POLITICS

กระทรวงยุติธรรม เปิดมหกรรมแก้หนี้ ที่ จ.ยะลา เปิดให้ลูกหนี้ กยศ.มาปรับโครงสร้างหนี้

กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กรมบังคับคดี และ กยศ. เปิดมหกรรมแก้หนี้ ที่จ.ยะลา เปิดให้ลูกหนี้ กยศ.มาปรับโครงสร้างหนี้ เฉพาะ จชต.มีลูกหนี้ กว่า 1.8 แสนราย จากกว่า3 ล้าน รายทั่วประเทศ

วันนี้ (11 ก.ย. 67) ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา อ.เมือง จ.ยะลา นายกูเฮง ยะวอฮะซัน ตัวแทน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า งานมหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแแห่งความเป็นธรรม ที่เปิดให้ลูกหนี้ กยศ.ในจังหวัดยะลา มาร่วมปรับโครงสร้างหนี้ ในโครงการมหกรรมแก้หนี้ ที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 83 แล้ว ตามโครงการของกระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กรมบังคับคดี ร่วมกับ สำนักงานกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เปิดให้ลูกหนี้ โดยเฉพาะ กยศ.มาเข้าร่วมโครงการนี้เพื่อจะได้มาไกล่เกลี่ย และปรับโครงสร้างหนี้ใหม่

“ยังมีน้องจำนวนมากไม่กล้ามาแสดงตนเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ เพราะอาจยังกลัว หรือคิดว่าเป็นเงินให้เปล่า จึงต้องย้ำตามที่ รมว.ยุติธรรม ย้ำว่า หนี้ก็ยังเป็นหนี้ แต่ทุกคนจะได้ปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งจะไม่ต้องมีปัญหาเรื่องผู้ค้ำประกัน เพราะจะมีการปลดผู้ค้ำประกัน และไม่เครียดกับอัตราดอกเบี้ยและเบี้ยปรับที่ต้องเป็นภาระในการจ่ายมากกว่าเงินต้น ซึ่งดอกเบี้ยเหลือ 1 % เบี้ยปรับเหลือ 0.5 % กรณีขาดผ่อนเกิน 6 งวด และโดยจะมีการหักเงินที่จ่ายมาทั้งหมดมาหักเงินต้น จะเหลือส่วนที่เหลือผ่อนชำระต่อเดือนเป็นเวลา 15 ปี ซึ่งอาจจะเหลือผ่อนชำระแค่เดือนละไม่เกิน 1,000 บาท เป็นต้น”

นายกูเฮง กล่าวย้ำว่า โครงการนี้จะเป็นประโยชน์กับ ลูกหนี้ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มก่อนฟ้อง จะไม่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี และกลุ่มที่อยู่ในชั้นบังคับบังคับคดี หลังศาลมีคำพิพากษา จะไม่ถูกขาดทอดตลาด และเงินที่ได้คืนมาจะได้นำไปให้เด็กที่จะกู้ยืม กยศ.ใหม่ สร้างความดีใจให้กับเด็กและครอบครัวที่จะได้รับการศึกษา โดยเฉพาะในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นหนี้ กยศ.ประมาณ 1.8 แสนราย มีวงเงินเบี้ยปรับ กว่า 2,600 กว่าล้านบาท เป็นวงเงินที่สูงมาก โครงการนี้จึงเป็นประโยชน์อย่างมาก

“เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่รัฐให้มา ไม่ใช่เงินให้เปล่า แต่เป็นเงินที่กู้ยมมาก จึงจำเป็นต้องคืน แต่ที่ผ่านมาอาจจ่ายไปแล้วยิ่งเพิ่ม เพราะเป็นการหักดอกเบี้ยปรับ ทำให้ท้อไม่อยากจะจ่าย จึงอยากให้น้องมาร่วมโครงการนี้ เพราะต่อไปจะเป็นการหักเงินต้น ไม่ใช่หักเบี้ยปรับแบบเดิมแล้ว” นายกูเฮง กล่าวย้ำ

นางสาวเอมอร เสียงใหญ่ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เปิดเผยว่า โครงการนี้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่จะแก้หนี้ให้ประชาชน โดย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ซึ่งมี พ.ร.บ.ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ.2563 ดำเนินการเชิญเจ้าหน้าที่และลูกหนี้มาไกล่เกลี่ย ดำเนินการก่อนฟ้อง ก่อนมีคำพิพากษา จึงสามารถเชิญเจ้าหนี้และลูกหนี้ เช่น กยศ.มีไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ร่วมกับปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งจะมีที่ปรึกษากฏหมายและทนายความให้คำปรึกษา ให้คำปรึกษาในการเจรจาด้วย และให้ความรู้ด้วย ซึ่งที่ จ.ยะลา จะมีลูกหนี้กยศ.จำนวนมาก ก็จะได้โอกาสในการที่จะมาไกล่เกลี่ยในการชำระหนี้

“จะมีทั้งลูกหนี้ชั้นดีที่ผ่อนชำระอยู่แล้วก็มาร่วมโครงการได้ เพื่อจะได้ไม่ต้องผ่อนมากเกินไป เพราะอาจมีภาระอย่างอื่น ซึ่งกฏหมายใหม่ กยศ.จะให้ลดภาระเรื่องเบี้ยปรับ ชำระเพียงเงินต้น ก็จะช่วยเหลือได้โดยเฉพาะกลุ่มที่ถูกดำเนินคดีด้วย และในกลุ่ม กยศ.ทางกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และกรมบังคับคดี จะทำโครงการนี้ต่อไป จึงอยากให้ลูกหนี้ทุกประเทศ เข้ามาร่วมไกล่เกลี่ย สามารถติดตามการประชาสัมพันธ์ ที่ทางกรมคุ้มครองสิทธิฯจะส่ง SMS ไปถึงลูกหนี้ให้ร่วมโครงการนี้ และจะมีการจัดกิจกรรมครั้งใหญ่ภายในสิ้นปีนี้ด้วย”

อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ยืนยันว่า โครงการนี้ไม่ใช่การคืนหนี้ให้ เพราะมีหนี้ก็ต้องมาใช้หนี้ และอยากให้มาเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้ เพื่อชำระใหม่ ตามที่มีกำลัง เจ้าหนี้ก็พร้อมจะให้โอกาส

นายเสกสรร สุขแสง อธิบดีกรมบังคับคดี กล่าวว่าโครงการนี้ทำร่วมกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ซึ่งมีทั้งหนี้ กยศ.มีกลุ่มในชั้นคดี มี 1 แสนกว่าราย และที่ถูกบังคับคดี และยึดทรัพย์ มี 5 หมื่นราย คนที่เข้ามาในโครงนี้จะได้สิทธิไม่ถูกยึดทรัพย์ และอายัดทรัพย์ ไม่ถูกทวงทรัพย์ และยึดบัญชี รวมถึงผู้คำประกัน ก็จะหมดปัญหานี้ รวมถึงหนี้สิน ที่มีจำนวนสูง จึงต้องร่วมกันแก้ปัญหา โดยใช้กรอบกฏหมายที่มีอยู่ทำงานร่วมกับ กยศ.ให้ลูกหนี้เข้ามาปรับโครงสร้างหนี้ ก็ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก

“จากการทำโครงการไป 80 กว่าแห่ง มีคนถูกถอนบังคับคดีไปแล้ว 8-9 พันราย จึงได้ผลมาก จึงฝากให้ลูกหนี้ที่ถูกบังคับคดีให้มาเข้าระบบ อย่ากลัว เพราะจะได้ประโยชน์กับท่านมากกว่า” อธิบดีกรมบังคับคดี กล่าวย้ำ

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. เปิดเผยว่า สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีผู้มาลงทะเบียนมากที่สุดในประเทศ จากจำนวนกว่า 3 ล้านคนทั่วประเทศ และลูกหนี้ กยศ.สบายใจได้ว่า หลังเข้าร่วมโครงการนี้แล้ว ถ้าผ่อนชำระหมดเงินต้น ภายในระยะเวลา 15 ปี จะยกเบี้ยปรับเดิมให้หมด และสามารถผ่อนเป็นรายเดือนหรือรายวันได้ ซึ่งขั้นตอนการมาลงทะเบียน ไกล่เกลี่ยและเซ็นต์สัญญาใช้เวลาไม่เกิน 30 นาที ก็จะแก้ปัญหาหนี้ กยศ.ได้ จึงอยากให้มาเข้าร่วมจำนวนมาก เพื่อที่ กยศ.จะได้มีเงินไปเปิดให้กู้ยืมให้กับเด็กและเยาวชนได้เพิ่ม จากที่ตั้งเป้าไว้ปีนี้จะปล่อยกู้วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท ได้กว่า 8 แสนคน

“สำหรับการปรับโครงสร้างหนี้ของ กยศ.ต้องการเพียงให้ทุกคนกลับมาชำระเงินต้น ไม่ปรารถนาจะเอาดอกเบี้ย ซึ่งจากจำนวนลูกหนี้ กยศ.กว่า 3 ล้านคน โดยเฉลี่ยจะเป็นหนี้ต่อคนประมาณ 1.2 แสนบาท ทำให้มีหนี้สะสมรวมกันกว่า 4 แสนล้านบาท เป็นวงเงินที่สูงมาก การเริ่มโครงการนี้ ทำให้ได้เงินคืนมากกว่า 2 หมื่นล้านบาท เชื่อว่าหากทำอย่างต่อเนื่องก็จะสามารถให้ชำระเงินคืนได้มากขึ้น ซึ่งคนที่ได้รับสิทธิ เกิดขึ้นหลังมีกฏหมายใหม่ตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค.66 จะเปิดให้ลูกหนี้ตั้งแต่ปี 2540 เข้าร่วมปรับโครงสร้างหนี้ได้” นายชัยณรงค์ กล่าว

สำหรับลูกหนี้ กยศ.ที่มาเข้าร่วมโครงการต่างดีใจ ที่มีโครงการนี้ เพราะมีโอกาสได้ปรับโครงสร้างหนี้ อย่างหญิงรายหนึ่ง เรียนจบมาแล้ว 5 ปี เป็นหนี้อยู่ 1.2 แสนบาท ได้ชำระมาตลอด แต่ในปีที่ผ่านมา มีปัญหาเรื่องว่างงาน ทำให้ไม่สามารถผ่อนส่งได้เดือนละ 3,000 บาท ทำให้จะถูกดำเนินคดี จึงมาเข้าร่วมโครงการ ได้รับการปรับโครงสร้างหนี้ จะได้ผ่อนส่งเดือนละ 900 บาท เป็นเวลา 15 ปี เฉพาะเงินต้นที่เหลือเท่านั้น ทำให้สบายใจขึ้้น และเมื่อมีโอกาสจะหาเงินมาจ่ายให้ครบ จึงเห็นว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ดี เปิดโอกาสให้ลูกหนี้ กยศ.ได้กลับมาใช้หนี้คืนได้ โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีปัญหาเรื่องรายได้ไม่เพียงพอ ทำให้ไม่สามารถผ่อนคืนได้ตามกำหนดเวลา บางรายมีคดีจะถูกยึดทรัพย์ เมื่อมีโครงการก็มาเข้าร่วม และจะเริ่มในการใช้หนี้คืนให้ครบ

Related Posts

Send this to a friend