POLITICS

‘พรรคกล้า’ เสนอบทลงโทษ ส.ส.โดดประชุมสภา ตัดเงิน-ตัดสิทธิลง ส.ส.สมัยหน้า

‘พรรคกล้า’ ยื่น 8,000 รายชื่อ เสนอบทลงโทษ ส.ส. โดดประชุมสภา ตัดเงิน – ตัดสิทธิ ลง ส.ส. สมัยหน้า ระหว่างยื่น สภาฯ ล่มซ้ำ เสนอ กก.จริยธรรมสภาฯ สอบ ส.ส.ทำสภาล่ม

วันนี้ (10 ก.พ. 65) นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ พร้อมผู้เสนอตัวสมัคร ส.ส. กรุงเทพมหานคร เข้ายื่นหนังสือต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร ผ่านนายแพทย์ สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเสนอแก้ไขข้อบังคับการประชุม เพิ่มโทษทางวินัยแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่บกพร่องในการทำหน้าที่ พร้อมแนบรายชื่อผู้สนับสนุนแนวคิดนี้กว่า 8,000 รายชื่อ

นายพงศ์พล กล่าวว่า ส.ส. คือตัวแทนประชาชน หนึ่งในหน้าที่สำคัญตามที่รัฐธรรมนูญระบุคือ การเสนอและพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและร่างพระราชบัญญัติ ทำหน้าที่แทนประชาชนในทางนิติบัญญัติที่สำคัญยิ่ง แต่เมื่อปฏิบัติหน้าที่จริง ส.ส. หลายท่านกลับไม่มาแสดงตัวที่สภา เป็นเหตุให้ “สภาล่ม” เพราะแสดงตนไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ตลอดระยะเวลาของสภาชุดนี้ ตั้งแต่ 24 ก.ค. 2562 ถึง 4 ก.พ. 2565 เกิดสภาล่ม ถึง 16 ครั้ง ผลาญภาษีประชาชนกว่า 66.8 ล้านบาท หากเวลาในสมัยประชุมสภา ถูกใช้ไปกับ ”สภาล่ม” ไม่ว่าจะด้วยความไม่มีวินัย หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจงใจทำให้องค์ประชุมไม่ครบ นอกจากเป็นการสิ้นงบประมาณแผ่นดิน ยังเป็นการเอา “ความเจริญก้าวหน้าของประเทศ” มาเป็นตัวประกัน.. เพราะกฎหมายสำคัญหลายฉบับ ที่ออกมาเพื่อแก้ความเดือดร้อนปวงชน ต้องหยุดชะงักเพราะ “สภาล่ม” อาทิ การพิจารณาร่าง พ.ร.บ. การศึกษา (17 ก.ย. 2564), ญัตติด่วนแก้ไขเรื่องวิกฤติ (1 ก.ค. 2564), ร่าง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ (15 ธ.ค. 2564) , รายงานการศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ (17 ธ.ค. 2564) , ร่าง พ.ร.บ. กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (19 ม.ค. 2565), ร่าง พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต สุรา (2 ก.พ. 2565) และอื่นๆอีกมาก

นายพงศ์พล กล่าวอีกว่า นักเรียนขาดเรียน ยังโดนตัดคะแนน พนักงานเงินเดือน ขาดงาน ยังโดนตัดเงิน ส.ส.ผู้ทรงเกียรติที่รับเงินเดือนเต็มจากภาษีประชาชน แต่ขาดความรับผิดชอบในการทำหน้าที่นิติบัญญัติ ควรมีมาตราการลงโทษทางวินัย เราจึงเสนอเปลี่ยนข้อบังคับการประชุม เพิ่มบทลงโทษทางวินัย แก่ส.ส. ที่ไม่แสดงตน 3 ประการ คือ

  1. การตัดเงินเดือนในวันที่ไม่แสดงตัว โดยคิดเป็นอัตรารายวัน คำนวนจากฐานเงินเดือน หารด้วยจำนวน 30 วัน หากไม่มีจดหมายลาแจ้งล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษร
  2. เมื่อ ส.ส.ท่านใด ขาดการแสดงตัวเกินร้อยละ 25 จะถูกคาดโทษ “ใบเหลือง” คือ การจำกัดสิทธิในการโหวตรับรองร่างกฎหมาย และการอภิปรายในการประชุม 2 ครั้ง และ
  3. เมื่อ ส.ส.ท่านใด ขาดการแสดงตัวเกินร้อยละ 50 จะถูกคาดโทษ “ใบแดง” คือ การจำกัดสิทธิการสมัครลงรับเลือกตั้งผู้แทนราษฎร และการดำรงตำแหน่งข้าราชการทางการเมือง ในสมัยเลือกตั้งหน้า ซึ่งโทษใบแดง อาจดูรุนแรง แต่ทั้งหมดถูกอ้างอิงจากโทษของประชาชนทั่วไป ผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ยังโดนตัดสิทธิการสมัคร และการดำรงตำแหน่งข้าราชการทางการเมือง ถึง 2 ปี

ขณะที่ ส.ส.ที่ถูกเลือกเข้ามาโดยประชาชน แต่มีประวัติจำนวนการแสดงตัวในสภาต่ำกว่าครึ่งหนึ่ง หรือกระทั่งไม่เคยแสดงตัวโหวตร่างกฎหมาย ขณะนี้ยังไม่มีโทษทางวินัยแต่อย่างใด

นายพงศ์พล กล่าวด้วยว่า การทำหน้าที่ในสภา เป็นหน้าที่ของ ส.ส. ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ส.ส. มีอำนาจโหวต เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย หรืองดออกเสียง แต่การใช้เครื่องมือในการเดินหนี ไม่ใช่วิถีประชาธิปไตย มีสิทธิ แต่ไม่ใช้ ไม่ต่างจากการบอยคอตเลือกตั้งที่มีมาในอดีต เพราะฉะนั้นกรอบข้อบังคับการประชุมต้องรัดกุมกว่านี้ ไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำ ให้ภาษีของประชาชนเสียหาย พร้อมขอชื่นชม ส.ส. ทุกท่านทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลที่ตั้งใจทำงานและแสดงตน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อเสนอจากพรรคกล้าและประชาชนกว่า 8,000 คน ที่หวังดีต่อประเทศ อยากให้การการประชุมมีประสิทธิภาพมากขึ้น และอยากให้การเมืองมีคุณภาพมากขึ้น

ด้านนายแสนยากรณ์ สิงห์วีรธรรม โฆษกพรรคกล้า กล่าวว่า ประธานสภาฯ มีอีกตำแหน่ง คือประธานคณะกรรมการจริยธรรมของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีข้อบังคับประมวลจริยธรรม ข้อ 14 ระบุว่าสมาชิกและกรรมาธิการต้องอุทิศเวลาให้แก่การประชุมโดยต้องคำนึงถึงหลักการตรงต่อเวลาและไม่ขาดประชุมโดยไม่จำเป็น พร้อมตั้งข้อสังเกตถึงสวัสดิการ ส.ส. โดยเฉพาะ ส.ส.ที่อยู่ต่างจังหวัด ซึ่งมีสวัสดิการค่าเดินทาง ควรต้องมีการตรวจสอบว่ามีการเบิกใช้สวัสดิการและได้มาประชุมจริงหรือไม่ หากเข้าข่ายผิดจริยธรรมร้ายแรง เรื่องอาจถึง ป.ป.ช. ได้

ทั้งนี้มีรายงานว่า ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันนี้ มีการขอนับองค์ประชุม และพบว่าองค์ประชุมไม่ครบ สภาเกิดล่มอีกเป็นครั้งที่ 17

Related Posts

Send this to a friend