GISTDA เผยภาพดาวเทียมพบน้ำท่วมขัง 5.62 ล้านไร่ใน 48 จังหวัด
GISTDA เผยภาพดาวเทียมพบน้ำท่วมขัง 5.62 ล้านไร่ใน 48 จังหวัด จับตาเขื่อนป่าสักฯ ระบายน้ำเพิ่ม เทียบชัดปี 65 พื้นที่น้ำท่วมขังยังน้อยกว่าปี 54 ถึง 3 เท่าแต่ปริมาณฝนใกล้เคียง
วันนี้ (11 ต.ค.65) ดร.สยาม ลววิโรจน์วงศ์ โฆษก GISTDA และ ผู้อำนวยการสำนักประยุกต์และบริหารภูมิสารสนเทศ กล่าวว่า สถานการณ์น้ำตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาขยายวงกว้างมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากพายุโนรูที่ทำให้น้ำในเขื่อนหลักมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้องเร่งระบายน้ำส่งผลกระทบไปยังพื้นที่ท้ายเขื่อนและนอกคันกั้นน้ำ จากการวิเคราะห์ข้อมูลภาพดาวเทียมระบบบันทึกด้วยเรดาร์ (Radar) ระหว่างวันที่ 1-7 ตุลาคม 2565 พบพื้นที่น้ำท่วมทั้งสิ้น 5.62 ล้านไร่ใน 48 จังหวัด พบมากสุดคือภาคกลางที่เป็นทุ่งรับน้ำ ได้แก่
นครสวรรค์ 702,303 ไร่ พระนครศรีอยุธยา 443,156 ไร่ พิจิตร 424,725 ไร่ สุพรรณบุรี 384,386 ไร่ นครราชสีมา 299,370 ไร่ สุโขทัย 290,934 ไร่ พิษณุโลก 281,835 ไร่ ศรีษะเกษ 217,537 ไร่ สุรินทร์ 216,335 ไร่ ชัยภูมิ 209,844 ไร่ และเพชรบูรณ์ 192,390 ไร่
สำหรับข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมเปรียบเทียบสถานการณ์น้ำในปี 2554 กับ 2565 จะพบว่า พื้นที่น้ำท่วมขังทั้งประเทศยังแตกต่าง แม้ปริมาณฝนสะสมทั้งปีจะใกล้เคียงกัน แต่พื้นที่น้ำท่วมขังยังน้อยกว่าปี 2554 อยู่ 3 เท่า เนื่องจากมีการเร่งระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง และเมื่อเปรียบเทียบปริมาณน้ำในลุ่มน้ำชี-มูลจะพบว่า ปริมาณน้ำในปีนี้ยังไม่เทียบเท่าปี 2562 แต่พื้นที่น้ำท่วมขังใกล้เคียงกับปี 2564 ต่างกันตรงที่ปีนี้น้ำมาเร็ว และท่วมขังบริเวณลุ่มน้ำชี-มูลตอนบน จังหวัดอุบลราชธานี ขณะปีที่ผ่านมาน้ำจะท่วมขังบริเวณลุ่มน้ำชี-มูลตอนล่าง จังหวัดนครราชสีมา
ดร.สยาม เปิดเผยข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบน และตอนล่าง ณ วันที่ 8 ตุลาคม 2565 โดยพบว่าพื้นที่น้ำท่วมขังเยอะพอสมควร แต่ในทุ่งรับน้ำต่าง ๆ ยังรับมวลน้ำได้อยู่ ส่วนข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมลุ่มน้ำชี-มูล พบปริมาณน้ำเกินความจุทำให้น้ำล้นตลิ่ง ส่วนน้ำใน 3 เขื่อนหลัก ทั้งเขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนจุฬาภรณ์ และเขื่อนสิรินธรมีความจุเกิน 80% แล้ว จึงต้องเร่งระบายน้ำ อาจส่งผลกระทบหนักต่อประชาชนที่อยู่ท้ายเขื่อน
ส่วนสถานการณ์น้ำที่ทุ่งป่าโมก และทุ่งรับน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง พบว่าน้ำท่วมทุ่งแล้วกว่า 90% เหลือพื้นที่รับน้ำอีกเพียงเล็กน้อย อย่างไรก็ตามมีทุ่งรับน้ำที่อยู่ใกล้เคียงที่ยังรับน้ำได้อยู่ เช่น ทุ่งเจ้าเจ็ด และทุ่งพระยาบรรลือ ซึ่งกรมชลประทานยังมีทุ่งรับน้ำอื่นที่จะรองรับมวลน้ำที่อาจจะไหลลงมา
สถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงคือ มวลน้ำจากพายุโนรูที่ไหลลงสู่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งเร่งระบายมายังเขื่อนพระรามหกออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็ได้ผันน้ำไปยังพื้นที่ทางตะวันออกลงสู่แม่น้ำนครนายกและแม่น้ำบางปะกง
ภารกิจเร่งด่วนคือ การระบายน้ำลงสู่ทะเล โดยในช่วง 2-3 วันนี้ ระดับน้ำทะเลจะหนุนสูง ทำให้ระดับน้ำในจังหวัดปทุมธานี และนนทบุรีสูงขึ้นอีก 30 เซนติเมตร ทำให้ระบายน้ำออกไม่ได้ พื้นที่นอกคันได้รับผลกระทบ ส่วนหนึ่งน้ำจะดันย้อนขึ้นไปทำให้พื้นที่จังหวัดชัยนาท อ่างทอง สิงห์บุรี สุพรรณบุรี และพระนครศรีอยุธยา ได้รับผลกระทบจากน้ำขึ้นสูงราว 15 เซนติเมตร
“สถานการณ์น้ำในปีนี้แตกต่างไปจากปี 2554 ปีนี้ฝนค่อย ๆ มา ทำให้มีช่วงเวลาในการบริหารจัดการน้ำ มีวิธีในการบริหารจัดการน้ำที่ดีขึ้น ทั้งการทำแก้มลิง และการจัดสรรพื้นที่เพาะปลูก ทำให้ผลกระทบน้อยลง”
ดร.สยาม เปิดเผยภาพถ่ายดาวเทียมของจังหวัดยโสธร และอุบลราชธานี เปรียบเทียบภาพแม่น้ำชีก่อนและหลังสถานการณน้ำท่วม ก่อนน้ำท่วม มีลักษณะคดเคี้ยว และบางพื้นที่เป็นทุ่งรับน้ำได้ ส่วนหลังน้ำท่วมในวันที่ 5 ตุลาคม 2565 จะพบว่าน้ำท่วมเข้าพื้นที่การเกษตรของประชาชน ภาพถ่ายดาวเทียมของจังหวัดอ่างทอง พบว่าพื้นที่ที่อยู่นอกคันกั้นน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาได้รับผลกระทบแล้ว ทั้งนี้ข้อมูลน้ำท่วมของปีก่อนสามารถใช้คาดการณ์ระยะเวลาน้ำท่วมขังของปีนี้ได้ไม่ทั้งหมด GISTDA สามารถใช้ดาวเทียมในการมอนิเตอร์ทุ่งรับน้ำ เพื่อดูปริมาณน้ำที่อาจจะค้างทุ่งเมื่อหมดฤดูฝนเท่านั้น