POLITICS

‘ชวลิต’ ยก 4 เหตุผลปรับนโยบายดับไฟใต้ด้วย 66/23 เผยระดับปฏิบัติ และประชาชนเห็นด้วย

นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ให้ความเห็นระหว่างนำคณะกรรมาธิการ ฯ ลงพื้นที่ 3 จชต.ระหว่าง 8 – 10 มีนาคม 2565 เพื่อศึกษาและรับทราบข้อมูลตามข้อร้องเรียนของประชาชนและภาคประชาสังคมว่าในรอบ 2 ปีที่ผ่านมามีการวิสามัญฆาตกรรมในพื้นที่ 3 จชต.ถึง 56 ศพ โดยใน 56 ศพนั้น หลายรายเป็นเยาวชน สวนทางกับนโยบาย “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ” และการเจรจาพูดคุยเพื่อสันติภาพที่กำลังดำเนินการอยู่

นายชวลิต ฯ เปิดเผยว่าช่วงเข้ารับฟังการบรรยายสรุปสถานการณ์ 3 จชต. ณ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ค่าย
สิรินธร หลังรับทราบการบรรยายสรุป ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะ ตนได้ขอบคุณและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงอันตราย พร้อมกับได้เสนอความเห็นต่อสถานการณ์ 3 จชต.เพื่อรายงานผู้บังคับบัญชาว่า อยู่ในขั้น “สุกงอมแล้ว” สมควรที่จะปรับนโยบายดับไฟใต้ครั้งสำคัญ ด้วยการนำนโยบายตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 66/2523 ที่ลงนามโดย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี อดีตประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ ซึ่งเคยประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในอดีต สามารถนำมาปรับใช้ให้เหมาะกับสถานการณ์และสภาพพื้นทึ่ โดยได้ยกเหตุผลประกอบความเห็น 4 ประการ ดังนี้

  1. ปัจจัยเวลา – ความไม่สงบในพื้นที่ได้ยืดเยื้อ ยาวนานติดต่อกัน เป็นเวลาถึง 18 ปี สร้างความบอบช้ำ ความเสียหาย ทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว ฯลฯ โดยเฉพาะด้านจิตใจของผู้สูญเสียทุกฝ่าย ทุกภาคส่วนอย่างฝังรากลึก
  2. ปัจจัยความเหลื่อมล้ำ – จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เป็นจังหวัดที่ประชากรในพื้นที่มีสัดส่วนความยากจนติดอยู่ในลำดับ 1 – 10 ของประเทศ

โดยจังหวัดปัตตานี ประชากรมีสัดส่วนความยากจนอยู่ในลำดับ 1 ของประเทศ และติดอันดับความยากจน 1 ใน 10 ของประเทศ ถึง 17 ปีติดต่อกัน และในปี 2563 มีอัตราความยากจนเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า ซึ่งนับว่าน่าตกใจมากหากความไม่สงบยังยืดเยื้อยาวนานต่อไป

ส่วนจังหวัดนราธิวาส ลำดับความยากจนของประชาชนอยู่ในลำดับที่ 3 และจังหวัดยะลา อยู่ในลำดับที่ 9 ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่า 3 จชต.มีสัดส่วนประชากรที่ยากจนติดอันดับ 1 ใน 10 ทั้ง 3 จังหวัด ทั้ง ๆ ที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์มีทรัพย์ในดิน มีสินในน้ำ มีวัฒนธรรมที่เป็นอัตลักษณ์โดดเด่น แต่ประชาชนกลับยากจน
ด้วยเหตุความไม่สงบในพื้นที่ที่สำคัญกว่านั้นก็ คือ เราไม่อาจปล่อยให้เกิดความคับแค้นทางด้านจิตใจเกิดขึ้นอย่างยืดเยื้อ ยาวนาน

  1. ปัจจัยงบประมาณ – นับจากปี 2547 – 2563 ที่ผ่านมา ภาครัฐได้ทุ่มงบประมาณมายัง 3 จชต.เป็นเงินงบประมาณกว่าสามแสนล้านบาท นับว่ามากมายมหาศาล แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับตรงกันข้าม ยิ่งภาครัฐทุ่มงบประมาณมากเท่าใด ความยากจนในหมู่ประชาชนกลับมีแต่เพิ่มขึ้น ๆ แสดงว่า นโยบายไม่ถูกต้อง ถ้านโยบายถูกต้อง ผลลัพธ์ต้องเป็นไปตามงบประมาณทึ่ลงไป
  2. ปัจจัยจากการรับฟังความเห็นประชาชน – สถาบันพระปกเกล้าโดย พล.อ.เอกขัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล ได้สำรวจความเห็นของประชาชนใน 3 จชต. ถึง 5 ครั้ง เรียกการสำรวจนี้ว่า “peace survey” ได้ผลซ้ำ ๆ กัน สรุปรวบยอดว่า ประชาชน 3 จชต.กว่า 90 % ต้องการสันติภาพ อยู่ภายใต้การปกครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ดังนั้น ทั้งนโยบายและการปฏิบัติ ควรดำเนินการให้สอดคล้องกับเสียงของประชาชน จากเหตุผลทั้ง 4 ประการดังกล่าว ผมจึงเห็นว่า สถานการณ์อยู่ในขั้น “สุกงอมแล้ว” หากตัดสินใจช้าไปกว่านี้สถานการณ์จะยิ่งจมลึก จึงควรปรับนโยบายดับไฟใต้ครั้งสำคัญ ด้วยการนำนโยบายตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 66/2523 เรื่อง นโยบายการเมืองนำการทหาร ที่เคยประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในอดีต มาปรับใช้ โดยผมเห็นว่า ควรเพิ่มด้านเศรษฐกิจเป็นส่วนนำ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่ประชาชนกำลังทุกข์ยากจากปัญหาความยากจน ด้วยการใช้นโยบายเศรษฐกิจ การเมือง นำการทหาร ก็จะเป็นการสร้างสันติภาพ สร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นใน 3 จชต. เป็น “สันติภาพที่กินได้” เกิดขึ้นจริง

หลังเลิกประชุม มี จนท.ฝ่ายปฏิบัติหลายท่านมาคุยนอกรอบว่า เห็นด้วยกับการนำคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 มาปรับใช้โดยเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องปรับนโยบายดับไฟใต้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เข้าขั้นสุกงอม เพราะความไม่สงบยืดเยื้อ ยาวนาน สร้างความเสียหายแก่ประเทศชาติและประชาชนโดยส่วนรวม

Related Posts

Send this to a friend