POLITICS

‘นิติธร ‘ ยื่นหนังสือถึงอัยการสูงสุด ให้ตรวจสอบคำร้อง ‘สนธิญา’

วันนี้ (11 มิ.ย. 64) ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ นายนิติธร ล้ำเหลือ ที่ปรึกษา กลุ่มประชาชนคนไทย (ปท.) เดินทางมายื่นหนังสือถึงอัยการสูงสุด เพื่อให้ตรวจสอบคำร้องของ นายสนธิญา สวัสดี ว่าเป็นเท็จและมีพฤติการณ์กลั่นแกล้งประชาชนหรือไม่นั้น

นายนิติธร ล้ำเหลือ ที่ปรึกษา กลุ่มประชาชนคนไทย (ปท.) กล่าวว่า ตนเองมายื่นข้อเท็จจริงประกอบการพิจารณาของอัยการ และให้อัยการได้พิจารณาว่าการนำข้อมูลดังกล่าวมาเสนอ ถือเป็นการนำเสนอข้อมูลเท็จ และมีความพยายามที่จะใช้หน่วยงานของรัฐมาสนองประโยชน์ส่วนตน ส่วนกรณีที่นายสนธิญามายื่นในนามที่ปรึกษากรรมาธิการกฎหมาย นายนิติธร มองว่า ผู้ที่จะทำเรื่องลักษณะนี้ควรมีปัญญา ถ้าไร้ปัญญาก็ไม่ควรขยัน และควรลาออกจากการเป็นกรรมาธิการ พร้อมกลับไปอ่านกฎหมายให้แตกฉาน ซึ่งส่วนนี้สะท้อนไปถึงประธานคณะกรรมาธิการ ที่จะต้องมีการพิจารณาการกระทำของบุคคลเหล่านี้ เพราะทำให้เกิดความเสียหาย และอยากให้บุคคลเหล่านี้ไปหาคุณค่าของชีวิตให้เจอ

สำหรับการเคลื่อนไหวของกลุ่มไทยไม่ทน นำโดย นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายนิติธร ไม่ออกความคิดเห็นในส่วนนี้ แต่คิดว่าผู้ออกมาเคลื่อนไหวคงศึกษากฎหมายมาอย่างถี่ถ้วนแล้ว อีกทั้งประเด็นการเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง ก็เป็นสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน และถือเป็นหน้าที่ของตนเองที่จะต้องรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ เพื่อให้บ้านเมืองเป็นระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

จากนั้นเวลา 15.00 น. นายนิติธรได้เดินทางไปยื่นหนังสือที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน) ต่อกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อเรียนเชิญกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ร่วมลงพื้นที่สังเกตการณ์การชุมนุมในวันที่ 24 มิ.ย. เพื่อนำข้อมูลไปเสนอแนะต่อรัฐบาลและผู้ชุมนุม ในการคุ้มครองสิทธิของประชาชน โดยมี น.ส.ศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นตัวแทนมารับหนังสือ

อย่างไรก็ตาม นายนิติธร ระบุถึงกรณีนี้ว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ เป็นองค์กรอิสระภายใต้รัฐธรรมนูญที่มีบทบาทตรวจสอบและรายงานการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเสนอมาตรการแก้ไขที่เหมาะสม โดยในรายงานผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ปี 2563 เพื่อเสนอต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และเผยแพร่ต่อประชาชน กลุ่มประชาชนคนไทย พบว่า ในรายงานประเด็นสถานการณ์การชุมนุมเรียกร้องทางการเมือง ของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ในหน้า 59 ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น โดยเป็นการสรุปข่าวมาบรรจุไว้ในรายงาน และอาจไม่มีการลงพื้นที่ศึกษาหาข้อมูล ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

เนื่องจากรายงานดังกล่าวอ้างถึงเหตุการณ์ในวันที่ 26 ตุลาคม 2563 ที่กลุ่ม “ประชาชนคนไทย” จัดกิจกรรมหน้าสถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เพื่อยื่นหนังสือให้รัฐบาลเยอรมนีเข้าใจข้อมูลข้อเท็จจริงที่ถูกต้องของสถานการณ์การเมืองไทยและการดำรงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย โดยในรายงานระบุว่า “นำไปสู่การเผชิญหน้ากับประชาชนกลุ่มที่เห็นต่าง” โดยอ้างถึงการชุมนุมของกลุ่มราษฎรในช่วงเย็นวันเดียวกัน กลุ่ม “ประชาชนคนไทย” จึงเห็นว่าข้อเขียนดังกล่าวหากมาจากการลงพื้นที่ นับเป็นการ “บิดเบือน” แต่หากเป็นการเขียนจากการสรุปข่าวจากสื่อมวลชนก็ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงเนื่องจากวันดังกล่าว ไม่มีเหตุปะทะ เผชิญหน้าระหว่างมวลชนใดๆ ทั้งสิ้น

ทั้งนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติควรนิยามหรือให้ความหมายของ “การชุมนุมโดยสงบ” และ “การชุมนุมที่ไม่สงบ” ที่ชัดเจนเพื่อให้การวิเคราะห์ข้อมูลได้ถูกต้องมีมาตรฐานเที่ยงธรรมโดยให้สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และกติกาสากลอื่นๆ เพื่อสร้างเวทีหรือเปิดช่องทางการปรึกษาหารือร่วมกับกลุ่มต่างๆ เพื่อนำไปสู่การยุติความขัดแย้งในสังคมไทยพร้อมเรียนเชิญคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงของกิจกรรมในวันที่ 24 มิ.ย. 64 ณ ทำเนียบรัฐบาลด้วย

ด้าน น.ส.ศยามล กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตระหนักเสมอว่า แนวทางการปฏิบัติงานนั้น จะต้องทำตามหลักกติกาสากล โดยเฉพาะกติกาว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน จึงต้องใช้หลักในการพิจารณาตั้งแต่หลักการเฝ้าระมัดระวังอย่างเป็นกลาง หลักการสัดส่วนตามความจำเป็น และหลักการจัดการให้เกิดความสงบเรียบร้อย ซึ่งทางคณะกรรมการฯ ได้ทำหนังสือคู่มือให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อใช้ดูแลผู้ชุมนุม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สำนักงานคณะกรรมการฯ ตระหนักเป็นสิ่งสำคัญ รวมทั้งจะมีการเข้าไปสังเกตการณ์ เพื่อให้เกิดการแสดงออกทางเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างตรงไปตรงมา

Related Posts

Send this to a friend