมูหะมัดนอร์ ย้ำว่า จะไม่ให้ฉายภาพบุคคลภายนอกที่ทำให้เกิดความเสียหายในที่ประชุม

Related Posts

Send this to a friend