ผ่านฉลุย สภาเสียงข้างมาก อนุมัติ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านแล้ว
วันนี้ (10 มิ.ย. 64) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติอนุมัติ พระราชกำหนดกู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาโควิด-19 แล้วด้วยเสียงข้างมาก เห็นด้วย 270 คน ไม่เห็นด้วย 196 เสียง งดออกเสียง 1
โดยก่อนลงมติ นายชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.จังหวัดน่าน พรรคเพื่อไทย อภิปรายสรุป ตอกย้ำถึงการบริหารจัดการปัญหาโควิด19 ของรัฐบาลที่ล้มเหลว โดยเฉพาะจัดการวัคซีนที่ไร้ความสามารถ เห็นได้จากการใช้จ่ายเงินกู้ 1ล้านล้านบาท เมื่อปีที่ผ่านมาไม่สามารถฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจได้ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าความล้มเหลวที่เกิดขึ้นมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ ทั้งผลประโยชน์ทางการเมือง ผลประโยชน์ทางการเงิน เพราะเป็นการตีเช็คเปล่า ใช้อำนาจพิเศษในการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีเจาะจง จึงไม่เชื่อมั่นในความโปร่งใส พร้อม เปรียบพลเอกประยุทธ์ เป็นหมอ แต่รักษาคนไข้ให้อาการแย่ลง ทำลายระบบสุขภาพของประเทศ อย่างไร้จิตสำนึก ไร้ทิศไร้ทาง ไร้การบริหารที่ถูกต้อง มอบภาระให้แพทย์พยาบาล ฝ่ายค้านทั้งหมดจึงไม่เห็นชอบ พระราชกำหนดฉบับนี้ เพราะแม้จะกู้เพิ่มก็ไม่สามารถระงับยับยั้งโรคระบาดได้ ไม่สามารถที่จะเยียวยาได้ตรงปัญหา ไม่สามารถฟื้นเศรษฐกิจได้ และมองว่า พระราชกำหนดฉบับนี้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ที่ไม่ดำเนินการในกฎหมายงบประมาณปกติ แต่มาออกกฎหมายพิเศษพร้อมเสนอว่าการจะฟื้นประเทศ และยับยั้งโรคระบาดได้ คือต้องเปลี่ยนตัวผู้นำ ถ้าจะยุบสภาก็ยุบเลยไม่ต้องมาขู่สมาชิก เพราะมีสัญญามาว่าจะยุบสภาหลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามเงื่อนไขของตัวเอง หรือนายกรัฐมนตรี ลาออก แสดงความรับผิดชอบให้คนที่มีความรู้ความสามารถขึ้นมาทำหน้าที่แทน เชื่อว่าประชาชนจะยกย่องเป็นวีรบุรุษ
ด้าน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงสรุป ยืนยันจะนำความเห็นของสมาชิกไปพิจารณาและยืนยันว่ามาตรการต่างๆที่ดำเนินการอยู่เพื่อไม่ให้การบริโภคภายในประเทศไม่หยุดชะงัก เพราะรายได้หลักของประเทศส่วนหนึ่งมาจากการท่องเที่ยว ที่ตอนนี้หายไปหมด จำเป็นต้องเข้าไปเยียวยาบรรเทาสถานการณ์ ให้ความสำคัญกับการสร้างรายได้จ้างงานมากขึ้น
ขณะที่ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง ยืนยันว่า เงินกู้1ล้านล้านเมื่อปี 2563 นั้นมีประโยชน์อย่างมาก เศรษฐกิจไทยโตขึ้นกว่าที่ธนาคารโลกคาดการณ์อย่างมาก ส่วนเรื่องหนี้สาธารณะนั้นยืนยันว่าในสิ้นปีงบประมาณนี้ จะไม่เกิน 60% ตามกรอบกฎหมาย วินัยการเงินการคลัง ส่วนจะมีการแก้ไขขยายกรอบหนี้สาธารณะ เพิ่มเพดานหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการการเงินการคลังภาครัฐพิจารณา แต่ยืนยันว่ารัฐบาลมีแหล่งเงินมาชดใช้หนี้ที่ชัดเจนอยู่แล้ว จากกองทุนฟื้นฟูที่ได้จากการจัดเก็บจากเงินฝากสถาบันการเงิน ไม่ได้เป็นการเอางบประมาณแผ่นดินไปชำระ นอกจากนี้ยังมีหนี้ที่รัฐวิสาหกิจที่มีความสามารถในการชำระเองอยู่แล้ว
สำหรับกระบวนการหลังจากนี้เมื่อผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรแล้ว วันที่ 14 มิ.ย. วุฒิสภาจะพิจารณากลั่นกรองอีกครั้งก่อนแจ้งให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการตามพระราชกำหนดต่อไป