POLITICS

ศาลฎีกาฯ พิพากษายืน จำคุก ‘นริศร’ 12 เดือน ไม่รอลงอาญา กรณีเสียบบัตรแทนกัน ปี 56

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษายืน จำคุก ‘นริศร ทองธิราช’ อดีต สส.เพื่อไทย 12 เดือน ไม่รอลงอาญา กรณีเสียบบัตรแทนในการประชุม สส. เมื่อปี 2556

วันนี้ (11 ส.ค. 66) เวลา 11:00 น. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ อม.อธ.11/2566 ระหว่าง อัยการสูงสุด โจทก์ นายนริศร ทองธิราช จําเลย คดีดังกล่าวสืบเนื่องมาจากจำเลยถูกฟ้องว่า จำเลยดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2556 เวลากลางคืนหลังเที่ยง สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 24 ปีที่ 3 ครั้งที่ 11 (สมัยสามัญทั่วไป) เป็นพิเศษ ประชุมเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. … ในการพิจารณา มาตรา 6 และมาตรา 20

จำเลยใช้ อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ นำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายอื่น หลายใบอันเกินกว่าจำนวนบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่จำเลยและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกรัฐสภาคนหนึ่งจะพึงมี และใช้ได้เพียงคนละ 1 ใบ คนละ 1 เสียง มาใช้แสดงตนและออกเสียงลงคะแนน โดยเสียบบัตรอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวหมุนเวียนใส่เข้าไปในเครื่องออกเสียงลงคะแนนและกดปุ่มเพื่อแสดงตน แล้วลงมติคราวละ หลายใบในการออกเสียงลงคะแนนในคราวเดียวกัน เป็นการใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนเกินกว่า 1 เสียง ในการลงคะแนนมติในแต่ละครั้ง

ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 15 – 18/2556 ว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 ,พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและ ปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172,192 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 41 และนับโทษต่อจากโทษของจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ อม.36/2562 ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

จําเลยให้การรับสารภาพ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 127/1 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 1 ปี คำให้การรับสารภาพของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก กระทงละ 6 เดือน รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 12 เดือน นับโทษจำคุกของจำเลยคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ อม.22/2565 ของศาลนี้

จำเลยอุทธรณ์เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์เสียงข้างมากเห็นว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์บรรยายฟ้องในสาระสำคัญอ้าง เลขคดีและชื่อคู่ความของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญไม่ถูกต้อง ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องเคลือบคลุมนั้น ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยย่อมยกขึ้นอ้างได้ แม้จะไม่ได้ยกขึ้นในชั้น พิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็ตาม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญา ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 8 วรรคสาม เมื่อฟ้องของโจทก์ระบุถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยกระทำความผิดครบองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่า ด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 แล้ว แม้บรรยายฟ้องอ้างเลขคดีและชื่อคู่ความของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญคลาดเคลื่อน ก็เป็นเพียงรายละเอียด ไม่ใช่ข้อสาระสำคัญ อีกทั้งในวัน นัดพิจารณาคดีครั้งแรก จำเลยแต่งตั้งทนายความเข้ามา ศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังต่อหน้าจำเลย และทนายจำเลย จำเลยให้การปฏิเสธ จากนั้นก่อนวันนัดตรวจพยานหลักฐาน จำเลยขอถอนคำให้การเดิมจาก ปฏิเสธและให้การใหม่เป็นรับสารภาพโดยมีรายละเอียดชัดเจนอันเป็นการแสดงให้เห็นว่า จำเลยเข้าใจข้อหา และพฤติการณ์การกระทำความผิดที่โจทก์ฟ้องแล้ว ทั้งฟ้องโจทก์ยังบรรยายถึงข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่ เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ ตลอดจนบุคคลที่เกี่ยวข้องพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจ ข้อหาได้ดีแล้ว จึงเป็นฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 8 วรรคสาม และมาตรา 26

ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการกำหนดโทษหรือลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยต้องคำพิพากษาจำคุก 16 เดือน ในคดีหมายเลขแดงที่ อม.อธ.10/2566 ของ ศาลนี้ และคดีถึงที่สุดแล้ว กรณีจึงไม่อาจรอการกำหนดโทษ หรือรอการลงโทษให้แก่จำเลยตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ได้ และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองลงโทษ จำคุกจำเลยในอัตราขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนด จึงพิพากษายืน

Related Posts

Send this to a friend