POLITICS

สหภาพฟรีแลนซ์ฯ ร้อง กมธ.แรงงาน หลัง PayPal Thailand บังคับแรงงานอิสระจดทะเบียนนิติบุคคล

สหภาพฟรีแลนซ์ฯ ร้อง กมธ.แรงงาน หลัง “PayPal Thailand” บังคับให้แรงงานอิสระต้องจดทะเบียนนิติบุคคล ก่อนถูกจำกัดบัญชี 7 มี.ค. นี้

วันนี้ (10 ก.พ. 65) สหภาพแรงงานสร้างสรรค์แห่งประเทศไทย หรือ Creative Workers Union Thailand (CUT) รวบรวมรายชื่อยื่นหนังสือร้องเรียน ประเด็น “สภาพการทำงานที่ไม่เป็นธรรมของแรงงานอิสระ” จากการปรับเปลี่ยนนโยบายการให้บริการด้านธุรกรรมทางการเงินของ “PayPal Thailand” ต่อคณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร

ในหนังสือระบุว่า สหภาพแรงงานสร้างสรรค์ฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากแรงงานอิสระ หรือ ฟรีแลนซ์ จำนวนกว่า 700 ราย ประกอบไปด้วยกลุ่มอาชีพรับจ้างผลิตผลงานด้านทัศนศิลป์ สื่อ และมัลติมีเดีย กลุ่มอาชีพหนังสือและสิ่งพิมพ์ กลุ่มหัตถกรรมและสินค้าทำมือ กลุ่มออกแบบสถาปัตยกรรม และกลุ่มอาชีพอื่นๆในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ในประเด็นการปรับเปลี่ยนนโยบายการให้บริการด้านธุรกรรมทางการเงินของ บริษัท เพย์พาล(ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นตัวกลางที่ให้บริการในการรับฝากโอนเงินผ่านช่องทางออนไลน์จากผู้ใช้งานทั่วโลก ส่งผลทำให้แรงงานอิสระที่ทำงานกับต่างชาติจำนวนมากต้องสูญเสียอาชีพและรายได้

สำหรับการเปลี่ยนแปลงนโยบายนี้ เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 64 มีสาระสำคัญคือ ก่อนวันที่ 18 ก.พ. 65 ฟรีแลนซ์หรือผู้ขายทั่วไปในประเทศไทยที่ไม่ใช่ธุรกิจจดทะเบียนในประเทศไทย จะถูกจำกัดความสามารถของบัญชี “PayPal” ทำให้ไม่สามารถรับการชำระเงิน หรือพักเงินตามยอดคงเหลือในบัญชี PayPal ประเทศไทย ส่งผลให้แรงงานอิสระผู้ใช้บริการ บริษัท เพย์พาล (ประเทศไทย) จำกัด ต้องจดทะเบียนพาณิชย์สำหรับบุคคลธรรมดา เพื่อปรับเปลี่ยนให้บัญชี “PayPal” แต่เดิมที่เป็นบัญชีส่วนตัว จะกลายเป็นบัญชีธุรกิจเพื่อสามารถใช้บริการธุรกรรมทางการเงินได้ต่อ แรงงานอิสระจำนวนมากจึงได้ดำเนินการจดทะเบียนการค้ากับกระทรวงพาณิชย์จนแล้วเสร็จ

วันที่ 5 ก.พ. 65 กลับมีประกาศล่าสุดจาก บริษัท เพย์พาล (ประเทศไทย) จำกัด โดยเปลี่ยนแปลงจากรายละเอียดเดิมที่ประกาศก่อนหน้านี้ ใจความสำคัญคือ ตั้งแต่วันที่ 7 มี.ค. 65 การใช้งานบัญชี PayPal ของฟรีแลนซ์ หรือผู้ขายทั่วไปในประเทศไทย จะถูกจำกัด ยกเว้นฟังก์ชันถอนเงินผ่านธนาคาร ส่งผลให้แรงานอิสระไม่สามารถรับหรือชำระเงินด้วยบัญชีที่มีอยู่ได้อีกต่อไป เว้นแต่จะเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทยเท่านั้น จึงจะสามารถสมัครบัญชีธุรกิจใหม่ของ PayPal ประเทศไทยได้

ประกาศดังกล่าว ได้เปลี่ยนเงื่อนไขการใช้งานบริการธุรกรรมทางการเงินของแรงงานอิสระ จากเดิมที่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์สำหรับบุคคลธรรมดา ให้ต้องจดทะเบียนบริษัทสำหรับนิติบุคคล ซึ่ง บริษัท เพย์พาล (ประเทศไทย) จำกัด ได้ระบุไว้ในประกาศว่า การปรับเปลี่ยนนี้ เป้นไปเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายในประเทศไทย เนื่องจากการให้บริการของบริษัทเพย์พาลในประเทศอื่น ไม่ได้มีการกำหนดเงื่อนไขเช่นนี้

จากผลกระทบต่อแรงงานอิสระในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สหภาพแรงงานสร้างสรรค์แห่งประเทศไทย จึงขอเรียกร้องผ่านกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการแก้ปัญหาของแรงงานอิสระในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ดังต่อไปนี้

1.ขอความชัดเจนจากบริษัท เพย์พาล (ประเทศไทย)จำกัด ในการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านธุรกรรมทางการเงิน ว่าแรงงานอิสระต้องดำเนินการอย่างไรเพื่อให้สามารถใช้บริการทางการเงินระหว่างประเทศไทยหลังจากวันที่ 7 มีนาคม 2565 โดยเร็วที่สุด

2.ให้บริษัท เพย์พาล (ประเทศไทย) จำกัด ขยายระยะเวลาการให้บริการทางการเงินระหว่างประเทศจนกว่าข้อสรุปเรื่องการจัดการบัญชีให้เหมาะสมกับแรงงานอิสระจะได้รับการแก้ไข

3.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแก้ไขขั้นตอนการจดทะเบียนพาณิชย์ที่ล้าหลังและไม่เอื้อต่อแรงงานอิสระ

4.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายของบริษัท เพย์พาล (ประเทศไทย) จำกัดร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเร่งด่วน

โดย นายสุเทพ อู่อ้น กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า ขอขอบคุณผู้ร้องเรียนที่ไว้วางใจให้คณะ กมธ. การแรงงานขับเคลื่อนในเรื่องดังกล่าว โดยจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือเพื่อแก้ไขปัญหาการจ้างแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไป และแก้ไขปัญหาให้กับสหภาพแรงงานสร้างสรรค์โดยเร็วที่สุด อย่างไรก็ตามตลอดระยะเวลาสองปีที่ผ่านมา คณะ กมธ. ได้รับการร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาโครงสร้างการจ้างงาน จึงมีความจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการคุ้มครองแรงงาน และเปิดโอกาสให้มีการรวมตัวของกลุ่มแรงงานในรูปแบบสหภาพแรงงานมากยิ่งขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ทั้งนี้ คณะ กมธ. จะยื่นร่าง พ.ร.บ เกี่ยวกับกฎหมายแรงงาน จำนวน 9 ฉบับ ต่อสภาผู้แทนราษฎรในสัปดาห์หน้า เพื่อผลักดันให้มีการแก้ไขในส่วนต่าง ๆ พร้อมทั้งแก้ไขกฎหมายประกันสังคมให้ครอบคลุมแรงงานจำนวนกว่า 30 ล้านคนทั่วประเทศ และสร้างความมั่นคงให้กับพี่น้องประชาชนทุกคน

Related Posts

Send this to a friend