ประธาน กกต.มั่นใจผู้สมัคร อบจ.รู้ข้อปฏิบัติหาเสียง ชี้ ให้แต๊ะเอียเป็นประเพณีไม่ถึงขั้นซื้อเสียง
ประธาน กกต.มั่นใจผู้สมัคร อบจ.รู้ข้อปฏิบัติหาเสียง ชี้ ให้แต๊ะเอียเป็นประเพณีไม่ถึงขั้นซื้อเสียง เฝ้าระวังสนามปราจีนฯ ก่อนเลือกตั้ง 2 สัปดาห์ ส่วนบัตรเลือกตั้งอยู่ระหว่างการจัดส่งไปยังจังหวัด
วันนี้ (10 ม.ค. 68) นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการจัดการเลือกตั้งนายกฯ อบจ.ว่า ได้จัดพิมพ์บัตรเลือกตั้งเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างกระบวนการที่จะส่งไปยังแต่ละจังหวัด โดยได้ขอให้บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ดำเนินการส่งบัตรเลือกตั้ง มีการจัดรถขนบัตรไปรับที่โรงพิมพ์ และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจนั่งไปกับรถทุกคัน และจะมีการติด GPS ไว้กับรถที่ขนบัตรทุกคัน จะทำให้รับรู้ถึงความเคลื่อนไหวของรถแต่ละคัน เมื่อไปถึง อบจ.แต่ละแห่ง จะเป็นหน้าที่ของผู้อำนวยการการเลือกตั้งบริหารส่วนจังหวัด ที่ต้องรับผิดชอบเข้าไปเก็บไว้ในห้องที่มีคนเฝ้า และมีกล้องวงจรปิด
เมื่อวานนี้ (9 ม.ค. 68) ได้มีการเปิดอบรมทำความเข้าใจเรื่องการสืบสวนไต่สวนให้กับพนักงานสืบสวนไต่สวนและคณะกรรมการ จำนวน 500 กว่าคน และได้ให้แนวคิดเพิ่มเติม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทำงาน และจะมีการตั้งชุดเคลื่อนที่เร็ว เพื่อช่วยป้องกัน ป้องปราม และปราบปรามการซื้อเสียง ซึ่งขั้นตอนสุดท้ายจะมีการอบรมอีกครั้งหนึ่งก่อนวันเลือกตั้งเพื่อให้เกิดความแม่นยำในการปฏิบัติหน้าที่
สำหรับการทำงานของกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) ในปี 66 ได้ออกแถลงการณ์ ใช้ชื่อว่า ”กปน.คือหัวใจของความสำเร็จการเลือกตั้ง“ ตัวเลขที่น่าดีใจคือ เมื่อปี 62 มีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับ กปน. 100 กว่าเรื่อง แต่ปี 66 เหลือเพียง 17 เรื่อง จะเห็นได้ว่าประสิทธิภาพในการทำงานของการเป็น กปน.อาจจะดีขึ้น เพราะฉะนั้นการอบรม 3 วันก่อนวันเลือกตั้ง เป็นเรื่องที่สำคัญ
นายอิทธิพร กล่าวถึงจำนวนคนมาเลือกตั้งท้องถิ่นไว้ว่า ข้อเท็จจริงปี 2563 ที่มีการเลือก อบจ. มีผู้มาใช้สิทธิ์ 62.86% ซึ่งถ้าเทียบกับการเลือกตั้งทั่วไป หรือ การเลือกตั้ง สส.ในปี 66 จะเห็นว่าตัวเลขต่างกัน ถ้าเอาตัวเลขมาเทียบกันจะพบว่าตัวเลขของการเลือกตั้งท้องถิ่นต่ำกว่าการเลือกตั้งครั้งใหญ่แน่นอน ตัวเลข 62 % เป็นเพียงแค่ค่าเฉลี่ย ซึ่งจังหวัดที่มีคนมาเลือกตั้งสูงสุดคือ จังหวัดพัทลุง 78% ตามด้วยลำพูน 77% และเชียงใหม่ 71.95%
นายอิทธิพร กล่าวอีกว่า อยากให้ประชาชนออกมาใช้สิทธืกันเยอะ ๆ หากใครที่ไม่ออกมาใช้สิทธิก็อยากให้แจ้งเหตุไม่ใช้สิทธิ เพราะถ้าไม่ไปแจ้งเหตุอาจจะถูกกำจัดสิทธิทางการเมืองในอนาคตได้ อย่างไรก็ตามขณะนี้มีคำร้องเกี่ยวกับการหาเสียงประมาณ 30 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องซื้อเสียง
การหาเสียงคือ การที่ผู้สมัครเสนอนโยบายที่ตนเองจะเข้าไปปฏิบัติหากได้รับเลือกว่าจะทำงานด้านอะไรบ้าง เพราะอำนาจหน้าที่ของ อบจ.ระบุไว้ในกฎหมายชัดเจน กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น เขาก็มีนโยบายชัดเจน เพราะฉะนั้นการหาเสียง ก็ควรที่จะอยู่ในกรอบ โดยขอบเขตของผู้ช่วยหาเสียงคือ ช่วยผู้สมัครหาเสียงในนโยบายที่ผู้สมัครประสงค์จะนำไปปฏิบัติเมื่อได้รับเลือกตั้ง ถ้าไปหาเสียงแล้วไม่พูดถึงนโยบายที่จะทำ ก็ไม่ใช่การหาเสียงและจะส่งผลกระทบต่อการที่จะไม่ได้คะแนน เพราะไปพูดถึงเรื่องอื่นโดยที่ไม่ได้พูดจะทำอะไรในบริบทที่เป็นงานตนเอง คะแนนก็อาจจะไม่ค่อยได้
ส่วนจะจับตามองจังหวัดไหนที่ดูแลเป็นพิเศษหรือไม่ นายอิทธิพร กล่าวว่า ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดที่ทำงานด้านการเลือกตั้งมีการติดต่อกันเข้ามาอย่างเข้มข้นตั้งแต่ปี 61 ซึ่งตระหนักถึงสถานการณ์ของแต่ละจังหวัด อาจจะมีบางจังหวัดที่จะต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ ให้การแข่งขันเป็นไปตามกฎกติกา ในบางกรณีเช่น จังหวัดปราจีนบุรี ทีมสืบสวนไต่สวนของ กกต.ก็ลงพื้นที่ในช่วง 2 สัปดาห์ก่อนวันเลือกตั้งเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า การแข่งขันจะอยู่ในกรอบกติกา ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดก็มีการแจ้งให้ทราบว่าสถานการณ์การแข่งขันจะหนักแน่นรุนแรงหรือไม่ ซึ่งตนเองไม่อยากใช้คำว่ารุนแรง เพราะมีความรุนแรงน้อยลงไปทุกที มีแต่ความเข้มข้นขึ้น ซึ่งจังหวัดไหนมีการแข่งขันเข้มข้น หน่วยงานของเราจะลงพื้นที่ไปดูแลอยู่เสมอ
นายอิทธิพร กล่าวถึงข้อปฏิบัติของผู้สมัคร อบจ.ในช่วงเทศกาลตรุษจีนว่าอะไรที่ควรทำ ไม่ควรทำ ผู้สมัครได้รับการบรรยายอย่างชัดเจนจาก กกต.ทุกจังหวัด ในรูปแบบของการประชุมเชิงสมานฉันท์ อะไรที่เป็นการกระทำผิดกฎหมายโดยแท้ (1) ให้จัดให้เสนอให้สัญญาว่าจะให้กับผู้ใดผู้หนึ่ง (2) ให้ชุมชน ให้องค์กรสถาบัน (3) มหรสพ (4) จัดเลี้ยง (5) หลอกลวงใส่ร้ายบังคับ เป็นกฎกติกาที่มีทุกการเลือกตั้ง ซึ่งผู้สมัครย่อมรู้ดีอยู่แล้วว่ามีอะไรที่ทำไม่ได้บ้าง
ขณะที่เรื่องที่ต้องแจ้งชื่อผู้ช่วยหาเสียง ก่อนการหาเสียงต้องแจ้งให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทราบ และจะต้องมีการคำนวณค่าใช้จ่ายในการหาเสียงด้วย เพราะระยะหลังมีคำร้องเกี่ยวกับเรื่องนี้เพิ่มขึ้นอย่างมาก ผู้สมัครจะต้องจดบันทึกเงินที่ใช้ในการหาเสียงทุกครั้ง และนำหลักฐานมาแสดงผลการเลือกตั้งมายื่นต่อ กกต.ภายใน 90 วันว่าใช้วงเงินในการหาเสียงไปเท่าไร หากแจ้งวงเงินไม่ครบก็มีความผิด เพราะกฎหมายระบุว่าต้องแจ้งให้ครบ
ขณะที่แต๊ะเอียในช่วงเทศกาลตรุษจีน ถือเป็นประเพณี หากช่วงที่มีการเลือกตั้ง หลีกเลี่ยงได้ควรหลีกเลี่ยง เนื่องจากเสี่ยงที่จะถูกมองว่าให้เงิน ส่วนกรณีงานแต่ง หากเป็นญาติจะช่วยเหลือได้มากน้อยแค่ไหนนั้น คงจะไม่ถึงขั้นซื้อเสียง เพราะเป็นประเพณีปฏิบัติ
นายอิทธิพร ย้ำว่า ส่วนที่เป็นสีเทาอะไรที่เลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง เมื่อข้อเท็จจริงมาถึง กกต.และถูกบรรจุในสำนวนหรือคำร้องก็จะต้องดูข้อเท็จจริงที่ปรากฏ เพื่อชี้ว่าตั้งใจหรือเป็นประเพณีจริง ๆ แต่โดยทั่วไปธรรมเนียมไทยเมื่อญาติแต่งงานก็จะต้องมีการให้เงินอยู่แล้ว ไม่น่าจะแปลก สิ่งสำคัญคือ อย่าบอกเบอร์และหาเสียงเลือกตั้ง เพราะไม่เช่นนั้นจะถือเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายโดยแท้