POLITICS

คนไทยเสียชีวิตเพิ่มรวม 20 ราย ถูกจับกุมอีก 3 ราย – ขอกลับไทยทะลุ 5 พันคน

คนไทยเสียชีวิตเพิ่มรวม 20 ราย ถูกจับกุมอีก 3 ราย กต. ไม่อาจยืนยันความปลอดภัยได้ 100% คาดตัวประกันอยู่กระจัดกระจาย ไม่น่ามีซื้อขายบังคับใช้แรงงาน ด้านตัวเลขแจ้งขอกลับไทยทะลุ 5 พันคน

วันนี้ (11 ต.ค. 66) นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศ ในฐานะโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ณ กระทรวงการต่างประเทศ ถึงความคืบหน้าสถานการณ์ ความไม่สงบในพื้นที่ตะวันออกกลาง

นางกาญจนา รายงานภาพรวมสถานการณ์ว่า ยังคงมีการโจมตีด้วยจรวดบริเวณใกล้กับฉนวนกาซ่า ทางฝ่ายอิสราเอลพยายามที่จะเข้าครอบครองยึดคืนพื้นที่ จึงยังคงมีการบาดเจ็บและเสียชีวิตทั้งสองฝ่าย ทั้งพลเรือน และทหาร ขณะที่อิสราเอลเร่งซ่อมแซมชายแดนแต่ยังคงมีผู้ก่อการที่หลบซ่อนและกระทำการอยู่ในอิสราเอล

นางกาญจนา กล่าวถึงผลกระทบต่อคนไทยในพื้นที่ว่า สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเทลอาวีฟ ได้รับแจ้งจากแรงงานในพื้นที่ว่า มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ โจมตีอีก 2 ราย ทำให้สถานะผู้เสียชีวิตรวมเป็น 20 ราย ทั้งนี้ การยืนยันการเสียชีวิตโดยทางการอิสราเอลนั้นจะต้องใช้เวลาต่อไป ส่วนผู้บาดเจ็บชาวไทย ได้รับรายงานว่ามีเพิ่มเติมอีก 4 ราย จากเดิม 9 ราย รวมเป็น 13 ราย

หลังจากที่มีข่าวว่ามีการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นนั้น ทาง สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเทลอาวีฟได้ติดต่อกับทางการอิสราเอลทันที ซึ่งทางฝ่ายอิสราเอลก็ได้แสดงความเสียใจอย่างยิ่ง และไม่อยากให้เกิดเหตุ และขอให้เข้าใจข้อจำกัดที่จะอพยพโยกย้ายออกมา และลำเลียงเสบียงเข้าในพื้นที่ แต่จะพยายามอย่างเต็มที่ เพราะการช่วยเหลือต้องมาจากทางการอิสราเอล

สำหรับผู้ที่ถูกจับไปเป็นตัวประกันได้รับแจ้งจากเพื่อนแรงงานด้วยกันเพิ่มอีก 3 ราย รวมเป็น 14 ราย ขณะเดียวกัน ความปลอดภัยของตัวประกันนั้น ยืนยันได้ยากมาก เนื่องจากขณะนี้ ฝ่ายฮามาส แจ้งว่า จับไปรวมทุกชาติประมาณ 150 คน และมีการคาดการณ์กันว่าน่าจะกระจัดกระจายอยู่ที่ต่างๆ ไม่ได้รวมกันอยู่ จึงคงไม่สามารถที่จะยืนยันเรื่องความปลอดภัยได้ 100%

ส่วนเรื่องของการเจรจากับกลุ่มฮามาสให้ปล่อยตัวประกันนั้น นางกาญจนา กล่าวว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทุกประเทศพยายามเพื่อให้ยุติความรุนแรง โดยสามารถเจรจากับชาติไหนได้ก็จะเจรจา เพราะมีผลกระทบที่เกิดขึ้นกับพลเรือนทั้งสองฝั่ง ทั้งบาดเจ็บและเสียชีวิต รวมถึงชาติอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องที่ได้รับผลกระทบก็พยายามเจรจาและทราบว่า คนที่ถูกควบคุมตัวน่าจะกระจัดกระจาย ตามที่ต่างๆ แต่เท่าที่ทราบกลุ่มชาวต่างชาติไม่ใช่กลุ่มเป้าหมาย

ทั้งนี้ ตามที่มีกระแสข่าวว่า พบแรงงานไทย 14 รายที่หลบซ่อนอยู่และได้รับการปล่อยตัวออกมานั้น จากการตรวจสอบ พบว่าไม่ได้อยู่ในรายชื่อที่มีในตอนแรก ถือว่าแยกออกมาต่างหาก

ขณะเดียวกัน การดำเนินงานของสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเทลอาวีฟ เมื่อวานนี้ (10 ต.ค. 66) เอกอัครราชทูตไทยและเจ้าหน้าที่ได้ไปเยี่ยมคนไทยที่บาดเจ็บซึ่งรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล และแรงงานในพื้นที่ ภายหลังจากกองทัพอิสราเอล และบริษัทจัดหางาน ได้มีการอพยพแรงงานไทยหลายร้อยคน ไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยได้แล้ว โดยอยู่ในศูนย์พักพิง หรือนิคมเกษตรกรรมที่ปลอดภัย

ขณะนี้ มีแรงงานที่ประสงค์จะกลับไทยรวม 5,019 ราย และแสดงความประสงค์ไม่กลับ 61 ราย จากแรงงานทั้งหมด 30,000 กว่าราย ส่วนที่เหลืออาจจะอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยหรืออยู่ระหว่างการตัดสินใจและมีบางคนที่เมื่อโทรศัพท์ติดต่อกลับไป ก็เปลี่ยนใจไม่กลับเพราะมาอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยแล้ว

นางกาญจนา ยังรายงานย้ำถึงการอพยพคนไทยรอบแรก 15 คน ถึงประเทศไทยในวันพรุ่งนี้ (12 ต.ค. 66) เวลา 10:35 น. ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมรองรับและแถลงข่าวช่วงเช้า ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิแทน

นางกาญจนา ยังกล่าวต่อไปถึงการเตรียมการจองที่นั่งบนสายการบินพาณิชย์ สำหรับในวันที่ 18 ต.ค. จองไว้ 80 ที่นั่ง ขณะที่เครื่องของกองทัพอากาศนั้น อยู่ระหว่างการขออนุญาตบินผ่านน่านฟ้าของประเทศต่างๆ จึงต้องใช้เวลา และในพื้นที่ ก็ต้องมีการนัดหมายกับพี่น้องคนไทย

ทั้งนี้ นางกาญจนา ยังขอให้มั่นใจว่าจะพยายามดำเนินการอพยพอย่างเร็วที่สุด แต่มีหลายปัจจัย เพราะประเทศที่ อพยพและสำเร็จแล้วส่วนใหญ่จะเป็นประเทศยุโรปซึ่งอยู่ใกล้ในการเดินทาง และบางส่วนไม่ได้เป็นแรงงานในพื้นที่ที่เกิดการสู้รบ ดังนั้น การเคลื่อนย้ายและรวมคนในที่ปลอดภัย จะสะดวกกว่า

สำหรับกรณีที่มีภาพปรากฏว่าแรงงานถูกบังคับให้ทำงานในสภาวะสงครามนั้น นางกาญจนา กล่าวว่า ได้เห็นตามข่าวทางโซเชียล และทางเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเทลอาวีฟ ได้ประสานไปทางนายจ้างและทางการอิสราเอลที่โยกย้ายคนไปในพื้นที่อื่น ซึ่งทางฝ่ายอิสราเอล แจ้งว่าเป็นการโยกย้ายจากพื้นที่หนึ่งซึ่งทำงานไม่ได้และไม่ปลอดภัย มาสู่อีกพื้นที่หนึ่ง โดยเป็นการทำงานเพื่อที่จะมีรายได้ แต่ก็เข้าใจถึงสภาวะความตึงเครียดและความกดดัน ซึ่งทางเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเทลอาวีฟ ระบุว่า คงต้องให้เวลากับพี่น้องแรงงานด้วย ไม่ใช่ย้ายออกมาแล้วให้ทำงานทันที เพราะส่งผลต่อสภาพจิตใจ แต่ประเภทที่ถูกขายเป็นแรงงาน ทางเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเทลอาวีฟ ตอบรับว่า ไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น และเชื่อว่ากรณีนี้แรงงานมีสิทธิ์ที่จะปฏิเสธได้ หากสภาพจิตใจยังไม่พร้อม และส่วนตัวคิดว่านายจ้างไม่น่าจะบังคับให้ไปทำงานหากอยู่ในสภาวะเสี่ยง

Related Posts

Send this to a friend