‘สถาบันพระปกเกล้า’ เปิดผลโพลเลือกตั้ง กทม. คาดอาจเป็นสวิงโหวต
วันนี้ (11 พ.ค.65) สำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า แถลงผลสำรวจความเห็นและพฤติกรรมของประชาชนต่อการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. พ.ศ.2565 สำรวจความเห็นระหว่างวันที่ 3-9 พ.ค.65 โดยมีผู้ตอบแบบสำรวจ 1,038 คน แบ่งเป็น ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 702 คน และผู้ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง 336 คน
ประเด็นสำคัญของผลสำรวจ ด้านความเข้าใจเกี่ยวกับการเลือกตั้ง พบว่า 30.1% ไม่ทราบจำนวนบัตรเลือกตั้ง 51.3% ไม่ทราบระยะเวลาการลงคะแนนเสียง 36.2% ไม่ทราบบทบาทหน้าที่ของผู้ว่าฯ กทม. 35.5% ไม่ทราบบทบาทหน้าที่ของ ส.ก. และ 58% ไม่ทราบจำนวน ส.ก.
ด้านความเชื่อมั่นในการจัดการเลือกตั้ง 71.9% เชื่อว่าจะมีการซื้อเสียง 49.1% เชื่อว่า กกต.จะสามารถจัดเลือกตั้งได้อย่างโปร่งใส สุจริต และเที่ยงธรรม ส่วนด้านความตระหนักการเลือกตั้ง 93.6% จะไปเลือกตั้งในวันที่ 22 พ.ค.65 82.5% ระบุชื่อผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ได้อย่างน้อย 5 คน และ 14.8% ทราบว่าคูหาเลือกตั้งอยู่ที่ใด
สำหรับการส่งเสริมผู้หญิงเข้าสู่การเมือง 49% หากมีผู้สมัครผู้หญิง จะเลือกผู้สมัครที่เป็นผู้หญิง โดย 50.4% ระบุว่า ผู้หญิงมีความสามารถเท่าผู้ชาย 27% มีผลงานดี และ 23.4% เลือกเพราะต้องการให้โอกาสผู้หญิง
โดยการตัดสินใจลงคะแนนเลือกผู้ว่าฯ กทม. 42.4% เลือกนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ 18.2% ยังไม่ตัดสินใจ 12% เลือก ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ 6.7% เลือก พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง 5.7% เลือกนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร และนายสกลธี ภัททิยกุล ส่วนอีก 2.7% เลือกนางสาวรสนา โตสิตระกูล ทั้งนี้ 62.3% เลือกผู้ว่าฯ กทม.จากนโยบาย 48.9% จากประสบการณ์การทำงาน และ 29.9% เลือกเพราะพูดจริง จริงใจในการแก้ปัญหา
ส่วนประเด็นที่อยากให้ผู้ว่าฯ กทม.ดำเนินการมากที่สุด 66.4% คือการขนส่งสาธารณะและจราจร รองมา 64.2% จัดการสิ่งแวดล้อม ความสะอาด และพื้นที่สีเขียว 52.5% ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน น้ำท่วมขัง 45.5% และระบบสาธารณสุข 41.7%
ดร.ถวิลวดี บุรีกุล ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า กลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจ 18.2% อาจกลายเป็นสวิงโหวต ซึ่งเป็นกลุ่มข้าราชการ อายุ 46-65 ปี ที่มองว่าการเลือกตั้งเป็นหน้าที่ และสนใจนโยบายด้านการจราจร ความสะอาด พื้นที่สีเขียว ต่อต้านคอรัปชั่น ทั้งยังพบว่าเป็นกลุ่มที่ให้คะแนนความพึงพอใจการทำงานของผู้ว่าฯ กทม.ที่ผ่านมา 5.7% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ย
สิ่งที่น่าห่วงก่อนการเลือกตั้งคือ การไม่เข้าใจบทบาทของผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. และผู้สมัครบางคนใช้นโยบายประชานิยม ประชาชนจึงตัดสินใจไปหย่อนบัตรให้ ดังนั้นจึงต้องมีการสื่อสารเกี่ยวกับความรู้การเลือกตั้ง และ กกต.ต้องตรวจสอบการทุจริต เพื่อให้ประชาชนวางใจในบทบาทหน้าที่
ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า ผลสำรวจนี้ต่างไปจากผลสำรวจอื่น เพราะเป็นการสำรวจความเห็นของคนชนชั้นกลาง ที่มีฐานะเศรษฐกิจปานกลางถึงสูง ทั้งที่มีสิทธิเลือกตั้ง และไม่มีสิทธิเลือกตั้ง แต่ใช้ชีวิตใน กทม.ด้วย เพื่อรวบรวมเสียงสะท้อนถึงผู้ว่าฯ กทม.คนต่อไป