POLITICS

ศาลยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว ‘ภูมิใจไทย’ ห้าม ‘ชูวิทย์’ เข้าสถานที่ปราศรัย

ศาลแพ่งยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว ‘พรรคภูมิใจไทย’ ห้าม ‘ชูวิทย์’ เข้าบริเวณสถานที่ปราศรัยหาเสียง ชี้ เป็นการจำกัดสิทธิเกินสมควร

วันนี้ (11 พ.ค. 66) ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก กรณีที่พรรคภูมิใจไทย เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ จำเลย ต่อศาลแพ่งเรื่องละเมิด พร้อมเรียกค่าเสียหาย ในคดีหมายเลขดำที่ พ.2376/2566 โดยกล่าวหาว่าจำเลยกระทำการละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหายแก่เสรีภาพ เสียหายต่อทรัพย์สิน เสียหายแก่สิทธิในชื่อเสียงหรือ เกียรติคุณหรือทางเจริญของโจทก์ เพื่อให้โจทก์ได้รับความเสียหาย และตัดทอนคะแนนนิยมในการหาเสียง โดยชอบด้วยกฎหมาย และยื่นคำร้องให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวในระหว่างพิจารณาเป็นกรณีฉุกเฉิน ห้ามมิให้จําเลยเข้าใกล้บริเวณสถานที่หาเสียงปราศรัยของโจทก์ และห้ามมิให้จำเลยกล่าว แถลงข่าวหรือพูด แสดงความคิดเห็นถึงโจทก์ และผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของโจทก์ ไม่ว่าด้วยวิธีการใดๆ ในลักษณะ ทํานองเดียวกับที่ถูกฟ้อง และไม่ว่าจะแสดงออกทางภาพ เสียงคลิป ข้อความ ป้ายโฆษณา สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อ อิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อโซเชียลใดๆ หรือขึ้นเวทีต่างๆ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนกว่าจะพ้นวันเลือกตั้ง

ทั้งนี้ ศาลพิเคราะห์คำร้องแล้ว เห็นว่าตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 25 บุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพที่จะทำการใดๆ ตราบเท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคล นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ยังรับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการ เดินทาง และเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธจำเลยย่อมมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นและ เดินทางเพื่อเข้าฟังการปราศรัยที่จัดขึ้นเป็นสาธารณะได้ การห้ามมิให้จำเลยเข้าใกล้บริเวณที่หาเสียงปราศรัย ของโจทก์จึงเป็นการจำกัดเสรีภาพของจำเลยเกินสมควร ทั้งยังไม่แน่ว่าจำเลยจะเข้าไปบริเวณพื้นที่หาเสียง ปราศรัยของโจทก์ในวันที่ 12 พ.ค. 2566 และกระทำการก่อความวุ่นวายหรือไม่ หากจำเลยมี พฤติการณ์ที่จะก่อความวุ่นวายหรือเป็นการใช้เสรีภาพเกินขอบเขตจนกระทบต่อเสรีภาพหรือความปลอดภัย ของบุคคลอื่น ถึงขั้นที่เป็นการละเมิดกฎหมายการกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดที่มีโทษทางอาญา และโจทก์สามารถที่จะดำเนินการตามกฎหมายกับจำเลยเพื่อระงับความเสียหายได้อยู่แล้ว จึงยังไม่สมควรที่จะมี คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้

ในส่วนคำขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามมิให้จำเลยกล่าว แถลงข่าวหรือพูดแสดงความคิดเห็นถึงโจทก์ และผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของโจทก์นั้น เป็นคำขอที่มีลักษณะห้ามมิให้จำเลยกล่าวหรือไขข่าวถึงเรื่องตามฟ้องอันเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลในการแสดงความคิดเห็น การพูดการเขียน การพิมพ์ การโฆษณาและสื่อความหมายโดยวิธีอื่น อันมีลักษณะเป็นการทั่วไปต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 34 ซึ่งเป็นการไม่แน่นอนว่าจำเลยจะได้กล่าวอ้างหรือพูดแสดงข้อความอันเป็นเท็จอันเป็นการใส่ความโจทก์หรือไม่ หากพิสูจน์ได้ว่าเป็นการกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง จำเลยย่อมจะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนต่อโจทก์ตามที่โจทก์ฟ้องอยู่ แล้ว

อีกทั้งข้อความที่โจทก์อ้างว่าจำเลยกล่าวหรือไขข่าวตามฟ้องนั้นยังไม่แน่ชัดว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อ โจทก์หรือไม่ ซึ่งประชาชนโดยทั่วไปย่อมมีวิจารณญาณว่าสมควรเลือกผู้สมัครจากพรรคการเมืองโจทก์หรือไม่ การจะสั่งห้ามจําเลยมิให้กระทำการใดในอนาคตที่ยังไม่แน่นอนว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ย่อม เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของจำเลยเกินสมควร กรณียังไม่สมควรที่จะมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ยกคำร้อง

Related Posts

Send this to a friend